DDproperty เผย 3 ตัวแปร ปั๊มชีพจรอสังหาฯ หลังโควิด-19

DDproperty เผย 3 ตัวแปร ปั๊มชีพจรอสังหาฯ หลังโควิด-19

15 มิ.ย. 2020
DDproperty เผยตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยต้องอาศัยตัวแปรหลักเพื่อฟื้นเข้าสู่สภาวะปกติ สภาพตลาดที่ถดถอยต่อเนื่องผนวกกับโควิด-19 ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยโดยรวมลดลง
นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของ DDproperty กล่าวว่า
“จากสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวและกำลังซื้อที่ยังไม่กลับมา ประกอบกับความไม่มั่นใจในการนำเงินก้อนใหญ่มาลงทุนซื้อที่อยู่อาศัย
คาดว่าจะทำให้ดัชนีราคาจะยังคงทรงตัวตลอดทั้งปี 2563 ในขณะที่ผู้ประกอบการพยายามที่จะระบายสินค้าคงค้างของตนเอง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่จะมีการปรับลดการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ออกสู่ตลาด
ซึ่งในปี 2563 จะยังเป็นตลาดของผู้ซื้อที่มีความพร้อมเนื่องจากการปรับลดราคาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับโปรโมชันและส่วนลดที่น่าสนใจ”
1) “ราคา” ตัวเร่งการตัดสินใจหลักของผู้บริโภค
จากรายงาน DDproperty Thailand Property Market Index ฉบับล่าสุด พบว่า
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมีเนียมในระดับราคา 8-15 ล้านบาท
มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นถึง 5% และระดับราคา 15 ล้านบาทขึ้นไป ราคาเพิ่มขึ้น 15%
สำหรับราคาคอนโดฯ ไตรมาสแรกปี 2563 ลดลง 6% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา
ส่วนทาวน์เฮ้าส์ปรับราคาลดลง 2% ขณะที่บ้านเดี่ยวปรับราคาเพิ่มขึ้น 2%
นอกจากนี้จากรายงานยังระบุถึงทำเลที่มีดัชนีราคาเติบโตสูงสุด 5 อันดับ ในไตรมาสที่สองของปีนี้
ได้แก่ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย (เพิ่มขึ้น 23% จากไตรมาสก่อน), เขตดินแดง (เพิ่มขึ้น 8%), เขตจตุจักร (เพิ่มขึ้น 8%), เขตบางคอแหลม (เพิ่มขึ้น 4%), เขตพระโขนง (เพิ่มขึ้น 3%)
ส่วนทำเลที่มีดัชนีราคาลดลงมากที่สุด 5 อันดับ ในไตรมาสที่สองของปีนี้ ได้แก่ เขตคันนายาว (ลดลง 24% จากไตรมาสก่อน), เขตบางกะปิ (ลดลง 15%), เขตบางบอน (ลดลง 9%), เขตบางกอกใหญ่ (ลดลง 9%), เขตบางนา (ลดลง 7%)
สำหรับแนวโน้มอุปทาน เขตวัฒนายังคงเป็นพื้นที่ที่มีอุปทานคอนโดมิเนียมสูงที่สุด
โดยคิดเป็น 20% ของอุปทานคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ทั้งหมด
ในขณะที่เขตประเวศมีสัดส่วนจำนวนอุปทานบ้านเดี่ยวสูงที่สุดต่อเนื่องมาจากไตรมาสก่อนหน้า
โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 9% ของอุปทานบ้านเดี่ยวทั้งหมดในกรุงเทพฯ โดย 56% อยู่ในแขวงประเวศ
ทั้งนี้ จากข้อมูลผู้เข้าเยี่ยมชมในเว็บไซต์ DDproperty.com พบว่า ในเดือนพฤษภาคม 2563 มีผู้สนใจที่เยี่ยมชมและทำการติดต่อกับผู้ที่ลงประกาศขายในกรุงเทพฯ มีการปรับเพิ่มขึ้นถึง 16.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งบอกว่าตลาดอสังหาฯ เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
2) ความสนใจใน “โครงการแนวราบ” เติบโตขึ้น มากกว่าแนวสูง
เนื่องจากมาตรการ Physical Distancing ทำให้ผู้คนเล็งเห็นความสำคัญของสุขอนามัย และความเป็นส่วนตัวมากขึ้น สอดคล้องกับการที่บ้านแนวราบกลับมาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
อีกทั้งด้วยสภาพการใช้ชีวิตในช่วงที่ผ่านมา จึงมีแนวโน้มว่า คนจะพิจารณาซื้อบ้านในทำเลใจกลางเมืองลดลง เพราะอนาคตการทำงานจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ส่งผลให้ทำเลชานเมืองได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ระบบขนส่งที่เอื้อต่อการเดินทางยังคงเป็นความต้องการหลักๆ ซึ่งปัจจุบันการขยายโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่มีโครงการในเขตรอบนอกใจกลางเมือง
จากรายงานฉบับล่าสุด ได้รายงานว่าดัชนีราคาของอสังหาฯปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 (นับจากช่วงไตรมาสที่ 1 ปี2562) ส่วนใหญ่ดัชนีราคาที่ปรับลดลงจะเป็นที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมและทาวน์เฮาส์
ส่วนที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว เป็นที่อยู่อาศัยประเภทเดียวที่มีระดับราคาเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้น 2% จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นถึง 9% ในรอบ 2 ปี
3) “ความจำเป็นใหม่” สู่ความปกติใหม่ภายในบ้าน
แน่นอนว่า ตลอดระยะเวลาการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราได้เห็นพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว ความสะดวกสบาย
รวมกับความต้องการที่พักอาศัยที่สามารถปรับเปลี่ยนฟังชันภายในให้เหมาะสมตามความต้องการได้ แม้จะมีพื้นที่จำกัด เพื่อรองรับการใช้ชีวิตประจำวันรวมทั้งการทำงานจากที่บ้าน
ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อผู้ประกอบการที่จะต้องพัฒนาการออกแบบมาให้เอื้อต่อการทำงานที่บ้านมากขึ้น จากเดิมที่อาจจะเน้นเพื่อประโยชน์ของการเป็นที่อยู่อาศัยเป็นหลัก
บ้านถูกออกแบบให้เป็น Smart Home Automation ที่ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยสามารถจัดการด้านพลังงาน สุขอนามัย รวมทั้งความบันเทิง ที่รองรับระบบควบคุมระยะไกลพร้อมกับการออกแบบให้เอื้อต่อ Internet of things (IoT)
Face Recognition เพื่อลดการสัมผัส
ระบบการเชื่อมต่อ เพื่อรองรับการทำงานและเจ้าของธุรกิจที่ดำเนินการได้จากที่บ้าน เช่น ผู้ค้าขายออนไลน์ และ เอสเอ็มอี โดยจะให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์
และสามารถเชื่อมต่อกับเพื่อนร่วมงานและลูกค้าได้อย่างไม่ติดขัด
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.