EIC คาด กนง. คงดอกเบี้ยที่ 0.5% ในช่วงที่เหลือของปี 2020

EIC คาด กนง. คงดอกเบี้ยที่ 0.5% ในช่วงที่เหลือของปี 2020

25 มิ.ย. 2020
กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี พร้อมประเมินเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อปี 2020 มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าประมาณการเดิม เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ปี 2020 และจะกลับมาขยายตัวได้ในปี 2021   ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 24 มิถุนายน 2020 กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี โดย กนง. ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ดังนี้
เศรษฐกิจไทยปี 2020 “มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้” โดยอยู่ที่ -8.1% (จากประมาณการเดิมที่ -5.3%) จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกที่รุนแรงกว่าที่คาดไว้และรัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุปสงค์จากต่างประเทศโดย กนง. ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยจะหดตัวที่ -10.3% (จากเดิมหดตัวที่ -8.8%) และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะอยู่เพียง 8 ล้านคน (จากเดิมคาดไว้ที่ 15 ล้านคน) สำหรับอุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มหดตัวกว่าที่ประเมินไว้โดยการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวที่ -13% (จากคาดการณ์เดิมที่ -4.3%) และการบริโภคภาคเอกชนหดตัวที่ -3.6% (จากคาดการณ์เดิมที่ -1.5%) อย่างไรก็ดี กนง. ประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจมีสัญญาณปรับดีขึ้นหลังมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2020 “มีแนวโน้มติดลบมากกว่าคาด” โดยอยู่ที่ -1.7% (จากประมาณการเดิมที่ -1.0%) ตามราคาพลังงานที่ลดลงแรงตามอุปสงค์ที่ลดลงจากการชะลอของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกส่วนค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานถูกปรับขึ้นมาเล็กน้อยที่ 0.0% (จากเดิม -0.1%)เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ปี 2020 และจะกลับมาขยายตัวได้ในปี 2021 (รูปที่ 1) โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวที่ 5.0% (จากประมาณการเดิมที่ 3.0%) ซึ่ง ธปท. ประเมินว่าปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจะมาจาก มูลค่าการส่งออกสินค้า การลงทุน และการบริโภคภาคเอกชนที่จะกลับมาขยายตัวได้ในปีหน้า อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเริ่มฟื้นตัวแต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนมีการระบาดของ COVID-19 และการลงทุนของภาครัฐจะขยายตัวสูง ส่วนค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาขยายตัวที่ 0.9% (จากประมาณการเดิมที่ 0.3%) เข้าใกล้กรอบเป้าหมายตามราคาน้ำมันดิบที่จะทยอยปรับสูงขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจการสนับสนุนจากมาตรการทางการคลังและนโยบายการเงินยังมีความจำเป็น โดย กนง. เห็นว่ามาตรการการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย รวมถึงมาตรการด้านสินเชื่อและการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ได้ออกมาเพิ่มเติมจะมีความจำเป็นต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อสามารถกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในระยะต่อไปมาตรการที่ออกมาในช่วงก่อนหน้าได้ช่วยให้ภาวะการเงินผ่อนคลายลงในบางมิติ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับลดลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สินเชื่อขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อเตรียมสภาพคล่องรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและเพื่อทดแทนการออกตราสารหนี้ อย่างไรก็ดี สินเชื่อธุรกิจ SMEs และสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคยังคงชะลอลง และส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาลยังอยู่ในระดับสูง
กนง. ประเมินระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่มีความเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งแสดงความกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง โดย ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระยะที่ 2 เมื่อ 19 มิถุนายน 2020 สำหรับด้านอัตราแลกเปลี่ยน กนง. กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดรวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม
EIC คาด กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจหลังจากที่เศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณพื้นตัวจากจุดต่ำในไตรมาสที่ 2 และภาวะการเงินเริ่มผ่อนคลายลงในบางมิติ
โดย EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อย่างช้า ๆ ในไตรมาสที่สามของปีนี้
ตามสถานการณ์ COVID-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยและเริ่มมีการเปิดเมืองมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนจากดัชนี Google Mobility ที่ค่อย ๆ ปรับสูงขึ้นหลังจากรัฐบาลเริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการ lockdown ตั้งแต่ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2020 (รูปที่ 2)ในด้านภาวะการเงินไทยมีทิศทางที่ผ่อนคลายลงบ้างในบางมิติ ไม่ว่าจะเป็นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ฟื้นตัว 32.4% จากจุดต่ำสุด อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่อยู่ในระดับต่ำ และเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เริ่มไหลกลับเข้ามายังตลาดการเงินไทย โดยนับตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2020 มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้า 1.8 หมื่นล้านบาท (รูปที่ 3)
· อย่างไรก็ดี แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงต่ำ โดย ธปท. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะไม่สามารถกลับมาแตะขอบล่างของกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ได้ในปีนี้ แต่จะทยอยฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ 0.9% ในปี 2022
EIC จึงมองว่าความจำเป็นที่ต้องรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมแรงกดดันด้านเงินเฟ้อนั้นยังมีน้อย
· มาตรการภาครัฐ และนโยบายการเงินด้านอื่น ๆ ที่ออกมาก่อนหน้ามีส่วนช่วยประคับประคองเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง โดยนอกจากมาตรการภาครัฐขนาดใหญ่ที่ออกมานั้น ล่าสุด ธปท. ได้ออกนโยบายช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมระยะที่สอง ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความจำเป็นในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมมีน้อยลง
ด้วยเหตุนี้ EIC จึงมองว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ณ ระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ที่ 0.5% ในช่วงที่เหลือของปี 2020 เป็นอย่างน้อย และอาจมีการขยายมาตรการด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น มาตรการด้านอุปทานที่ช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ มาตรการด้านสินเชื่อและการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย
EIC ประเมินว่า กนง. เหลือขีดความสามารถในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีกอย่างมาก 1 ครั้ง (25 bps) หากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ กนง. ประเมินไว้ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด แต่ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากการระบาดของ COVID-19 ระยะที่สองซึ่งจะทำให้ภาครัฐต้องกลับมาดำเนินนโยบายปิดเมืองอีกครั้ง หรือความเสี่ยงจากสงครามการค้า ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าในกรณีฐาน ซึ่งหากปัจจัยเหล่านี้เกิดขึ้นจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด และอาจทำให้ กนง. พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี EIC มองว่า กนง. เหลือขีดความสามารถในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกไม่มาก และจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีกอย่างมาก 1 ครั้ง (25 bps) และประเมินว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่ กนง. จะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ
ประสิทธิภาพของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมีน้อยลง จากมาตรฐานการให้สินเชื่อที่มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นตามความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในระดับสูง แม้ว่าภาครัฐ
จะสนับสนุนให้มีการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นก็ตามและความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจเพื่อใช้สำหรับลงทุนเพิ่มเติมก็มีแนวโน้มปรับลดลงเช่นกันตามภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้งสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
ก็บั่นทอนการบริโภคที่เพิ่มขึ้นดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอาจไม่สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนได้มากนักในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวช้าอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมากอาจสร้างความเปราะบางต่อเสถียรภาพระบบการเงิน จากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ที่มาจากการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร
ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากยังเป็นความเสี่ยงต่อกองทุนบำเหน็จบำนาญและภาคธุรกิจประกันภัย เนื่องจากอัตราผลตอบแทนที่หาได้จะลดลง ทำให้อาจต้องลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น อีกทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกอาจเพิ่มความเสี่ยงด้านเสถียรภาพต่อสถาบันการเงินเพราะอาจส่งผลต่อส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin: NIM)ซึ่งจะมีผลทำให้แนวโน้ม
การปล่อยสินเชื่อชะลอลงอีก
บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์ EIC : https://www.scbeic.com/th/detail/product/6911
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.