สหรัฐฯ ระบุจีนบิดเบือนให้หยวนอ่อนค่า … ส่งผลกระทบหลายสกุลเงินในภูมิภาค - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

สหรัฐฯ ระบุจีนบิดเบือนให้หยวนอ่อนค่า … ส่งผลกระทบหลายสกุลเงินในภูมิภาค - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

6 ส.ค. 2019
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เพิ่มความตึงเครียดมากขึ้นจากเดิม 
เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างสองประเทศลุกลามไปยัง “ประเด็นค่าเงิน”
จากที่ก่อนหน้านี้ การตอบโต้ระหว่างกันมักจะอยู่ในขอบเขตของเรื่องภาษีและการค้าระหว่างประเทศเท่านั้น
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ล่าสุดระบุว่า “จีนเป็นผู้บิดเบือนค่าเงิน” ซึ่งนับเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการครั้งแรกนับตั้งแต่ ปี 2537 เป็นต้นมา
โดยท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นดังกล่าว 
เกิดขึ้นหลังจากที่ทางการจีนปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าทะลุแนว 7 หยวนต่อดอลลาร์ฯ เข้าแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 11 ปี ที่ระดับประมาณ 7.06 หยวนต่อดอลลาร์ฯ
โดยขณะนี้ เงินหยวนได้อ่อนค่าลงแล้วถึง 2.2% เพียงไม่กี่วัน หลังจากที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่า สหรัฐฯ เตรียมจะขึ้นภาษี 10% จากวงเงินสินค้าที่นำเข้าจากจีน 3 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาว่า
และแม้ในวันนี้ (6 ส.ค.) ทางการจีนจะประกาศอัตราอ้างอิงของเงินหยวนที่ 6.9683 หยวนต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่ากว่าระดับที่หลายฝ่ายประเมินไว้เพื่อส่งสัญญาณชะลอทิศทางการ อ่อนค่าของเงินหยวนไม่ให้มีความรุนแรงมากเกินไป
หลังจากโดนระบุว่าบิดเบือนความเคลื่อนไหวของเงินหยวน แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า เงินหยวนยังคงเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนกว่า 7 หยวนต่อดอลลาร์ฯ
นอกจากนี้ จีนยังตอบโต้กลับด้วยการระงับการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ 
ซึ่งภาพดังกล่าว ทำให้ประเมินว่า ความเสี่ยงต่อสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศ ยังไม่น่าจะลดระดับลงในอนาคตอันใกล้นี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เงินหยวนที่อาจจะมีแนวโน้มขยับอ่อนค่าได้อีกในระยะใกล้ๆนี้ น่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กดดันให้สกุลเงินในภูมิภาค 
ขยับอ่อนค่าลงตามไปด้วย 
โดยแรงกดดันด้านการอ่อนค่าของแต่ละสกุลเงินจะขึ้นอยู่กับ หลายองค์ประกอบ ได้แก่
1) มีการพึ่งพาจีนเป็นตลาดส่งออกหลักของประเทศ
2) มีสัดส่วนการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สูง ซึ่งจะมีความเปราะบางมากขึ้น หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวและสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ยืดเยื้อเป็นเวลานาน
3) มีปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอ อาทิ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และ/หรือมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับต่ำ
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากโครงสร้างการส่งออก จะพบว่า หลายๆ ประเทศในอาเซียน และไทย
ล้วนมีจีนเป็นตลาดปลายทางของการส่งออกสินค้า โดยไทย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ มีสัดส่วนการส่งออกไปจีน ประมาณ 12.0-12.7% ของมูลค่าการส่งออกรวมแต่ละประเทศ
มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม จะมีสัดส่วนการพึ่งพาตลาดจีนที่สูงกว่าที่ประมาณ 14.0-17.0% ของมูลค่าการส่งออกรวมแต่ละประเทศ
โดยมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ต่างก็มีสัดส่วนการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูง โดยมีสัดส่วนประมาณ 36.0% และ 58.0% ต่อการส่งออกรวมของแต่ละประเทศ ตามลำดับ ในขณะที่ไทย และเวียดนาม มีสัดส่วนใกล้เคียงกันประมาณ 25.0% ส่วนฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เพียง 19.0-20.0% ต่อการส่งออกรวมของแต่ละประเทศเท่านั้น
ทั้งนี้ อินโดนีเซีย มีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง ในขณะที่
มาเลเซียมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับที่ไม่สูง ประกอบกับฐานะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดก็เริ่มมีทิศทางที่อ่อนแอลง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์ที่ยืดเยื้อของสงครามการค้า 
อาจส่งผลทำให้เงินหยวนยังมีโอกาสผันผวนในด้านอ่อนค่า ซึ่งภาพดังกล่าว อาจกระทบต่อบรรยากาศของสกุลเงินในภูมิภาค
และในกรณีเลวร้าย สกุลเงินในภูมิภาคเอเชียที่พึ่งพิงจีน
เป็นตลาดส่งออกหลัก และมีปัจจัยพื้นฐานที่เปราะบาง โดยเฉพาะเงินรูเปียห์และเงินริงกิต อาจต้องรับมือกับแรงกดดันเพิ่มเติมจากความเสี่ยงของเงินทุนไหลออก
สำหรับไทยแล้ว มองว่า ความเสี่ยงสำหรับเงินบาทของไทยต่อกรณีดังกล่าว น่าจะอยู่ในกรอบที่จำกัด
เนื่องจากไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังมีแนวโน้มเกินดุล และทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ดี หากมองในอีกด้านหนึ่ง จังหวะการเคลื่อนไหวของเงินบาทในบางช่วงที่อาจไม่อ่อนค่าสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ โดยเฉพาะเงินรูเปียห์ เงินริงกิต และ/หรือ เงินด่อง ย่อมมีผลทำให้ภาคการส่งออกของไทยสูญเสียแต้มต่อในการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ ในภูมิภาค
ที่มา - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.