พลังน้ำใจจากบ้านปูฯ ร่วมบรรเทาความเดือดร้อน ส่งมอบความช่วยเหลือสู่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในพัทยา

พลังน้ำใจจากบ้านปูฯ ร่วมบรรเทาความเดือดร้อน ส่งมอบความช่วยเหลือสู่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในพัทยา

26 มิ.ย. 2020
นับเป็นเวลากว่าสามเดือนแล้วที่เมืองแห่งการท่องเที่ยวอย่างพัทยาต้องตกอยู่ในสภาวะซบเซา อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภาพของพัทยาที่เคยคึกคัก เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ กลับกลายเป็นเมืองที่มีผู้คนบางตา ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไปกว่า 80% ส่งผลให้การท่องเที่ยวบ้านเราต้องสูญรายได้ไปอย่างมหาศาลและมีผู้คนถูกพักงานและตกงานเป็นจำนวนมาก
ยามที่สังคมต้องการความช่วยเหลือ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างความเติบโตของธุรกิจควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคมจึงมุ่งหาหนทางที่จะช่วยบรรเทาปัญหาและกระจายความช่วยเหลือให้ทั่วถึงและทันต่อสถานการณ์โดยศึกษาข้อมูลและประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพิจารณาช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่เดือดร้อนและยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ จนเป็นที่มาของการยื่นมือเข้าช่วยบรรเทาผลกระทบในกลุ่มผู้ทำงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในเมืองพัทยาผ่านหน่วยงานท้องถิ่น มูลนิธิซิสเตอร์ ศูนย์ชุมชนคนข้ามเพศ และ ศูนย์ธารชีวิตเพื่อสตรี ซึ่งเป็นสองหน่วยงานที่ดูแลกลุ่มสตรีและกลุ่มคนข้ามเพศในเมืองพัทยา
คุณอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า “บ้านปูฯ ตั้งใจที่จะมีส่วนช่วยประเทศชาติในการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 อย่างเต็มความสามารถ เริ่มต้นจากบุคลากรทางการแพทย์และขยายความช่วยเหลือมาสู่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก สำหรับแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในพัทยานั้น ถือเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ที่ในช่วงนี้กลับได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19 เราจึงเล็งเห็นความสำคัญและต้องการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มนี้ โดยจัดสรรงบประมาณจากกองทุน ‘มิตรผล-บ้านปู รวมใจช่วยไทยสู้ภัยโควิด-19’เพื่อส่งมอบถุงยังชีพ 380 ชุด รวมมูลค่ากว่า 300,000 บาท ให้แก่กลุ่มสตรีข้ามเพศและกลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ผ่านทางมูลนิธิซิสเตอร์ศูนย์ชุมชนคนข้ามเพศ ซึ่งดูแลกลุ่มคนข้ามเพศในพื้นที่ และศูนย์ธารชีวิตเพื่อสตรี ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลคุณภาพชีวิตและทักษะการประกอบอาชีพสำหรับสตรีในพัทยา"
จากการพูดคุยกับ คุณฐิติญานันท์ หนักป้อ ผู้อำนวยการ มูลนิธิซิสเตอร์ ศูนย์ชุมชนคนข้ามเพศ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนข้ามเพศในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและระยอง ทำให้เราทราบว่า ในช่วงเวลาวิกฤตนี้ กลุ่มคนข้ามเพศในพัทยาต้องประสบภาวะยากลำบากในการดำรงชีพเนื่องจากกิจการหลายแห่งไม่สามารถอุ้มลูกจ้างได้ทุกราย
“หลายคนมองว่ากลุ่มคนข้ามเพศคือสัญลักษณ์ของสีสันและความสวยงามแต่เบื้องหลังชีวิตความเป็นอยู่ของคนกลุ่มนี้ไม่ง่ายเลย แม้กระทั่งในช่วงก่อนโควิด-19 บางคนก็มีความเป็นอยู่ที่อัตคัดเนื่องจากค่าครองชีพสูงและรายได้ส่วนหนึ่งต้องส่งไปจุนเจือครอบครัว ในพื้นที่พัทยามีกลุ่มคนข้ามเพศนับหมื่นคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่หาเช้ากินค่ำ หรือเป็นลูกจ้างแบบรายวัน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพแสดงโชว์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ที่ทำงานในโรงแรม ร้านเสริมสวย ร้านนวด เรือสำราญ ร้านอาหาร บางส่วนต้องเปลี่ยนไปทำอาชีพเสริมชั่วคราว บางส่วนต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาเพราะไม่สามารถแบกรับค่าครองชีพในพัทยาต่อได้ ดังนั้นในฐานะองค์กรที่เป็นศูนย์ชุมชนเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนข้ามเพศ มูลนิธิซิสเตอร์จึงได้จัดทำโครงการจัดซื้อจัดหาความช่วยเหลือในรูปแบบของข้าวสาร อาหารแห้ง และการตรวจสุขภาพ ให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบในระหว่างช่วงวิกฤตนี้ อย่างไรก็ตาม ทรัพยากรและงบประมาณสำหรับรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินจากมูลนิธิส่วนเดียวก็ไม่อาจเพียงพอต่อความต้องการ ต้องขอขอบคุณบ้านปูฯ ที่เอื้อเฟื้อมอบถุงยังชีพและส่งกำลังใจมาให้คนที่นี่มีแรงที่จะสู้วิกฤตต่อไป ทั้งนี้ ทางมูลนิธิฯ จะยังคงดำเนินโครงการฯ ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนธันวาคมเพื่อช่วยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถประคับประคองตัวเองไปได้ ก่อนที่ทุกอย่างจะกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติ” คุณฐิติยานันท์กล่าว
อีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพัทยาที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โควิด-19 คือกลุ่มแรงงานสตรีในธุรกิจท่องเที่ยว เมื่อเกิดโรคระบาดและเศรษฐกิจหยุดชะงัก ความสามารถในการหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวจึงต้องสะดุดไปด้วย
ซิสเตอร์ปิยฉัตร บุญมูล ตัวแทนจากศูนย์ธารชีวิตเพื่อสตรี ซึ่งมีภารกิจหลักในการส่งเสริมอาชีพและความเป็นอยู่ของกลุ่มสตรีในพัทยา เล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “คนนอกอาจมองว่าพัทยาเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยโอกาสมากมาย แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มีคนที่ต้องดิ้นรนอยู่มากเช่นกัน ศูนย์ธารชีวิตเพื่อสตรีจึงเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ ด้วยการเปิดสอนภาษาและทักษะต่าง ๆ เพื่อนำไปประกอบอาชีพ รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่กลุ่มสตรีที่เผชิญปัญหาความรุนแรง ครอบครัวแตกแยก ปัญหาหนี้สิน หรือถูกเอารัดเอาเปรียบ เพื่อให้เขาสามารถเลี้ยงตัวเองได้ และไม่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19เราทราบว่าหลายคนตกงานไม่มีรายได้ส่งให้ครอบครัวที่ต่างจังหวัด และอีกหลายคนไม่มีที่พักต้องออกไปเร่ร่อนตามชายหาด ทางศูนย์ฯ จึงประสานงานกับภาครัฐอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้วยการแจกจ่ายอาหารกล่อง แต่ความช่วยเหลือที่ได้รับมานั้นก็ยังน้อยกว่าความต้องการอยู่มาก ดังนั้นการที่บ้านปูฯ ยื่นมือเข้ามาช่วยอีกแรงจึงถือเป็นความหวังที่ยิ่งใหญ่ของเรา ด้วยถุงยังชีพที่สามารถต่อชีวิตกลุ่มสตรีเหล่านี้ให้อยู่รอดต่อไปได้อีกอย่างมีกำลังใจ”
“ในยามที่สถานการณ์ปกติ พวกเขาเหล่านี้คือผู้ที่คอยสร้างความสุข สร้างสีสัน สร้างรายได้ให้กับประเทศชาติผ่านธุรกิจท่องเที่ยว ในยามลำบาก บ้านปูฯ จึงขอเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในสังคม ขณะเดียวกันก็หวังว่าสิ่งที่เราทำจะช่วยจุดประกายให้ประชาชนหรือหน่วยงานอื่นๆ อยากเข้ามามีส่วนช่วยหยิบยื่นน้ำใจให้กับกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อที่เราทุกคนจะได้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยดี” คุณอุดมลักษณ์กล่าวสรุป
นอกจากที่พัทยาแล้ว บ้านปูฯ ยังได้ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในจังหวัดชลบุรี ทั้งในอำเภอบ้านบึง อำเภอหนองใหญ่ และเขตอำเภอเมือง รวมเป็นการสนับสนุนถุงยังชีพทั้งจังหวัด 2,000 ถุง   มูลค่ากว่า 1,900,000 บาท
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.