เยาวชน ทีม ‘won-spaceY’ แชมป์ประเทศไทยเขียนโค้ด ภารกิจ ‘ควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ’

เยาวชน ทีม ‘won-spaceY’ แชมป์ประเทศไทยเขียนโค้ด ภารกิจ ‘ควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ’

3 ก.ค. 2020
จบลงไปแล้วกับ Space Flying Robot Challenge 2020 (SPRC 2020) รอบชิงแชมป์ประเทศไทยเพื่อเฟ้นหาตัวแทนไปร่วมชิงชัยระดับเอเชีย ณ ประเทศญี่ปุ่น ผลผู้ชนะคือทีม won-spaceY (วอนสเปซวาย) ที่โดดเด่นด้วยเรื่องการดึงเอาความถนัดทานด้านวิศวกรรมต่างสาขามาผสานเป็นโค้ดที่สมบูรณ์แบบ
            โครงการแข่งขัน Space Flying Robot Programming Challenge 2020 รอบชิงแชมป์ประเทศไทยผู้จัดคือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์กรสำรวจอวกาศแห่งญี่ปุ่น หรือแจ็กซ่า (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) องค์กรบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือนาซา (National Aeronautics and Space Administration: NASA) และหน่วยงานพันธมิตร
            ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า การแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทยมีผู้ผ่านเข้ารอบทั้งสิ้น 20 ทีม จากผู้สมัครเข้าแข่งขัน 151 ทีม โจทย์การแข่งขันคือการเขียนโค้ด (Coding) เพื่อควบคุมแอสโตรบี (Astrobee) หุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศที่ปฏิบัติหน้าที่จริงบนสถานีอวกาศ ให้ทำการซ่อมแซมสถานีที่เกิดการชำรุดเนื่องจากอุกกาบาตพุ่งชน โดยจะต้องปฏิบัติภารกิจให้แม่นยำและใช้เวลาน้อยที่สุด การแข่งขันจะตัดสินผลผู้ชนะจากผลการรันโค้ดที่ผิดพลาดน้อยที่สุด เพราะการทำงานบนอวกาศนั้นหากมีข้อผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อยอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตนักบินอวกาศได้ ดังวลีที่ Gene Kranz ผู้นำยาน Apollo 13 ลงจอดบนดวงจันทร์ได้กล่าวไว้ว่า “Failure is not an option.”
“ตลอดระยะเวลาการแข่งขันกว่า 3 เดือน คณะผู้จัดรู้สึกประทับใจในความตั้งใจของเด็กและเยาวชนทุกทีมเป็นอย่างมาก ได้เห็นถึงการผสานศาสตร์ความรู้แบบบูรณาการ และยังได้เห็นถึงการพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 อย่างการคิดวิเคราะห์และการทำงานร่วมกันเป็นทีม
            ผลการแข่งขันทั้งจากการเขียนโค้ดและสอบสัมภาษณ์ ทำให้ได้ผู้ชนะของประเทศไทย คือ ทีม won-spaceY ซึ่งประกอบด้วยนายตุลา ชีวชาตรีเกษม หรือตี้ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นายธีรโชติ เมืองจำนงค์ หรือเอิร์ธ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และนายสิรภพ เวสน์ไพบูลย์ หรือริว นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทีมผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 25,000 บาท และได้รับโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชียกับประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก อีก 5 ประเทศ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ที่ Tsukuba Space Center ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนกันยายนนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทีม won-spaceY จะได้รับประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผลงานและการทำงานในอนาคต”
            นายตุลา ชีวชาตรีเกษม เล่าถึงจุดแข็งของทีมว่า won-spaceY เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเพื่อนคณะวิศวกรรมศาสตร์ต่างสาขา ที่มีประสบการณ์การทำงานและช่วยเหลือกันในการแข่งขันมาตั้งแต่สมัยมัธยมศึกษาตอนปลาย ด้วยความสามารถที่แตกต่างหลากหลายทั้งทางด้านเครื่องกล แมคคาทรอนิกส์ การคำนวณ และการเขียนโค้ด ทำให้การแข่งขันครั้งนี้สามารถแบ่งสรรหน้าที่ได้อย่างลงตัว คนหนึ่งพัฒนาสมการในการควบคุมการเคลื่อนที่ คนหนึ่งช่วยเสริมเรื่องการคำนวณที่แม่นยำ และอีกคนนำสมการที่ได้มาจัดเรียงเป็นโค้ดเพื่อสั่งการฮาร์ดแวร์ ทำให้ได้โค้ดที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบกว่าทีมอื่น
            นายธีรโชติ เมืองจำนงค์ บอกเล่าเรื่องบรรยากาศในการแข่งขันว่า แม้การแข่งขันจะมีความกดดันสูงเพราะต้องแข่งกับอีก 150 ทีม แต่สิ่งที่ทีมได้เรียนรู้และสามารถทำได้ดีคือ การทำงานร่วมกันภายใต้ความกดดันให้มีความสุขและสนุกสนาน เพราะหากไม่สามารถรักษาบรรยากาศเหล่านี้ไว้ได้จะทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ และคนในทีมไม่อยากทำงานร่วมกันต่อ นอกจากนั้นยังมีบรรยากาศดีๆ ที่เกิดขึ้นจากการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ร่วมกับทีมอื่นอีกด้วย เพราะทุกคนในทีมเชื่อเรื่อง Give and Take การที่ให้ไปก็อาจได้สิ่งดีๆ กลับมา เช่น ความรู้ใหม่ๆ หรือการพัฒนาต่อยอด ในอนาคตหลังจบการแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชียก็ตั้งใจจะทำคลิปเพื่ออธิบายโค้ดของทีมอย่างละเอียด เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันต่อไป
            นายสิรภพ เวสน์ไพบูลย์ กล่าวว่า การแข่งขันโครงการนี้ทำให้ได้นำความรู้ความสามารถที่มีมาทดลองใช้และต่อยอดขึ้นไปอีก แม้จะต้องทำการแข่งขันภายใต้แรงกดดัน และยังมีอุปสรรคในการพบปะเพื่อทำงานร่วมกันเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด แต่ทุกคนในทีมก็ลงความเห็นว่าสามารถเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันช่วง 3 เดือนที่ผ่านได้ค่อนข้างดี และผลลัพธ์การแข่งขันก็ออกมาดีมาก สำหรับรอบชิงแชมป์เอเชีย ตอนนี้ได้พัฒนาสมการเพื่อปิดช่องโหว่ที่ทำให้เกิดความผิดพลาดในรอบก่อนหน้าเรียบร้อยแล้ว และกำลังช่วยกันหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาโค้ดให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งตอนนี้ทุกคนในทีมนับวันรอไปแข่งขันที่ประเทศญี่ปุ่น โดยหวังว่าจะสามารถคว้าชัยชนะกลับมาประเทศไทยได้
ร่วมส่งแรงใจให้ทีม won-spaceY ไปคว้าชัยในเวทีการแข่งขัน Space Flying Robot Programming Challenge 2020 รอบชิงแชมป์เอเชีย ที่ Tsukuba Space Center ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนกันยายนนี้ ติดตามการแข่งขันได้ที่ Facebook: JaxaThailand และ NSTDA-สวทช.
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.