ทิพรส น้ำปลาที่ขายดีสุดในไทย รายได้เท่าไร ?

ทิพรส น้ำปลาที่ขายดีสุดในไทย รายได้เท่าไร ?

8 ก.ค. 2020
ตลาดน้ำปลาในเมืองไทย มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านต่อปี
ซึ่งมีอยู่หลายแบรนด์ ที่วางอยู่ตามท้องตลาด ให้ผู้บริโภคได้เลือกสรรตามความชอบ
แต่น้ำปลาแบรนด์ “ทิพรส” ถือได้ว่าเป็นสินค้าสามัญประจําบ้านของวงการอาหาร
เพราะเป็นแบรนด์ที่คนไทยคุ้นเคยกันมากที่สุด และใช้กันบ่อยที่สุด
ไปที่ไหนก็ต้องเจอแบรนด์นี้
ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ห้องครัว ร้านสะดวกซื้อ ไฮเปอร์มาร์เก็ต
ซึ่งความนิยมในตัวของน้ำปลาทิพรส ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
เพราะทิพรส เป็นน้ำปลาที่ขายดีที่สุดในเมืองไทย
และผู้สร้างทิพรส ยังเป็นคนแรกที่ทำให้คนไทยรู้จักคำว่า “น้ำปลา” อีกด้วย
บริษัท ไพโรจน์ (ทั่งซังฮะ) จำกัด ผู้ผลิตน้ำปลาตราทิพรส
ปี 2561 มีรายได้ 2,893 ล้านบาท กำไร 223 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 2,977 ล้านบาท กำไร 295 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ภายใต้การดูแลของบริษัทก็จะมี
น้ำปลาแท้, น้ำส้มสายชู, ผงปรุงรส และซอสหอยนางรมชนิดผง ตราทิพรส
น้ำปลา ตราโบว์แดง, น้ำปลา ตราเด็กอ้วน และน้ำปลา ตราเบอร์หนึ่ง
ย้อนรอยประวัติศาสตร์เมื่อ 100 กว่าปีก่อน
ในสมัยนั้น คนไทยยังไม่รู้จักคำว่าน้ำปลา แต่จะนิยมใช้เกลือในการปรุงอาหารแทน
อย่างไรก็ตาม ก็มีชาวจีนอพยพ นามว่า “ไล่เจี๊ยง แซ่ทั้ง”
ข้ามน้ำ ข้ามทะเลมาตั้งรกรากที่จังหวัดชลบุรี โดยเริ่มทำงานที่โรงสีข้าว
แต่งานที่โรงสีข้าว ในสมัยก่อนเป็นงานที่หนักมาก เพราะยังไม่มีเครื่องจักร ต้องใช้แรงงานล้วนๆ
คุณไล่เจี๊ยง จึงลาออก แล้วหันไปขายปลาเค็มและปลาสด แถวสะพานท่าน้ำฮกเกียน ในจังหวัดชลบุรี
และต่อมา เขาก็สังเกตเห็นว่าในเมืองไทย ยังไม่มีใครทำน้ำปลาออกมาขายเลย
จึงเห็นเป็นโอกาส เพราะไม่มีคู่แข่ง
และด้วยตนเองก็รู้วิธีทำน้ำปลา เพราะเคยทำงานอยู่ในโรงงานน้ำปลามาก่อน ตอนอยู่ที่ประเทศจีน
เขาจึงลองน้ำปลาสดชนิดต่างๆ ที่เหลือจากการขาย
มาหมักกับเกลือในโอ่งดิน และโอ่งไม้ เพื่อทดลองผลิตน้ำปลาขาย
จนในที่สุด น้ำปลาหยดแรกของประเทศไทย ก็ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2456
แต่ปัญหาของผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่ต้องประสบคือ
ผู้บริโภคจะยังไม่เปิดใจยอมรับในช่วงแรกๆ เพราะเป็นของแปลกในสายตาของพวกเขา
เรื่องนี้ก็เกิดขึ้นกับ คุณไล่เจี๊ยง เช่นกัน
ด้วยความที่คนไทยไม่รู้จักน้ำปลามาก่อน
เขาจึงต้องใช้เวลาในการโปรโมตสินค้าอยู่นานหลายปี
ทั้งแจกให้กับผู้คนในละแวกใกล้เคียง ได้ทดลองชิม
และทดลองนำปลาชนิดต่างๆ มาพัฒนาสูตรใหม่ๆ เพื่อให้ได้รสชาติที่ถูกปากคนไทยมากที่สุด
ซึ่งสุดท้ายก็พบว่า ปลากะตัก ให้รสชาติหอมอร่อย และเหมาะสมที่สุดในการเป็นวัตถุดิบทำน้ำปลา
สุดท้ายแล้ว ด้วยความหอมกลมกล่อมของน้ำปลา
และความสะดวกต่อการปรุงอาหาร เพียงเหยาะลงในอาหารเล็กน้อย อาหารก็จะมีรสชาติดีขึ้น
น้ำปลาจึงสามารถคว้าใจชาวบ้านในจังหวัดชลบุรี และจังหวัดใกล้เคียงได้
จนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เกิดกระแสบอกปากต่อปากถึง เจ้าน้ำสีดำเค็มๆ นี้
และคนไทย ก็เริ่มปรับพฤติกรรมมาใช้น้ำปลาแทนเกลือมากขึ้น
กิจการน้ำปลาของคุณไล่เจี๊ยงได้เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ
จากการหมักน้ำปลาในโอ่งดินและโอ่งไม้ ไม่กี่โอ่ง ขยายจนเป็นหลายสิบโอ่ง
และในที่สุดก็สามารถก่อตั้งโรงงานผลิตน้ำปลาขึ้นได้ในปี พ.ศ. 2462 บนพื้นที่ 15 ไร่
ปัจจุบัน บริษัท ไพโรจน์ (ทั่งซังฮะ) จำกัด บริหารงานโดยทายาทรุ่นที่ 2
คือคุณจิตติ พงศ์ไพโรจน์ ซึ่งเริ่มเข้ามาบริหารกิจการต่อจากพ่อ ตั้งแต่อายุ 22 ปี..
ภายใต้การบริหารของคุณจิตติ เขาก็ได้นำเทคโนโลยีและเครื่องจักรต่างๆ เข้ามาช่วยในการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำปลา
มีการตั้งโรงงานผลิตน้ำปลาแห่งที่ 2 บนเนื้อที่ 20 กว่าไร่ ในจังหวัดชลบุรี
และโรงงานแห่งที่ 3 บนเนื้อที่ 100 กว่าไร่ ในจังหวัดสมุทรปราการ
เพื่อตอบสนองต่อความต้องการน้ำปลาที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ
ซึ่งคุณจิตติ มีลูกๆ อยู่ 5 คน และทุกคนจบการศึกษาจากต่างประเทศ
โดยมี 2 คน เข้ามาช่วยดูแลกิจการ ส่วนคนที่เหลือก็แยกย้ายกันไปเป็นทันตแพทย์ รับราชการ และทำงานที่ต่างประเทศ
ตอนนี้คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทิพรส ได้กลายเป็นราชาแห่งน้ำปลาของเมืองไทย
แต่ในอนาคตแบรนด์จะยังสามารถครองและรักษาบัลลังก์ต่อไปได้หรือไม่ ก็ต้องติดตามกันต่อไป
ทั้งนี้ เรื่องราวของคุณไล่เจี๊ยง แซ่ทั้ง และทิพรส ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ
ใครจะไปคิดว่า คนๆ เดียว ก็สามารถเปลี่ยนทิศทางของอุตสาหกรรมเครื่องปรุงอาหารได้
ซึ่งถ้าวันนั้น คุณไล่เจี๊ยง ไม่ตัดสินใจอพยพมาเมืองไทย
วันนี้ คนไทยก็อาจยังนิยมใช้ “เกลือ” ในการปรุงอาหารมากกว่า “น้ำปลา” ก็เป็นได้..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.