ธุรกิจธนาคาร กำลังเปลี่ยนไป อย่างไม่ย้อนกลับ

ธุรกิจธนาคาร กำลังเปลี่ยนไป อย่างไม่ย้อนกลับ

18 ก.ค. 2020
มนุษย์เรารู้จัก การใช้เงินแลกเปลี่ยนสินค้าครั้งแรกก็เมื่อ 2,600 ปีที่แล้ว
โดยชาวลิเดียในตุรกี เป็นคนคิดค้นเพื่อใช้แลกเปลี่ยนสินค้า
มาถึงในยุคปัจจุบัน เราเริ่มใช้เหรียญบาท ธนบัตร น้อยลงเรื่อยๆ
แล้วหันมาใช้จ่ายผ่านตัวเลขบนหน้าจอโทรศัพท์แทน ที่เรียกกันว่า Mobile Banking
ไม่ใช่รูปแบบเงินที่เปลี่ยนไปอย่างเดียว
แต่..การทำธุรกิจของธนาคารก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
รู้หรือไม่ว่า..คนไทยฝากเงินกับธนาคารครั้งแรกเมื่อ 109 ปีที่แล้ว
เมื่อธนาคารไทยพาณิชย์เปิดตัว “เงินฝากสงวนทรัพย์” ซึ่งได้รับความนิยมจากประชาชน
อย่างกว้างขวางด้วยโมเดลธุรกิจรับฝากเงินให้ดอกเบี้ยต่ำ
แล้วนำไปปล่อยกู้ให้พ่อค้า, ชาวนา, ชาวไร่ ในดอกเบี้ยสูง
เรื่องนี้..ไม่รอดพ้นสายตานักธุรกิจชาวจีน เมื่อมองว่าเป็นธุรกิจ “เสือนอนกิน”
เพราะไม่จำเป็นต้องมีเงินลงทุนสูงก็สามารถเป็น “คนกลาง”
กินส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้
แต่แล้ว..สิ่งไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อการทำนาเกิดผลผลิตย่ำแย่ติดต่อกันหลายปี
จนภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ชาวนา โรงสีข้าว พ่อค้าส่งออกข้าว ประสบปัญหาทางธุรกิจ
ไม่มีเงินผ่อนชำระธนาคาร สุดท้ายธนาคารหลายแห่งต้องปิดกิจการ
จากนั้นรัชกาลที่ 6 ทรงมองเห็นว่าเมื่อธนาคารน้อยลง ประชาชนเริ่มใช้จ่ายเกินตัวไม่เก็บเงิน
พระองค์จึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 1 แสนบาท สร้างธนาคารออมสินในปี พ.ศ. 2456
จากนั้นเวลาต่อมาก็เริ่มมีเอกชนและรัฐบาลเปิดธนาคารใหม่ๆ ขึ้นมา
เช่น กสิกรไทย, กรุงเทพ, กรุงไทย
ซึ่งตอนนั้นธุรกิจธนาคารไร้ซึ่งเทคโนโลยี หากเราจะฝากถอนเงิน
ทุกอย่างล้วนแล้วแต่ทำธุรกรรมผ่านกระดาษ
แม้ในแต่ละวัน ประชาชนจะต้องยืนรอนานๆ เพื่อต่อคิวฝากเงินถอนเงิน
แต่ด้วยความเชื่อว่าธนาคารคือสถานที่ในการเก็บเงินที่ปลอดภัยที่สุด คนก็พร้อมที่จะทนลำบากไปฝากเงิน
ต่อจากนั้นไม่นานนัก ก็มีธนาคารใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาอีกพร้อมกับมีจำนวนสาขารองรับมากขึ้น
แต่ก็ไม่ได้ทำให้การบริการรวดเร็วขึ้นกว่าเดิมเท่าไร
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ ก็เลยทำให้ในปี พ.ศ. 2526 ธนาคารไทยพาณิชย์หรือ SCB
เริ่มนำ ATM มาใช้เครื่องแรกโดยใช้ชื่อว่า “บริการเงินด่วน”
จากนั้นธนาคารอื่นๆ ก็เริ่มมีตู้ ATM บริการ
โดยช่วงเริ่มต้นนั้นประชาชนไม่สามารถเบิกข้ามธนาคารได้
จนเมื่อมีระบบ ATM POOL ที่สามารถกดเงินข้ามตู้ธนาคารได้
หลังจากนั้น การใช้ ATM ก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้น
จนปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้บัตร ATM และ บัตรเดบิตรวมกัน 72 ล้านใบ
และในเวลาเดียวกันนี้เอง ธนาคารก็เริ่มดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตและผลิตภัณฑ์การเงินอื่นๆ
อย่างหนักหน่วง
จนมาถึงยุคที่ธนาคารกำลังค่อยๆ เข้ามาสู่โลกออนไลน์
ด้วยบริการ Internet Banking โดยเริ่มต้นบริการเฉพาะแค่บริษัทองค์กร ก่อนจะเป็นลูกค้ารายย่อย
แต่..ก็เป็นเรื่องไกลตัวคนทั่วไปอยู่ดี เมื่อการทำธุรกรรมการเงินแต่ละครั้งต้องเข้าเว็บไซต์
ซึ่งคนทั่วไปยังมองว่าไม่สะดวก
จุดเปลี่ยนก็เลยเกิดขึ้นเมื่อธนาคารนำตัวเองเข้ามาอยู่ในมือถือที่เรียกว่า Mobile Banking
ซึ่งนั่นหมายถึงว่าเราจะโอนเงิน ชอปออนไลน์ จ่ายสารพัดบิล ขอสินเชื่อ
ทุกอย่างจบลงในโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียว
จนทำให้เวลานี้มีถึง 62.7 ล้านบัญชีที่อยู่ในระบบ Mobile Banking
ซึ่งเรื่องนี้ก็ส่งผลให้คนเดินเข้าสาขาน้อยลง
ธนาคารก็ค่อยๆ ลดจำนวนสาขาเพื่อประหยัดต้นทุนทางธุรกิจ
สิ้นปี 2559 ธนาคารพาณิชย์ มี 7,016 สาขา
กลางปี 2563 ธนาคารพาณิชย์ มี 6,370 สาขา
ผ่านไป 3 ปีครึ่ง ธนาคารลดลง 9.2%
ถึงตรงนี้ หลายคนคงตั้งคำถามว่าแล้วในอนาคตหน้าตาของธนาคารจะเป็นอย่างไร
เราเคยสังเกตกันบางไหมว่า
วันนี้ธนาคารกำลังทำตัวเหมือนไม่ใช่ธนาคารที่เรารู้จัก
เราได้เห็นแพลตฟอร์มชอปปิงใน App Mobile Banking
เราได้เห็นบางธนาคารเตรียมมี App Food Delivery
และตอนนี้การดำเนินธุรกิจทุกอย่างของธนาคาร
กำลังมุ่งเข้าสู่โลกดิจิทัล
ซึ่งในอนาคต รุ่นลูกรุ่นหลานของเราอาจจะถามเราว่า
ธนาคารที่เป็นสถานที่จริง เป็นอย่างไร?
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.