สาธารณสุขไทย.. อีกหนึ่งทางรอดของประเทศไทย

สาธารณสุขไทย.. อีกหนึ่งทางรอดของประเทศไทย

23 ก.ค. 2020
ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติในเรื่องของการสาธารณสุข เพราะมีบุคลากรทางการแพทย์ และโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานระดับโลก
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลลงทุนในกลุ่มโรงพยาบาล และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
มีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้เข้ามารับบริการเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งมีโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์สมัยใหม่ และการแพทย์ครบวงจรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภายใต้เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ในอาเซียน
เห็นได้จาก ในปี พ.ศ. 2562 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้รับคำยื่นขอการส่งเสริมการลงทุนในด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ กว่า 26 โครงการ คิดเป็นเม็ดเงินราว 8,147 ล้านบาท
ในส่วนของตลาดทุนพบว่า ปัจจุบันมีบริษัทที่จดทะเบียนในกลุ่มธุรกิจการแพทย์รวม 23 บริษัท คิดเป็นมูลค่าทางตลาด 640,000 ล้านบาท หรือ 4.66% ของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์
โดยบริษัทที่มีมูลค่าจดทะเบียนสูงสุด คือ บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการจำกัด มหาชน หรือ BDMS ที่มีมูลค่าสูงถึง 313,000 ล้านบาท (ข้อมูล 18 พ.ค. 63)
ประเทศไทยมีความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ เนื่องจากเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน 
ทำให้ประชากรในประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ สามารถเดินทางเข้ามารับการรักษาในประเทศไทยได้อย่างสะดวก
ในด้านของค่ารักษาพยาบาล ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในระดับที่ต่ำถึงปานกลาง 
เมื่อเทียบกับประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีคุณภาพของระบบสาธารณสุขในระดับสูง จึงเป็นสิ่งจูงใจชาวต่างชาติจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจการแพทย์ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก จากสถานการณ์โควิด-19 
เนื่องจากจำนวนคนไข้ที่ลดลง ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา คนไทยส่วนมากหลีกเลี่ยงการเดินทางไปโรงพยาบาล ถ้าไม่ได้เป็นโรคที่ร้ายแรงมากนัก
ในขณะที่ผู้ป่วยต่างขาติ ไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้ ทำให้รายได้ของกลุ่มโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่มีอัตราลดลงอย่างมาก
ในทางตรงกันข้าม กลุ่มโรงพยาบาลที่มีขนาดเล็ก กลับมีรายได้เพิ่มขึ้นจากระบบประกันสังคม อันเนื่องมาจากฐานสมาชิกประกันสังคมที่ใหญ่ขึ้น และมีการปรับเพิ่มอัตราค่าบริการทางการแพทย์ใน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 ให้แก่สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคม เป็น 3,959 บาท/คน/ปี
และยังได้รับอานิสงค์จากประกันสังคม เพิ่มสิทธิรักษา “ผู้ประกันตนกลุ่มเสี่ยง-ป่วยโควิด-19” 
โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. 63 ที่จะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนหรือสถานพยาบาลในกลุ่มประกันสังคม เช่น ค่าตรวจห้องปฏิบัติการ ครั้งละ 3,000 บาท, ค่าห้องพักวันละ 2,500 บาท และค่ายาต้านไวรัส 7,200 บาท 
ด้วยเหตุนี้ รายได้ของกลุ่มโรงพยาบาลที่มีขนาดเล็กในตลาดจดทะเบียน มีอัตราเติบโตสูงขึ้นในไตรมาสที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยดีขึ้นมาก มีการคลายล็อคดาวน์ 
ผู้ป่วยในประเทศได้มีการกลับมารักษาตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 60-70% และมีความเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยจากต่างประเทศจะกลับเข้ามาทันที หลังจากที่รัฐบาลไทยประกาศเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาได้
เนื่องจากประเทศไทยมีความสามารถในการจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีเยี่ยม เป็นอันดับต้นๆ ของโลก และสาธารณสุขไทย เป็นที่ยอมรับอย่างสูงในสายตาของชาวโลก
ท้ายที่สุดนี้ อีกหนึ่งประเด็นที่น่าจับตามอง ที่สามารถส่งผลให้ธุรกิจในกลุ่มการแพทย์สามารถเพิ่มศักยภาพในการยกระดับทางด้านการปฎิบัติงาน คือ การปรับตัวในยุค Technology Disruption เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพสู่มิติใหม่ๆ
แก้ปัญหาข้อจำกัดด้านความเพียงพอ และการกระจุกตัวของบุคลากรทางการแพทย์
ด้วยอานิสงค์ของวิกฤติโควิด-19 ผู้คนเริ่มคุ้นชินกับการปฏิบัติงานทางไกล การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
ดังนั้น ธุรกิจในกลุ่มการแพทย์จำเป็นต้องศึกษาและพัฒนา ระบบบริการสุขภาพทางไกล (อาทิเช่น Telemedicine หรือ Teleconsultant เป็นต้น) เพื่อเพิ่มการได้เปรียบในการเป็นผู้นำทางการตลาด MediTech ต่อไป
การขยายตัวของกลุ่มธุรกิจการแพทย์ ส่งผลในเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติที่เดินทางมารับการรักษา และผู้ติดตามคนในครอบครัว เกิดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศไทยมากขึ้น
อุตสาหกรรมยาง, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, พลาสติก, เหล็ก เนื่องจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ จำเป็นต้องใช้ส่วนประกอบจากอุตสาหกรรมเหล่านี้
ดังนั้น การที่รัฐบาลไทยกำหนดให้อุตสาหกรรมการแพทย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ของประเทศ จึงส่งผลดีทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทย
และอาจจะช่วยต่อลมหายใจให้กับประเทศไทยในยุคโควิด-19 นี้ 
ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ไปต่อได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
------------------------
บทความนี้เขียนโดย 
ศาสตราจารย์ ดร.ศิริมล ตรีพงษ์กรุณา University of Western Australia 
รองศาสตราจารย์ ดร.พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส Sasin School of Management 
ศาสตราจารย์ ดร. ภรศิษฐ์ จิราภรณ์ Pennsylvania State University 
นางสาว นพรัตน์ วงศ์สินหิรัญ Sasin PhD. candidate 
นางสาว ณลินี เด่นเลิศชัยกุล Sasin Ph.D. candidate
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.