ส่งออกไทยเดือน มิ.ย. หดตัว 23.2%.. มองครึ่งปีหลัง หดตัวลึกกว่าครึ่งปีแรก - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ส่งออกไทยเดือน มิ.ย. หดตัว 23.2%.. มองครึ่งปีหลัง หดตัวลึกกว่าครึ่งปีแรก - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

24 ก.ค. 2020
ส่งออกไทยในเดือน มิ.ย. 63 หดตัวสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ฉุดภาพรวมส่งออกไทยครึ่งแรกของปี 2563 หดตัว 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)
โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 16,444 ล้านดอลลาร์ฯ หรือ 521,110 ล้านบาท หดตัว 23.2% ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังรุนแรง และการบังคับใช้มาตรการ Lockdown ในต่างประเทศ ส่งผลให้อุปสงค์โลกอ่อนแรงลง และสายโซ่อุปทานบางส่วนในต่างประเทศชะงักงัน
รวมถึงการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศใช้ระยะเวลายาวนานมากขึ้น โดยสินค้าส่งออกศักยภาพของไทยที่หดตัวสูงในเดือน มิ.ย. 2563 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (หดตัว 43.1%), ข้าว (หดตัว 25.6%) และเครื่องใช้ไฟฟ้า (หดตัว 15.2%)
อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกอาหารไทยยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ 6.8% ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากมาตรการปิดเมืองที่ทำให้สายโซ่การผลิตชะงักงันในต่างประเทศ ช่วยหนุนความต้องการสินค้าอาหารจากไทย ทั้งทางตรงจากความต้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น และทางอ้อมจากการเป็นตลาดส่งออกทดแทนประเทศคู่แข่ง
หากพิจารณารายตลาดส่งออกของไทย พบว่า จีนและสหรัฐฯ เป็นเพียง 2 ตลาดหลักที่มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยขยายตัวเป็นบวกในเดือน มิ.ย. 2563 ที่ 12.0% และ 14.5% ตามลำดับ
โดยการส่งออกสินค้าไทยไปจีนขยายตัวเป็นบวก ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่ต่ำในปีก่อนจากการหดตัวสูงของการส่งออกเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ยางไปจีน
ในขณะที่การส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ ขยายตัวสูง จากการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เพิ่มขึ้นมากเป็นสำคัญ
หากเปรียบเทียบภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา พบว่า 
การส่งออกสินค้าไทยในเดือน มิ.ย. ให้ภาพที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. โดยเมื่อหักลบมูลค่าการส่งออกทองคำแล้ว ภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยในเดือน มิ.ย. หดตัว 17.3% ปรับตัวดีขึ้นจากเดือน พ.ค. ที่หดตัวสูงถึง 27.9%
ในขณะที่การส่งออกในแต่ละหมวดสินค้าศักยภาพ แม้ในเดือน มิ.ย. จะหดตัวอยู่แต่ก็เป็นการหดตัวในอัตราที่น้อยลงเมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวในระดับ 2 หลัก ซึ่งจะเป็นการหดตัวลึกกว่าที่ประเมินไว้ที่ -6.1% จากทิศทางเศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า แม้จะเริ่มมีข่าวดีจากความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ ยังมีความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และชาติตะวันตกกับจีนที่กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สูงขึ้นดังกล่าว จะส่งผลกดดันทิศทางการค้าของโลก และการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2563
ที่มา - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.