หุ่นยนต์ในยุคอุตสาหกรรม 5.0 อนาคตของการผลิตในปี ค.ศ. 2035

หุ่นยนต์ในยุคอุตสาหกรรม 5.0 อนาคตของการผลิตในปี ค.ศ. 2035

26 ก.ค. 2020
ดาร์เรลล์ อดัมส์ หัวหน้าประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย บริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท เขียนบทความเรื่อง Industry 5.0: The Future of Manufacturing in 2035 ระบุว่า โรงงานในปี ค.ศ. 2035 จะแตกต่างจากโรงงานในปัจจุบันอย่างมาก นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรก ที่นำเครื่องจักรกล, พลังงานน้ำ และพลังงานไอน้ำเข้ามาใช้ขับเคลื่อนการทำงานอัตโนมัติแทนที่คน
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในแต่ละด้าน ตั้งแต่คอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ไปจนถึงอินเทอร์เน็ต ล้วนเป็นส่วนขับเคลื่อนสำคัญให้เกิดระบบการทำงานอัตโนมัติ 
แม้ว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยียังคงสำคัญ แต่แนวโน้มของ "การสัมผัสของมนุษย์" (Human Touch) ก็เป็นความต้องการในโรงงานในปี ค.ศ. 2035 ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันความสามารถของอินเทอร์เน็ตในยุค "อุตสาหกรรม 4.0" รวมถึงหุ่นยนต์ที่กำลังเติบโต ก่อให้เกิดความหวาดกลัวใหม่ที่เชื่อว่า เทคโนโลยีกำลังเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ ทั้งเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์
ซึ่งจริงๆ แล้ว ระบบอัตโนมัติไม่ได้เขามาแทนที่งาน แต่ช่วยสร้างงานใหม่ๆ ขึ้นมาต่างหาก
จากบทความเมื่อเร็วๆนี้ ของ Harvard Business Review เรื่องงานอัตโนมัติ ได้ระบุว่า 20% ถึง 80% ของงานที่ได้รับมอบหมายมีระบบอัตโนมัติเข้าไปเกี่ยวข้อง 
แต่ไม่มีงานใดที่เป็นอัตโมมัติได้ 100% ซึ่งหมายความว่า แม้จะมีความก้าวหน้าเพียงใด หุ่นยนต์ก็จะยังไม่สามารถแทนที่มนุษย์ได้อย่างสิ้นเชิง 
โดยความเป็นจริงแล้ว หุ่นยนต์ได้เข้ามาช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิต และส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ จ้างคนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น หุ่นยนต์จึงเป็นตัวช่วยในการสร้างงานไม่ใช่กำจัดงาน
-แรงงานรูปแบบใหม่ในอนาคต 
คนงานที่เป็นที่ต้องการ คือคนงานที่เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้ โดยจะต้องมีความเชี่ยวชาญในด้านที่ต้องการ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เป็นแบบสัมผัสของมนุษย์ตามที่ตลาดต้องการ 
ซึ่งคนงานเหล่านี้อาจผ่านการฝึกปรือฝีมือ หรือใช้สายตาที่มีวิสัยทัศน์หรือประสาทสัมผัสอื่นๆ เพื่อประเมินและดำเนินการปรับเปลี่ยนงานที่ผลิตขึ้นมาให้มีความเหมาะสม 
พวกเขาอาจมีความเข้าใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับวัสดุ และกระบวนการผลิต ทั้งยังอาจเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก ซึ่งไม่จำเป็นแล้วสำหรับคนงานที่ใช้เวลาทั้งวันไปกับงานงานซ้ำๆ ซากๆ หรืองานที่เป็นอันตราย เนื่องจากหุ่นยนต์และเครื่องจักรอื่นๆ สามารถทำงานเหล่านี้แทนได้และทำได้ดีกว่าด้วย 
-โรงงานในปี ค.ศ. 2035
โรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรม 5.0 จะว่าจ้างแรงงานที่มีทักษะมนุษย์ในรูปแบบเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร 
กล่าวคือจะต้องมีความสามารถพิเศษของมนุษย์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในทางศิลปะ ความรู้ด้านวัสดุต่างๆ, ความเข้าใจทางกระบวนการ, ความเข้าใจในประเพณีต่างๆ, การตัดสินใจที่ซับซ้อน และวิสัยทัศน์
โดยงานเหล่านี้จะไม่เหมือนกับงานในโรงงานที่เรานึกถึงอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นงานที่สร้างนิยามแตกต่างจากเดิมที่ว่า "การทำสิ่งที่ฉันไม่ชอบทำ" (doing things I don't like to do) กลายมาเป็น ผู้คนจะรักงานของตัวเอง 
ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้จะช่วยแรงงานมนุษย์ และทำให้โลกเป็นสถานที่ทำงานที่ดียิ่งขึ้น
ในโลกยุคปัจจุบัน "อุตสาหกรรม 4.0" เป็นการหลอมรวมฝ่ายไอทีและฝ่ายปฏิบัติการผลิตเข้าไว้ด้วยกัน โดยเราได้เห็นการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลแล้วในอุตสาหกรรมการผลิต 
สำหรับโรงงานอัจฉริยะในปี ค.ศ. 2035 จะรองรับรูปแบบใหม่ของการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร ซึ่งหุ่นยนต์ทำงานที่ต้องใช้กำลังมากและเป็นงานซ้ำๆ ซากๆ ในขณะที่มนุษย์จะทำหน้าที่เป็น "สถาปนิกสร้างสรรค์" 
ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ และเทคโนโลยีที่ชาญฉลาดจะกลายเป็นพลังชี้ขาดในยุคหน้า
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.