น้ำปลาตราปลาหมึก และเมกาเชฟ มีเจ้าของเดียวกัน

น้ำปลาตราปลาหมึก และเมกาเชฟ มีเจ้าของเดียวกัน

31 ก.ค. 2020
หนึ่งในแบรนด์ที่เราคุ้นเคยกันดี ก็คือ น้ำปลาตรา “ปลาหมึก” ซึ่งมาพร้อมกับโลโก้หมึกแห้งอันสะดุดตา
และหนึ่งในแบรนด์ ที่เลื่องลือในวงการน้ำปลาพรีเมียม ก็ไม่พ้นน้ำปลาตรา “เมกาเชฟ”
ที่น่าสนใจคือทั้ง ปลาหมึก และ เมกาเชฟ ต่างมีเจ้าของเดียวกันคือ ตระกูล “นิธิปิติกาญจน์”
แล้วระหว่างสองแบรนด์นี้ ใครขายดีกว่ากัน ?
บริษัท โรงงานน้ำปลาไทย (ตราปลาหมึก) จำกัด
ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำปลา ตราปลาหมึก
ปี 2560 มีรายได้ 791 ล้านบาท กำไร 43 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 762 ล้านบาท กำไร 42 ล้านบาท ปี 2562 มีรายได้ 783 ล้านบาท กำไร 38 ล้านบาท
บริษัท สินวารีพัฒนา จำกัด
ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำปลา, ซอสหอยนางรม และซีอิ๊วขาว ตรา เมกาเชฟ
ปี 2560 มีรายได้ 274 ล้านบาท กำไร 3 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 345 ล้านบาท กำไร 3 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 398 ล้านบาท กำไร 7 ล้านบาท
จะเห็นว่า ตราปลาหมึก มียอดขายมากกว่า เมกาเชฟเกือบเท่าตัว
แต่เมกาเชฟ ก็เป็นแบรนด์ที่น่าจับตามอง เพราะมีการเติบโตที่ค่อนข้างสูง
โดยมีอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ย คิดเป็น 20.5% ต่อปี..
ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นของอาณาจักรน้ำปลานี้ เริ่มมาจากคุณเทียน นิธิปิติกาญจน์
ชาวจีนที่เกิดในครอบครัวประกอบอาชีพขายน้ำปลา
ได้อพยพมาเมืองไทย โดยขออาศัยอยู่กับญาติ และช่วยญาติๆ ทำกิจการน้ำปลา
ก่อนจะแยกออกมาตั้งโรงงานน้ำปลาเล็กๆ ของตัวเองขึ้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ในปี พ.ศ. 2487
ช่วงแรกๆ กิจการน้ำปลาของคุณเทียน ไม่ได้ขายน้ำปลาเป็นขวด แต่จะขายเป็นไห
และขนส่งน้ำปลาผ่านทางเรือ เพราะในสมัยนั้นรถยังไม่มี และถนนหนทางก็ไม่เอื้ออำนวย
โดยเริ่มจากเจาะตลาดภาคใต้ก่อน
เพราะมองว่าแถวภาคตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานน้ำปลาจำนวนมาก
เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ต่างจากภาคใต้ที่การแข่งขันยังน้อยอยู่
หลังจากนั้น กิจการน้ำปลาของคุณเทียน ก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ
และน้ำปลาตราปลาหมึก ก็เริ่มเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าอย่างแพร่หลาย
จนต้องขยายโรงงานเพิ่มอีก 2 แห่ง ที่จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดสมุทรปราการ
รวมถึงสามารถขยายตลาดสู่คนไทยทั่วประเทศได้
หลายคนอาจสงสัยว่า น้ำปลาตราปลาหมึก ทำมาจากปลาหมึกจริงหรอๆ
ซึ่งวัยเด็กของหลายๆ คน ก็หลงเข้าใจว่า ทำมาจากปลาหมึก..
แต่จริงๆ แล้ว น้ำปลาตราปลาหมึก ทำมาจากปลาไส้ตัน เหมือนกับน้ำปลาทั่วไป
ส่วนเหตุผลที่ใช้ “ปลาหมึก” เป็นโลโก้และชื่อแบรนด์นั้น เพราะคุณเทียนมองว่า
ปลาหมึก เป็นสัญลักษณ์ที่ผู้คนสามารถจดจำได้ง่าย
รวมถึงในสมัยนั้นปลาหมึกมีราคาค่อนข้างสูง จึงมาพร้อมกับภาพลักษณ์พรีเมียม
ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างให้กับตัวสินค้าได้
พอเมื่อแบรนด์ติดตลาดในประเทศแล้ว
บริษัทก็หันมามองตลาดต่างประเทศ และโฟกัสกับตลาดนี้มากขึ้น
โดยปัจจุบัน น้ำปลาแท้ตราปลาหมึก เป็นน้ำปลาที่มียอดส่งออกสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย
ส่งออกมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ในทวีปอเมริกา, ยุโรป, ออสเตรเลีย, เอเชีย และแอฟริกา
ในส่วนของน้ำปลาแบรนด์ “เมกาเชฟ”
เกิดจากทายาทรุ่นที่ 3 โดยคุณภาส นิธิปิติกาญจน์
ซึ่งเขามักถูกอากง ปลูกฝังตอนวัยเด็กอยู่เสมอว่า น้ำปลาถือเป็นหัวใจสำคัญของเครื่องปรุงอาหารไทย
คุณภาส จบการศึกษา ป.ตรี และ ป.โท สาขาการตลาดที่ประเทศออสเตรเลีย
หลังจบการศึกษา เขาก็เข้ามาช่วยธุรกิจของครอบครัว ดูแลเรื่องการขาย การตลาด และส่งออก
แต่วันหนึ่ง เขาก็นึกสงสัยว่า
ทำไมเครื่องปรุงแบรนด์ไทยถึงต้องถูกมองว่าคุณภาพต่ำ และต้องตั้งราคาให้ถูกเข้าไว้
ไม่เหมือนในต่างประเทศ ที่แบรนด์เครื่องปรุงของเขา เช่น น้ำปลา, ซอสหอยนางรม
สามารถตั้งราคาสูงๆ ขายได้ แถมแบรนด์ยังเป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศอีก
คุณภาส จึงตัดใจสินว่า ถึงเวลาแล้วที่ควรจะมีแบรนด์เครื่องปรุงไทยระดับพรีเมียม
คอยส่งสินค้าดีๆ ขึ้นโชว์วางขายในต่างประเทศบ้าง
โดยเขาได้เดินหน้าตั้งบริษัท สินวารีพัฒนา จำกัด ขึ้นในปี พ.ศ. 2546 ซึ่งใช้เงินทุนส่วนหนึ่งจากครอบครัว เพื่อปั้นแบรนด์ใหม่อย่าง “เมกาเชฟ”
คุณภาส ใช้เวลาอยู่ประมาณ 2 ปี ในการทดลองชิมน้ำปลา ทดลองหมัก และปรับสูตรไปเรื่อยๆ เป็นพันๆ ครั้ง
เพื่อพัฒนาสูตรน้ำปลาเมกาเชฟ ให้มีรสชาติกลมกล่อม และแตกต่างจากแบรนด์อื่น
กลยุทธ์ที่ใช้คือ เมกาเชฟ ต้องเป็นน้ำปลาเพื่อสุขภาพ
ทุกขวดต้องผลิตจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง และไม่มีสารเคมี ไม่ใส่สี ไม่ใส่ผงชูรส
ซึ่งช่วงแรกๆ เมกาเชฟ ก็ล้มลุกคลุกคลานอยู่ไม่น้อย
ด้วยความที่เป็นแบรนด์ใหม่ ไม่มีใครรู้จัก แถมราคายังสูงกว่าแบรนด์น้ำปลาอื่นๆ พอสมควร
ขนาดว่า คุณภาส เข้าไปเจรจากับผู้จัดจำหน่ายน้ำปลา แต่ก็ถูกปฏิเสธกลับทุกราย
แม้แต่ผู้จัดจำหน่ายของ น้ำปลาตราปลาหมึก เอง ก็ตอบปฏิเสธเช่นกัน..
อย่างไรก็ตาม ด้วยรสชาติและคุณภาพของสินค้า
ทำให้ตลาดและผู้บริโภคค่อยๆ เปิดใจยอมรับ
โดยเฉพาะบรรดาร้านอาหาร และเชฟ ที่ต่างติดใจในรสชาติของน้ำปลาแบรนด์นี้
เมกาเชฟ จึงเริ่มเป็นที่พูดถึงกันอย่างแพร่หลาย จากปากต่อปาก จากโซเชียลสู่โซเชียล
และเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งปัจจุบัน ตลาดน้ำปลาเมืองไทยมีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท
และยังมีตลาดในต่างประเทศอีกมูลค่านับไม่ถ้วน
ดังนั้น น่าจะมีช่องว่างให้ “เมกาเชฟ” เติบโตต่อไปได้อีกไม่น้อย
และขยายความเป็น Global Brand ของเครื่องปรุงไทยให้มากขึ้นได้ ตามที่คุณภาสหวังไว้..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.