กรณีศึกษา “สินค้าแรก” ของ บริษัท 100 ปี ในไทย

กรณีศึกษา “สินค้าแรก” ของ บริษัท 100 ปี ในไทย

15 มิ.ย. 2019
รู้หรือไม่ว่า บริษัทที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไปในประเทศไทย มีอยู่หลายบริษัทเลยทีเดียว
ที่สินค้าหรือบริการแรกของตัวเอง ไม่ใช่สินค้าที่สร้างยอดขายหลักในปัจจุบัน
หรือบางสินค้าก็หายสาบสูญไปจากตลาดแล้ว
ขอเริ่มจากบริษัทที่เป็นธุรกิจใกล้ตัวคนไทยมากที่สุดก่อนก็คือ “ธนาคาร”
แม้ธนาคารแห่งแรกของโลกจะเกิดขึ้นใน มณฑลเสฉวน ประเทศจีนเมื่อ 996 ปีที่แล้ว โดยตอนนั้นรัฐบาลจีนได้แต่งตั้ง 16 บริษัทเอกชน เป็นตัวแทนออกธนบัตร และสกุลเงินเพื่อใช้แลกเปลี่ยนสินค้า
แต่เชื่อไหม…กว่าคนไทยจะรู้จักธุรกิจธนาคารก็เมื่อ 113 ปีที่แล้ว โดยมีชื่อว่า “บุคคลัภย์” (Book Club) ธุรกิจหลักตอนนั้นเป็นห้องสมุดให้ยืมและเช่าหนังสือ ส่วนธุรกิจรองลงมาก็คือรับฝากเงิน โดยเริ่มต้นมีพนักงานแค่ 18 คน
ต่อมาเมื่อธุรกิจรับฝากเงินได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าให้จัดตั้งเป็น บริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุน จำกัด ในปี พ.ศ. 2449
จนมาถึงในปี พ.ศ. 2482 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "ธนาคารไทยพาณิชย์" ที่ปัจจุบันมีรายได้ 168,620 ล้านบาท และมีพนักงาน 27,000 คน
นอกจากนี้ หากให้เรานึกถึงสินค้าของ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีอายุ 128 ปี เราจะนึกถึงสินค้าอะไร ?
คำตอบก็คงหนีไม่พ้น M-150 กับ ลิโพวิตันดี ซึ่งเป็นอะไรที่ห่างไกลจากสินค้าตัวแรกของบริษัท
เพราะ โอสถสภา เริ่มต้นจากขายสินค้าเบ็ดเตล็ด แล้วได้คิดค้น ยากฤษณากลั่น ที่ช่วยรักษาโรคปวดท้อง ท้องร่วง จนขายดีมีชื่อเสียงโด่งดัง จึงกลายมาเป็นร้านขายยา “กิเลน เต๊กเฮงหยู" ในช่วงปี พ.ศ. 2434
ใครจะเชื่อว่าจากร้านขายของเบ็ดเตล็ดห้องแถวเล็กๆ มาวันนี้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ พร้อมกับชื่อใหม่ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) โดยมีสินค้าถึง 25 แบรนด์ในมือตัวเอง
ปัจจุบัน นอกจาก โอสถสภา จะขายสินค้าในประเทศแล้วนั้น ยังส่งออกสินค้าหลายอย่างไปยัง 25 ประเทศทั่วโลก โดยมีรายได้ในปี พ.ศ. 2561 อยู่ที่ 25,163 ล้านบาท
แล้วทีนี้หากเราคิดถึงชื่อ ซิงเกอร์ ล่ะ ?
แน่นอนสิ่งแรกที่จะนึกถึงก็คือ จักรเย็บผ้า ที่ใช้กันมานานตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณย่า เพราะบริษัท ซิงเกอร์ เริ่มต้นธุรกิจในไทยมานานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2432 หรือเมื่อ 130 ปีที่แล้วนั่นเอง
จนเมื่อถึงปี พ.ศ. 2500 ได้ขยายธุรกิจไปสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอื่นๆ เช่น ตู้เย็น, แอร์, ตู้เติมเงินโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
ผลที่ตามมาก็คือ อันดับยอดขายจักรเย็บผ้าเปลี่ยนไป จากที่เคยขายดีอันดับ 1 ตกมาอยู่อันดับ 5 เพราะถูกแทนที่ด้วยสินค้าใหม่ๆ อย่าง ตู้เย็น, เครื่องซักผ้า, ทีวี นั่นเอง
แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ซิงเกอร์ ณ วันนี้ แตกต่างจากบริษัทขายเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เมื่อมีธุรกิจจำนำทะเบียนรถ และ ธุรกิจฝากเงินปล่อยสินเชื่อให้สมาชิกในสหกรณ์ตัวเอง
ปัจจุบัน บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) มีรายได้ 2,888 ล้านบาท โดยมี บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่สุดอยู่ที่ 24.9%
มาถึงบริษัทที่เป็นผลิตสบู่ก้อนแรกให้คนไทยได้ใช้อาบน้ำกัน
ซึ่งเริ่มจากสองพี่น้องชาวสวิตเซอร์แลนด์ ที่จัดตั้งห้าง “ยุคเกอร์ แอนด์ ซิกก์ แอนด์ โก” ในปี พ.ศ. 2425 และเริ่มต้นธุรกิจในบ้านเราด้วยการนำเข้าสารพัดสินค้ามาขายในเมืองไทย
คนไทยรู้จักบริษัทนี้จากคุณ วอลเตอร์ เลโอ ไมเยอร์ ผู้จัดการบริษัทที่สังเกตว่าคนไทยในยุคนั้นใช้ “สบู่กรด” ที่นอกจากใช้ซักผ้าแล้วยังใช้อาบน้ำได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ คุณวอลเตอร์ เลโอ ไมเยอร์ ให้พนักงาน 20 คนพัฒนาสบู่แบรนด์ “นกแก้ว” ที่มีกลิ่นหอม และไม่ละลายง่าย
จากสบู่ก้อนแรกที่สร้างชื่อให้ตัวเองเมื่อ 70 ปีที่แล้ว ปัจจุบัน เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ขยายอาณาจักรและมีถึง 4 ธุรกิจหลัก 1. ค้าปลีก 2. ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ 3. สินค้าอุปโภค - บริโภค และ 4. เวชภัณฑ์
ปัจจุบัน เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ มีรายได้ 172,196 ล้านบาท โดยมี บริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับหนึ่งอยู่ที่ 66.8%
และสุดท้าย นมข้นหวาน กระป๋องแรก ที่คนไทยรู้จักมีชื่อว่าแหม่มทูนหัวหรือ (Milk Maid) ซึ่งเวลานั้น เนสท์เล่ นำเข้ามาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ผลปรากฏว่าสร้างยอดขายได้ดี เพราะคนไทยติดใจกับรสชาติที่นำไปจิ้มกับขนมต่างๆ แถมในช่วงเวลานั้นแบรนด์ต่างประเทศเป็นที่นิยมในกลุ่มคนไทย
แหม่มทูนหัว เลยกลายเป็นสินค้า “ฮีโร่” จนทำให้บริษัท เนสท์เล่ ตัดสินใจลงทุนสร้างโรงงานผลิตนมข้นหวาน ในประเทศไทย ภายใต้ชื่อบริษัท ยูไนเต็ด มิลค์ จำกัด
เมื่อก้าวแรกประสบความสำเร็จ เนสท์เล่ ได้ขยายธุรกิจไปยังอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ มากมายพร้อมกับลงทุนสร้างโรงงานไว้ผลิตสินค้าถึง 7 แห่ง และมีพนักงาน 2,800 คน
โดยสินค้า ณ ปัจจุบัน ที่คนไทยนิยมมากที่สุดก็คือ เนสกาแฟ และบริษัทมีรายได้ล่าสุดในปี พ.ศ. 2560 อยู่ที่ 48,067 ล้านบาท
ปิดท้ายข้อมูลที่น่าสนใจ นอกจาก 5 บริษัทที่นำเสนอไปนั้น ยังมีอีกหลายบริษัทที่มีอายุ 100 ปีในบ้านเรา
ยกตัวอย่างเช่น SCG มีอายุ 106 ปี, DKSH ประเทศไทย มากกว่า 130 ปี, หรือจะเป็น หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ อย่าง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่อยู่คู่คนไทยมานานถึง 136 ปี เป็นต้น
เห็นประวัติบริษัทที่มีอายุยาวนานแบบนี้แล้ว น่าสนใจว่า อีก 100 ปีข้างหน้า บริษัทไหนจะยังคงดำเนินกิจการอยู่ และ บริษัทไหนจะล้มหายจากไปบ้าง
References : พิพิธภัณฑ์ ธนาคารไทย, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, รายงานประจำปี พ.ศ. 2561 ของแต่ละบริษัท, เว็บไซต์ของแต่ละบริษัท
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.