จากรางวัลเจ้าฟ้าไอทีฯ สู่ “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” รางวัลสูงสุดด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

จากรางวัลเจ้าฟ้าไอทีฯ สู่ “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” รางวัลสูงสุดด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

11 ส.ค. 2020
ครั้งแรกของประเทศไทย กับการมอบ “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” ประจำปี 2563
ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดสำหรับบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ได้สร้างคุณูปการแก่สังคมส่วนรวมและประเทศชาติในวงกว้าง เปรียบได้ดั่งรางวัลโนเบลของประเทศไทย
เป็นเวลากว่า 28 ปีแล้ว นับจากปี พ.ศ. 2535 ที่ได้จัดตั้ง “มูลนิธิวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศ”
ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของภาคเอกชนชั้นนํา 8หน่วยงาน ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์, ไอบีเอ็ม ประเทศไทย, เอสวีโอเอ,เวิลด์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี, นันทวัน,สยามกลการ, กลุ่มบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ และบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น 
โดยในช่วงแรก มูลนิธิฯ มีเป้าหมายเพื่อให้ทุนสนับสนุนงานวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ 
เพื่อให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศได้
ก่อนจะปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการให้ทุน เป็นการจัดการแข่งขันประกวดโครงการแทน
ทั้งประเภทบุคคลทั่วไป และนิติบุคคล และประเภทนักเรียน-นิสิต-นักศึกษา เพื่อหาโครงการที่เป็นเลิศ และสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม 
โดยเริ่มจัดประกวดรางวัล “เจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ” ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2548
อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา
การบูมของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และเหล่าผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ 
ได้ก่อให้เกิดงานประกวดแข่งขันรางวัลด้านเทคโนโลยี ที่มีลักษณะคล้ายๆ กันขึ้นเป็นจำนวนมาก
รวมถึงหน่วยงานรัฐ, องค์กรธุรกิจ และ Venture Capital เอง ก็เริ่มให้เงินทุนอัดฉีดแก่ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีกันมากขึ้น
ดังนั้น คณะกรรมการมูลนิธิฯ จึงได้หารือกันถึงแนวทางในอนาคตของมูลนิธิ โดยเห็นว่า มูลนิธิฯ ควรยกระดับรางวัลขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เพื่อสร้างความแตกต่างจากรางวัลในรูปแบบเดิมๆ
จึงได้มีมติเปลี่ยนชื่อมูลนิธิฯ โดยได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่า “มูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ”
และเปลี่ยนรูปแบบการมอบรางวัลใหม่ จากการประกวดโครงการ เป็นการมอบรางวัลเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคล
โดยได้รับพระราชทานชื่อรางวัลใหม่ว่า “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” ซึ่งจะมีการประกาศรางวัลในปี พ.ศ. 2563 เป็นปีแรก
และถือเป็นการสิ้นสุดรางวัลเจ้าฟ้าไอทีฯ ซึ่งจัดมาแล้วทั้งหมด 12 ครั้ง
รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ เป็นรางวัลเพื่อยกย่อง เชิดชูเกียรติ และเป็นกำลังใจให้บุคลากรที่มีส่วนสำคัญในการสร้างรากฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศไทย ทั้งที่เป็นฐานความรู้ หรือนำไปประยุกต์ใช้ 
แล้วก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อสังคมอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง ทั้งในระดับประเทศ และนานาชาติ 
ซึ่งรางวัลนี้จะเป็นแบบอย่าง และมีส่วนผลักดันให้เกิด นักคิด-นักพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศให้มีมากขึ้น เพื่อสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคม-ประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไปรวมถึงเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานที่ปรึกษามูลนิธิฯ ที่ทรงให้ความสนพระทัย เห็นความสำคัญและประโยชน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศ
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ประธานมูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ กล่าวว่า “รางวัลนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงออกถึงการเทิดพระเกียรติ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานที่ปรึกษาของมูลนิธิฯ ที่ทรงนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดให้มีรางวัลนี้ขึ้น เพื่อเชิดชูเกียรติผู้ที่ได้รับรางวัล ให้มีความภาคภูมิใจและรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับการคัดเลือก”
ทั้งนี้ กระบวนการคัดเลือก จะเริ่มจากมูลนิธิฯ เรียนเชิญองค์กรต่างๆ เช่น บริษัทใน SET50, หน่วยงานรัฐ,มูลนิธิ, สมาคม และสถาบันการศึกษา เพื่อเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่สมควรได้รับพระราชทานรางวัลฯ 
โดยองค์กรที่ได้รับหนังสือเชิญจากมูลนิธิฯ สามารถเสนอชื่อบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีประสบการณ์มายาวนาน และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ แก่ประชาชนทั่วไป
ในการสร้างหรือนำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาสร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การศึกษา ฯลฯ ในด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้าน โดยเฉพาะต่อผู้ด้อยโอกาส
เช่น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ, ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร หรือทำ Smart Farming, ช่วยคนด้อยโอกาส-คนพิการให้เข้าถึงการศึกษา, ช่วยแก้ปัญหาความยากจน, ช่วยลดปัญหาคอร์รัปชัน เป็นต้น
รวมถึงไม่ปิดกั้นโอกาสแก่บุคคลด้านธุรกิจ ที่ทำประโยชน์ต่อสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน
เช่น Alibaba ที่ช่วยสร้างโอกาสให้กับพ่อค้าแม่ค้า และเกษตรกรตัวเล็กๆ ให้สามารถขายสินค้า และเพิ่มรายได้ผ่านแพลตฟอร์ม  
โดยมูลนิธิฯ จะมีการประกาศผลรางวัลเพียงปีละ 1 รางวัล เป็นรางวัลของคนไทย เพื่อคนไทย ในเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งรางวัลประกอบไปด้วย
เงินรางวัลจำนวน 2,000,000 บาท, เข็มเชิดชูเกียรติทองคำพระราชทาน และโล่ประกาศเกียรติคุณ
ขณะนี้ มูลนิธิกำลังอยู่ระหว่างการเชิญชวนให้หน่วยงานกว่า 200แห่ง เสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับพระราชทานรางวัล จนถึงวันที่ 31สิงหาคม 2563นี้ โดยสามารถเสนอชื่อและส่งผลงานได้ที่ มูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ เว็บไซต์ https://www.rita.or.th/
ใครจะเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับพระราชทาน “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” ประจำปี 2563
เราคงต้องติดตามรอดูกันต่อไปอย่างใกล้ชิด..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.