การอุปโภคบริโภคในอาเซียน จะเพิ่มขึ้นเท่าตัว เป็นมูลค่า 125 ล้านล้านบาท ภายในปี 2030

การอุปโภคบริโภคในอาเซียน จะเพิ่มขึ้นเท่าตัว เป็นมูลค่า 125 ล้านล้านบาท ภายในปี 2030

12 ส.ค. 2020
รายงานวิจัยของ Bain & Company และ World Economic Forum
พบว่า ชนชั้นกลางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 70% ของประชากร และการอุปโภคบริโภคจะเพิ่มขึ้นถึง 2.2 เท่า เป็นมูลค่าเกือบ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (125 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2030
อาเซียนเป็นภูมิภาคที่แสดงถึงโอกาสในการอุปโภคบริโภคที่สามารถเพิ่มขึ้นได้อีกมาก
ด้วยแรงขับเคลื่อนจากปัจจัยสำคัญ 4 ประการ ได้แก่
แนวโน้มด้านประชากรที่มีความแข็งแกร่ง
ระดับรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น
การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิศาสตร์การเมืองที่ทำให้มีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น
และความก้าวหน้าด้านดิจิทัลที่เปิดตลาดผู้บริโภคใหม่ๆ
รวมถึงเส้นขอบเขตระหว่างการชอปปิงแบบพรีเมียม กับการชอปปิงแบบคุ้มค่า ที่กำลังจางลง
เศรษฐกิจของอาเซียนมีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก
และคาดว่าจะมีการเติบโตในทศวรรษหน้า จนกลายเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก
ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากระดับรายได้เพิ่มขึ้น และคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อหัวในระดับภูมิภาคจะเพิ่มขึ้น 4% ในแต่ละปี เป็นมูลค่าถึง 6,600 ดอลลาร์สหรัฐ (205,530 บาท) ในปี 2030 ซึ่งจะทำให้สินค้าหลายประเภทไปถึงจุดหักเหที่การอุปโภคบริโภคจะพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
คาดการณ์ได้ว่าการอุปโภคบริโภคในประเทศซึ่งขับเคลื่อน GDP ราว 60% ในขณะนี้ จะเพิ่มขึ้น 2.2 เท่า และเท่ากับมูลค่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (125 ล้านล้านบาท)
“ภายในทศวรรษหน้า อาเซียนจะมีผู้บริโภคใหม่ถึง 140 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 16% ของผู้บริโภคทั่วโลก
โดยผู้บริโภคจำนวนมากจะทำการซื้อสินค้าออนไลน์เป็นครั้งแรก รวมถึงจะซื้อสินค้าหรูหราชิ้นแรกอีกด้วย" Praneeth Yendamuri พาร์ทเนอร์ของ Bain & Company กล่าว
การนำระบบดิจิทัลมาใช้อย่างรวดเร็วจะดำเนินต่อไปในอาเซียน ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวได้รับการกระตุ้นโดยผู้บริโภคที่เติบโตในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล การลงทุนของนักลงทุนในนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และโครงการต่างๆ ของรัฐบาลที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิทัล
โดยภายในปี 2030 จะมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในอาเซียนเกือบ 575 ล้านคน
และระบบดิจิทัลจะปรากฏอยู่ในทุกพื้นที่ของการอุปโภคบริโภคในแต่ละวัน เมื่อระบบดิจิทัลเข้าไปถึงชุมชนในชนบทและชุมชนที่มีรายได้ต่ำ ระบบดังกล่าวก็จะช่วยกำจัดอุปสรรคที่ขัดขวางการเติบโตของธุรกิจขนาดเล็ก
และทำให้ชุมชนสามารถเข้าถึงบริการพื้นฐาน อาทิ บริการด้านสาธารณสุข, การศึกษา และบริการทางการเงินได้
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการทำให้ชุมชนที่ด้อยโอกาสมีช่องทางในการเข้าถึงระบบดิจิทัล เพื่อรับข่าวสารเกี่ยวกับสาธารณสุข และสามารถสั่งซื้อสิ่งของที่จำเป็นต่างๆ ได้
"พฤติกรรมของผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2030 ผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลางอายุน้อยซึ่งอาศัยอยู่ในเมือง จะแสวงหาประสบการณ์ทางสังคมและในด้านอื่นๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะของแต่ละบุคคลและคุ้มค่าต่อเงินที่ใช้จ่าย ไม่ว่าจะผ่านทางช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ก็ตาม" Yendamuri กล่าว
"เราจะเห็นว่าแต่ละตลาดในอาเซียนมีการพัฒนาที่แตกต่างกัน และวิธีการแบบ 'Multi-local' นี้ก็จะมีความสำคัญต่อบริษัทต่างๆ ที่หวังจะประสบความสำเร็จในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายอย่างมากนี้"
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.