บ้านปู เพาเวอร์ฯ เผยผลประกอบการครึ่งปีแรก 2563 เป็นที่น่าพอใจท่ามกลางเศรษฐกิจที่ท้าทาย

บ้านปู เพาเวอร์ฯ เผยผลประกอบการครึ่งปีแรก 2563 เป็นที่น่าพอใจท่ามกลางเศรษฐกิจที่ท้าทาย

13 ส.ค. 2020
บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP หนึ่งในผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่โดดเด่นด้วยสมดุลของพอร์ตธุรกิจจากทั้งพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป (Thermal Power Business) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Business) รายงานผลประกอบการครึ่งปีแรก 2563 ที่ยังคงสร้างกำไรต่อเนื่องภายใต้การบริหารของนายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้มีประสบการณ์ การบริหารงานบริษัทในกลุ่มบ้านปูฯ ในหลายประเทศ ก่อนเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ 2,829 ล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินงานรวม 2,222 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าทุกแห่งที่สามารถรักษาเสถียรภาพในการจ่ายไฟและตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องแม้จะมีความท้าทายจากวิกฤติการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเดินหน้าสู่การขยายกำลังผลิตให้ถึงเป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์เทียบเท่า โดยเน้นกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียน 800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 ด้วยการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในจีนและเวียดนามให้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ได้ตามแผน รวมถึงการลงทุนเพิ่มในโรงไฟฟ้าที่สามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันทีอย่างโรงไฟฟ้าพลังงานลมเอลวินหมุยยิน (El Wind Mui Dinh) ในจังหวัดนินห์ถ่วน ซึ่งมีรายได้แล้ว อีกทั้งยังเป็นทำเลที่เหมาะแก่การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนในเวียดนาม ขณะเดียวกัน บ้านปู เพาเวอร์ฯ มุ่งผสานพลังร่วมกับธุรกิจผลิตก๊าซธรรมชาติของบ้านปูฯ เพื่อต่อยอดการพัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในอนาคต และเดินหน้าสร้างการเติบโตในพอร์ตพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานผ่านบ้านปู เน็กซ์ ทั้งหมดนี้เพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานในกลุ่มประเทศเป้าหมาย ตามหลักความยั่งยืนด้านพลังงาน อันจะนำมาซึ่งการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป 
นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในครึ่งแรกของปี 2563 แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างความท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจ แต่บ้านปู เพาเวอร์ฯ ยังสามารถรักษาการเติบโตของธุรกิจไว้ได้อย่างแข็งแกร่ง ด้วยระบบการบริหารจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management: BCM) ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เราสามารถรักษากระแสเงินสดได้อย่างแข็งแกร่งเห็นได้จากรายได้จากปริมาณขายไฟฟ้าที่สูงขึ้นจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในจีน และส่วนแบ่งกำไรที่มีเสถียรภาพจากโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีและโรงไฟฟ้าหงสา ขณะเดียวกัน เรายังขยายพอร์ตการลงทุนให้ได้กำลังผลิตตามเป้าหมาย ซึ่งล่าสุดบ้านปู เพาเวอร์ฯ มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นอีกจากโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนามที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว และคาดว่าจะรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ หลังกระบวนการซื้อขายเสร็จสิ้น เมื่อผนวกกับยุทธศาสตร์การสร้างกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่องจากโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในหลากหลายประเทศที่มีศักยภาพ ประกอบกับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าในแผนให้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ตามกำหนด เชื่อว่าบ้านปู เพาเวอร์ฯ จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งและสามารถสร้างผลตอบแทนแก่ผู้มีส่วนได้เสียได้อย่างมั่นคง” 
สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 2/2563 บ้านปู เพาเวอร์ฯ มีรายได้รวมจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมทั้ง 3 แห่งในจีนจำนวน 1,061 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน เป็นผลมาจากปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำในเขตพื้นที่ที่โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ และจากการปรับตัวลงของราคาต้นทุนถ่านหินในจีน ทำให้บริษัทฯ สามารถรักษากำไรขั้นต้นที่ร้อยละ 12 ได้ โดยราคาต้นทุนถ่านหินเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ 540 หยวนต่อตัน ลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้าที่ราคาถ่านหินเฉลี่ยอยู่ที่ 605 หยวนต่อตัน  
บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจำนวน 806 ล้านบาท โดยโรงไฟฟ้าบีแอลซีพียังมีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง ด้วยอัตราความพร้อมจ่ายกระแสไฟฟ้า (Equivalent Availability Factor: EAF) ที่ร้อยละ100 โดยรายงานส่วนแบ่งกำไรจำนวน 489 ล้านบาท ซึ่งได้รวมผลขาดทุนจากการแปลงค่าสกุลเงินแล้วจำนวน 120 ล้านบาท และผลบวกจากภาษีเงินได้รอตัดบัญชีจำนวน 44 ล้านบาท ส่วนโรงไฟฟ้าหงสาหน่วยผลิตที่ 3 มีการหยุดเดินเครื่องในช่วงระหว่างปลายเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม หลังพบความผิดปกติของบางอุปกรณ์ในเครื่องจักร จึงมีการปรับแผนซ่อมบำรุงใหญ่เพื่อประสิทธิภาพและเสถียรภาพของการเดินเครื่องในระยะยาว ทำให้รับรู้ส่วนแบ่งกำไรทั้งสิ้น 407 ล้านบาท ซึ่งได้รวมผลขาดทุนจากการแปลงค่าสกุลเงินแล้ว ส่วนธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงานภายใต้การลงทุนผ่าน บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ได้รายงานส่วนแบ่งขาดทุนจำนวน 90 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานในธุรกิจเหล่านี้นั้นช่วยตอกย้ำการเปลี่ยนผ่านธุรกิจตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ของกลุ่มบริษัทบ้านปูฯ ที่มุ่งเน้นการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับโลกทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม 
ภายในสิ้นปี 2563 บริษัทฯ คาดว่าจะมีโรงไฟฟ้า COD เพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวงในจีน กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 396 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น 2 แห่ง รวมอีก 25 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา ระยะที่ 1 ในเวียดนาม กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์จะเลื่อนไป COD ในไตรมาส 1/2564 เนื่องจากได้รับผลกระทบเรื่องการขนส่งอุปกรณ์ก่อสร้างจากประเทศต้นทางเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา 
“บริษัทฯ ยังคงดำเนินมาตรการอย่างรัดกุมเพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยของพนักงานในทุกประเทศ ทั้งนี้นอกจากการพัฒนาและก่อสร้างโรงไฟฟ้าในจีน ญี่ปุ่น และเวียดนามให้ COD ได้ตามแผนแล้ว บ้านปู เพาเวอร์ฯ ยังคงมองหาโอกาสขยายการลงทุนเพื่อการเติบโตบนพื้นฐานการบริหารงบลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในประเทศที่ดำเนินธุรกิจอยู่และประเทศที่มีศักยภาพ รวมถึงมุ่งผนึกพลังร่วมกับกลุ่มบ้านปูฯ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการวางแผนและพัฒนาธุรกิจผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะการศึกษาความเป็นไปได้การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกา และโครงการไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE) พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่รักษาสมดุลระหว่างผลตอบแทนและกระแสเงินสดอย่างเหมาะสม และมุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental, Social and Governance: ESG) เพื่อเพิ่มมูลค่าที่ยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้เสีย” นายกิรณ กล่าวปิดท้าย 
ทั้งนี้ นายกิรณ ลิมปพยอม เข้าดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบ้านปู เพาเวอร์ฯ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 นายกิรณเข้าร่วมงานกับบ้านปูฯ ตั้งแต่ปี 2552 โดยมีส่วนสำคัญในการวางแผนกลยุทธ์การลงทุนของ กลุ่มบ้านปูฯ จากนั้นในปี 2556 นายกิรณได้รับตำแหน่ง Executive Director ที่ Banpu Australia Co Pty Ltd ประเทศออสเตรเลีย เพื่อดูแลการดำเนินธุรกิจถ่านหินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและลดต้นทุนได้อย่างมีนัยสำคัญ ก่อนที่ในช่วงปลายปี 2558 จะเข้าดำรงตำแหน่ง President Director ที่ PT Indo Tambangraya Megah Tbk บริษัทลูกของ บ้านปูฯ ที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยประสบความสำเร็จในการกำกับดูแลงานในทุกๆ ส่วนและช่วยทำรายได้ให้กับบริษัทฯ ที่ระดับมูลค่ากว่า 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐเฉลี่ยต่อปีทุกปี รวมทั้งกำไรสุทธิกว่า 750 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลอดช่วงเวลา 4 ปีที่ดำรงตำแหน่งนี้ นอกจากนี้ บ้านปู เพาเวอร์ฯ ยังได้นางสาวเบญจมาศ สุรัตนกวีกุล มารับตำแหน่งผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-การเงิน เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับการบริหารงานด้านการเงินและกลยุทธ์ของบริษัทฯ อีกด้วย โดยนางสาวเบญจมาศมีส่วนร่วมในการวางรากฐานการเงินอย่างมีประสิทธิภาพให้กับธุรกิจของบ้านปูฯ ในประเทศจีน มองโกเลีย สิงคโปร์ และ สปป.ลาว ตั้งแต่ปี 2549 
ข้อมูลโรงไฟฟ้าและโครงการโรงไฟฟ้าของบ้านปู เพาเวอร์ฯ ณ วันที่ 13 สิงหาคม 2563 
 โรงไฟฟ้าและ โครงการโรงไฟฟ้า ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว อยู่ระหว่างการพัฒนา  จำนวน (แห่ง/โครงการ) 30  24 6 กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน (เมกะวัตต์) 2,810 2,267 543 
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.