โอกาสทางธุรกิจ ในเศรษฐกิจโลก ยุคโควิด-19

โอกาสทางธุรกิจ ในเศรษฐกิจโลก ยุคโควิด-19

14 ส.ค. 2020
ตั้งแต่ต้นปี 2020 เป็นต้นมา
ทั่วโลก และประเทศไทยต้องเจอกับความไม่แน่นอนหลายเรื่อง
แต่คงไม่มีเรื่องไหนที่จะหนักเท่าการระบาดไปทั่วโลกของโควิด-19
ที่ส่งผลกระทบกับคนทั้งโลก ทั้งด้านสาธารณสุข และเศรษฐกิจ
NEXT IS NOW “พลิกวิกฤต ปรับกลยุทธ์ในยุคเศรษฐกิจใหม่”
จึงเป็นงานสัมมนาในรูปแบบ Virtual Conference ที่ธนาคารกรุงไทยได้จัดขึ้น ในวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
เพื่อร่วมหาคำตอบ และแนวทาง ในการเผชิญวิกฤตครั้งนี้
โดยหนึ่งวิทยากรมากประสบการณ์ ทั้งด้านเศรษฐกิจการค้า และธุรกิจ คือ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์
อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO)
ซึ่งท่านเป็นคนที่ 2 ที่แสดงวิสัยทัศน์ในงานนี้
ดร.ศุภชัย เชื่อว่าในตอนนี้ไม่มีใครสามารถฟันธงได้ 100%ว่าตัวเลขเศรษฐกิจใน 1-2 ปีนี้ จะเป็นอย่างไร
ยกตัวอย่างเช่น ประเทศจีน
ในปีนี้ ประเทศจีนยกเลิกการประกาศตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจ
จากเดิมที่เคยกำหนดเป้าหมาย และประกาศต่อสาธารณชนเป็นประจำทุกปี
เรื่องนี้ทำให้เห็นว่า เรากังวลเรื่องตัวเลขทางเศรษฐกิจได้
แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก คือ ปัญหาด้านสาธารณสุข
ควบคุมโรคระบาดให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเสียก่อน
แล้วปัญหาเศรษฐกิจจึงจะค่อยๆ แก้ได้ง่ายขึ้นตามมา
ปัญหาสำคัญของหลายประเทศ รวมถึงไทยในตอนนี้
คือการทรุดตัวของอุปทาน (Supply)
จากกระบวนการผลิต และระบบห่วงโซ่อุปทานที่มีปัญหา
ถ้าควบคุมการระบาดได้ดีต่อไป อย่างที่ไทยทำได้ดีอยู่ตอนนี้
ปัญหาทางด้านอุปทานการผลิตจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมา
สุดท้ายแล้วตัวเลขเศรษฐกิจก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเช่นกัน
อีกเรื่องที่เป็นปัจจัยเสี่ยง คือ การหดตัวของการค้าระหว่างประเทศ
ซึ่งปัญหานี้ จริงๆ แล้ว เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา
จากสงครามทางการค้าระหว่าง สหรัฐฯ-จีน
และยิ่งหนักขึ้นอีกเมื่อโควิด-19 ระบาด
แม้ยังจะยังบอกได้ยากว่าการระบาดจะจบลงเมื่อไร
แต่เชื่อว่าช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ การส่งออกจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น
จากการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือ คนไทยต้องไม่ประมาทในการป้องกันตัวเอง
เพื่อให้สถานการณ์การระบาดไม่กลับมาอีกระลอก
เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ ได้มีโอกาสฟื้นตัวกลับมาได้เรื่อยๆ
ในส่วนของรัฐบาล ดร.ศุภชัย มองว่า
การแจกเงิน หรือให้เงินสนับสนุนกับประชาชน ควรจะมีเงื่อนไขบางอย่างด้วย
เช่น นำเงินไปต่อยอดการเรียนรู้ ผ่านคอร์สเรียนออนไลน์ เป็นต้น
อีกเรื่องที่เป็นข้อกังวลของหลายฝ่าย คือเรื่องของ หนี้เสีย (NPL)
ซึ่งเรื่องนี้ ดร.ศุภชัย ให้ความเห็นว่า ไม่น่ากังวลมากนัก
เพราะระดับเงินทุนสำรองของธนาคารพาณิชย์มีปริมาณมาก
เมื่อเทียบกับวิกฤตเศรษฐกิจหลายครั้งที่ผ่านมา
แม้ปัญหาและอุปสรรคจะถาโถมเข้าใส่ภาคธุรกิจไทยมากมาย
แต่ ดร.ศุภชัย แนะนำว่า ทุกธุรกิจต้องมองหาโอกาสในวิกฤตครั้งนี้ให้เจอ
โดยปัจจุบันโลกกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้นทุกที
ยิ่งมีการระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้กระบวนการนี้เร็วขึ้นอีก
วิกฤตครั้งนี้ ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีคือสิ่งสำคัญ
เพราะฉะนั้น ทุกธุรกิจต้องมองหาว่า มีเทคโนโลยีอะไรบ้าง
ที่จะสามารถช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน และการผลิตได้
ปัญญาประดิษฐ์ (AI), Internet of Things (IoT) และ Blockchain
เทคโนโลยีเหล่านี้ จะเข้ามามีบทบาทในธุรกิจยุคใหม่มากยิ่งขึ้น
และจะยิ่งทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของธุรกิจรวดเร็วมากขึ้นอีก
ดร.ศุภชัย ทิ้งท้ายด้วยมุมมองต่ออุตสาหกรรมที่น่าสนใจ
และมีความสามารถในการเติบโตได้อีกในอนาคต 3 อุตสาหกรรม คืออุตสาหกรรมการแพทย์ (Healthcare)
อุตสาหกรรมอาหาร (Food)
และอุตสาหกรรมสื่อสารออนไลน์ (Telecommuting)
โดยสรุปจากมุมมองของ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์
“เทคโนโลยี” คือโอกาสที่ทุกธุรกิจจะมองข้ามไม่ได้
ก็ขึ้นอยู่กับว่า จะนำเทคโนโลยีอะไรมาปรับใช้ ให้ธุรกิจได้ประโยชน์มากที่สุด..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.