VISA เห็นโอกาสอะไร? ในยุคหลังโควิด-19

VISA เห็นโอกาสอะไร? ในยุคหลังโควิด-19

17 ส.ค. 2020
“ทุกวิกฤต ย่อมมีโอกาสซ่อนอยู่” ประโยคนี้ทุกคนรู้จักกันดีแต่ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ความท้าทายต่างๆ ได้ถาโถมเข้ามา จนผู้ประกอบการหลายรายรู้สึกว่า หรือจริงๆ แล้ววิกฤตครั้งนี้ อาจไม่มีโอกาสอยู่..
ในงานสัมมนา NEXT IS NOW “พลิกวิกฤต ปรับกลยุทธ์ในยุคเศรษฐกิจใหม่” ในรูปแบบ Virtual Conference เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่จัดขึ้นโดยธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน)
ที่เป็นการรวม CEO แนวหน้าของเมืองไทย มาเผยมุมมอง ผลกระทบ และโอกาสที่ธุรกิจต่างๆ สามารถไขว่คว้าได้ในยุคหลังโควิด-19
ซึ่ง คุณสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นวิทยากรคนที่ 4 ได้เผยว่า ช่วงโควิด-19 แม้แต่ธุรกิจตัวกลางการชำระเงินอย่าง VISA ก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย
เนื่องจาก การล็อกดาวน์ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาเที่ยวและใช้จ่ายในไทยไม่ได้ รวมถึงลูกค้าในประเทศ ก็ออกเดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศไม่ได้เช่นกัน
ซึ่งสุดท้ายแล้วกระทบต่อยอดการใช้จ่ายผ่านบัตร VISA ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม โควิด-19 ก็มีข้อดีอย่างเพราะมันช่วยเร่งปฏิกิริยาให้เกิด Cashless Society หรือสังคมไร้เงินสด เร็วและแพร่หลายมากขึ้นจากเดิมที่อาจต้องใช้เวลาหลายปีในการเปลี่ยนผ่าน
ซึ่งที่ผ่านมา Cashless Society เป็นวิสัยทัศน์ที่ VISA ได้พยายามผลักดันมาโดยตลอด
โดยช่วงล็อกดาวน์ที่ผู้บริโภคต้องหันใช้บริการ ฟู้ด เดลิเวอรี และอีคอมเมิร์ซ เพราะความจำเป็น
หรือหันมาใช้วิธีการจ่ายชำระเงินผ่านบัตรแบบ Contactless หรือวิธีอื่นๆ เช่น Garmin Pay, Rabbit เพื่อลดการสัมผัสเงินสด เพราะกลัวการแพร่เชื้อ
ล้วนเป็นจิกซอว์สำคัญที่ทำให้ภาพของ Cashless Society ใกล้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
แล้วในสถานการณ์เช่นนี้ สำหรับผู้ประกอบการแล้ว อะไรคือโอกาส ?
สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือ พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยหันมาใช้บริการดิลิเวอรี และอีคอมเมิร์ซเป็นกิจวัตรประจำวัน
และผู้บริโภคหลายคน ก็จะไม่เลิกใช้บริการเหล่านี้ไปโดยสิ้นเชิง แม้สถานการณ์โควิด-19 จะจบลง
เพราะพวกเขาต่างรู้สึกติดใจในความสะดวกสบาย
ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคเกิน 70% ตอบว่าในอนาคตจะยังคงใช้เดลิเวอรี, อีคอมเมิร์ซ และ E-Payment ต่อไป แม้โรคระบาดโควิด-19 สิ้นสุดลง
ดังนั้น จึงอยู่ที่ธุรกิจและผู้ประกอบการแล้วว่า จะปรับตัวเข้ากับเรื่องนี้ได้อย่างไร
อย่างเช่น ทุกวันนี้ผู้บริโภคสามารถใช้บัตรเครดิต-เดบิต จ่ายค่าอาหารตามสั่ง หรือสินค้าราคาไม่กี่บาทได้ผ่านแอป
ร้านอาหาร หรือ ร้านค้าเล็กๆ ที่มีตัวเลือกให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าและบริการผ่านออนไลน์ได้ไม่ว่าจะเป็นบนเว็บไซต์-แอปของตัวเอง หรือผ่านแพลตฟอร์ม เช่น Shopee, Lazada, Grab, Line Man
รวมถึงมีตัวเลือกให้ลูกค้าสามารถจ่ายค่าสินค้าและบริการ ด้วยบัตรเครดิต-เดบิตได้
ธุรกิจนั้นๆ ก็จะมีโอกาสฟื้นตัวจากวิกฤตได้เร็ว หรือมีโอกาสเติบโตต่อไปได้ในยุคอนาคต
อีกทั้งช่องทางออนไลน์เหล่านี้ จะช่วยเป็นเกราะป้องกันความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดของธุรกิจในอนาคตได้เป็นอย่างดี ดังเช่นการเกิดโรคระบาด หรือล็อกดาวน์ที่ผ่านมา
ที่สำคัญ “ตลาดออนไลน์” เป็นตลาดที่เปิดกว้างมหาศาล ทั่วโลกมีคนใช้งานและเข้าถึงโลกออนไลน์ ดังนั้น ตลาดนี้จึงไม่จำกัดเพียงเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น
อย่าง VISA เองก็มีฐานลูกค้ากว่า 3,000 ล้านคนทั่วโลก หรือก็คือ ผู้ประกอบการไทย สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ได้บนโลกออนไลน์
เพียงแค่มีตัวเลือกให้ลูกค้าสามารถชำระเงินผ่านบัตรที่มีสัญลักษณ์ของ VISA ได้
ในโลกปัจจุบันที่โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีทุกอย่างพร้อมแล้วดังนั้นโจทย์สำคัญที่ผู้ประกอบการต้องคิดก็มีเพียงแต่ว่า
ธุรกิจจะเข้าไปเจาะตลาดนี้ได้อย่างไร ?
ในส่วนของทิศทางในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้าที่คุณสุริพงษ์ อยากจะเห็นและพยายามทำให้ VISA ไปจุดนั้นคือโลกที่ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ชำระเงินแบบไร้รอยต่อ
ที่ลูกค้ารู้สึกสะดวกและง่ายที่สุด เวลาจ่ายซื้อสินค้าและบริการอะไรก็ตาม จนไม่ต้องมาคิดว่าจะยื่นจ่ายด้วยเงินอะไร หรือบัตรใบไหน
สรุปคือ มีการตัดขั้นตอนการจ่ายเงินออกไป ในกระบวนการซื้อสินค้าและบริการ ทำให้การจ่ายเงินเกิดขี้นด้วยตัวของมันเอง โดยฝังอยู่ในทุกกิจกรรมหลัก
เช่น เวลาเราสั่งอาหารจากแอปฟู้ด ดิลิเวอรี หรือใช้บริการเรียกรถจากแอป แล้วถึงจุดหมายปลางทางแล้ว
แอปเหล่านี้ก็จะตัดเงินจากบัตรเครดิตที่เราผูกไว้กับแอปโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ต้องยกมือถือขึ้นมากดจ่ายเงินอีก
แต่ในอนาคต การชำระเงินแบบไร้รอยต่อนี้ จะยิ่งครอบคลุมบริการและกิจกรรมต่างๆมากขึ้นไปอีก เช่น การขึ้นรถไฟฟ้า
ไม่จำเป็นต้องไปเคาน์เตอร์ รอต่อคิวซื้อบัตรโดยสาร
แต่สามารถใช้บัตรที่มีสัญลักษณ์ VISA หรืออุปกรณ์อื่น เช่น Garmin Pay แตะแทนบัตรโดยสารได้เลย
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.