การลงทุนแบบไหน ที่เหมาะกับยุคแห่งความไม่แน่นอน

การลงทุนแบบไหน ที่เหมาะกับยุคแห่งความไม่แน่นอน

17 ส.ค. 2020
เมื่อพฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยน ธุรกิจต้องปรับตัวตามเทรนด์ New Normal หรือ Next Normal
ซึ่งกรอบแนวคิดการลงทุนแบบเดิมๆ อาจไม่สามารถใช้ได้แล้วในยุคปัจจุบัน
ในยุคที่โลกหมุนเร็วขึ้นเป็นทวีคูณ และสิ่งต่างๆ มีความไม่แน่นอนสูง มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จนนักลงทุนบางคน ก็อาจเริ่มไม่แน่ใจว่าควรจะกำหนดกลยุทธ์ หรือยึดหลักการลงทุนอะไรดี
ดังนั้น ธนาคารกรุงไทย จึงได้จัดงานสัมมนา NEXT IS NOW “พลิกวิกฤต ปรับกลยุทธ์ในยุคเศรษฐกิจใหม่” ในรูปแบบ Virtual Conference เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา
โดย ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นวิทยากรคนสุดท้าย
ที่ได้บรรยายในหัวข้อเรื่อง "ปรับพอร์ตสู้ความผันผวน รับ New Normal"
ซึ่งจะช่วยนักลงทุน เห็นแนวทางการปรับพอร์ตการลงทุน ให้เหมาะสมกับยุค New Normal

โดยเริ่มแรก ดร.พชรพจน์ ให้ข้อสังเกตว่า
ในสมัยก่อน ธุรกิจอาจมองว่า ผู้บริโภคเป็นคนที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง และชอบสิ่งที่คุ้นเคยดีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี โควิด-19 ได้ทำให้ธุรกิจรู้แล้วว่า ผู้บริโภคมีความสามารถในการปรับตัวสูงมาก
สังเกตได้จากพฤติกรรม การทำงานที่บ้าน, สั่งอาหารผ่านแอป, หยิบสินค้าใส่ตระกร้าออนไลน์ ที่ผู้บริโภคสามารถปรับตัวตามได้เพียงในระยะเวลาสั้นๆ
ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่นักลงทุน ต้องกลับมาคิดใหม่จริงๆ ว่า ในโลกอนาคตที่ความไม่แน่นอนสูงนี้ จะพลิกเป็นโอกาสการลงทุนอย่างไร
ซึ่งกรอบแนวความคิดการลงทุนที่ ดร.พชรพจน์ นำเสนอเพื่อให้นักลงทุนยึดเป็นกลยุทธ์การลงทุนสำหรับโลกอนาคตได้ คือ “NEXT”

-N : New Normal
โดยในมุมมองของ ดร.พชรพจน์ New Normal จะเท่ากับ New Opportunity
หรือก็คือ ถึงแม้โลกในปัจจุบันจะไม่เหมือนเดิมในหลายๆ มิติ และมีความท้าทายสูง
แต่มันก็มาพร้อมกับโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน

อย่างเช่น ตอนนี้ผู้คนหันมามีพฤติกรรม Work from home, ชอปปิงออนไลน์, ห่วงสุขภาพ และ Virtual Lifestyle กันมากขึ้น เนื่องจากผลกระทบของโรคระบาด

ซึ่งทั้ง 4 พฤติกรรมนี้มีจุดร่วมที่สำคัญด้วยกันคือเรื่อง “สุขภาพ”
ผู้คน Work from home เพราะไม่อยากเสี่ยงเดินทางฝ่าโรคไปทำงาน ชอปปิงออนไลน์ เพราะไม่อยากเสี่ยงไปห้างฯ-ร้านค้า ซึ่งอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อ
ออกกำลังกายที่บ้าน หรือใส่หน้ากาก เพราะเป็นห่วงเรื่องสุขภาพ และความปลอดภัย
หรือทำกิจกรรม Virtual Lifestyle ที่บ้าน เพราะไม่อยากเสี่ยงไปทำกิจกรรมนอกบ้าน
เพราะฉะนั้น ธุรกิจที่กำลังไปกับเทรนด์ด้าน “สุขภาพ” หรือ กำหนดเรื่องสุขภาพ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการออกแบบสินค้าและบริการ รวมถึงธุรกิจแพลตฟอร์มที่ได้ประโยชน์จาก 4 พฤติกรรมที่กล่าวมา ก็เป็นอีกธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน
อีกตัวอย่างโอกาสการลงทุนคือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับภาครัฐบาล
อย่างที่ทราบกันว่าวิกฤติโควิด-19 สร้างแรงกระแทกอย่างหนักให้เศรษฐกิจไทย
โดยธนาคารกรุงไทย ได้คาดการณ์ว่า GDP ของไทยในปีนี้ จะติดลบถึง 8.8%
และในวิกฤตที่ใหญ่ขนาดนี้ รัฐบาล ก็ต้องออกนโยบายให้การช่วยเหลือ และกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาลซึ่งเม็ดเงินตรงนี้ ตีมูลค่าได้ถึง 1 ล้านล้านบาท ดังนั้น ธุรกิจที่อิงกับภาครัฐบาล และได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นนี้ ก็อาจเป็นอีกการลงทุนที่น่าสนใจ

-E : Equity
ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน เช่นในปัจจุบัน “หุ้น” ก็ยังเป็นการลงทุนที่ควรมีติดพอร์ตไว้
เพราะในวันนี้ อัตราผลตอบแทนของเงินฝาก อยู่ที่เกือบ 0% ต่อปี
พันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี 1.3% ต่อปี
พันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 20 ปี 1.9% ต่อปี
พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี 0.6% ต่อปี
ซึ่งผลตอบแทนเหล่านี้ ไม่อาจเพียงพอต่อแผนการเกษียณอายุ หรือทำให้นักลงทุนบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งไว้ได้
โดยจากสถิติ หากลงทุนในหุ้นในช่วงระยะเวลาที่ยาวนานพอ หุ้นจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยมากกว่า 10% ต่อปี
และนอกจากหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาวแล้ว
ในระยะสั้น หุ้น ก็มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีมากได้เช่นกัน
โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากยุค New Normal หรือตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีในยุคปัจจุบัน
-X : eXternal
ทุกวันนี้ ชีวิตประจำวันของเราอยู่กับการ เล่นโซเชียล มีเดีย, เล่นเกมออนไลน์
สั่งสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
เสพคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิง, เพลงสตรีมมิง
สวมเสื้อผ้าแบรนด์นอก
ทานอาหาร-ดื่มกาแฟ จากเชนร้านอาหารยักษ์ใหญ่ระดับโลก
ซึ่งบริษัทที่เป็นเจ้าของสินค้าและบริการเหล่านี้ ล้วนจดทะเบียนอยู่ในต่างประเทศทั้งสิ้น
ถ้าในชีวิตประจำวันของเราไม่อาจหลุดพ้นจากบริษัทเหล่านี้ได้
และเราชอบสินค้าและบริการของบริษัท
ธุรกิจนั้นๆ ก็ควรเป็นตัวเลือกการลงทุนแรกๆที่เราควรมีอยู่ในพอร์ต
ดังนั้น การกระจายการลงทุนไปในต่างประเทศ โดยเฉพาะ Global Leader จึงเป็นการลงทุนที่มองข้ามไม่ได้ ในการสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่า
โดยตัวอย่างอุตสาหกรรมเด่นๆ ของประเทศ Global Leader เช่นสหรัฐฯ ได้แก่ โซเชียล มีเดีย, ยา, อีคอมเมิร์ซ, รถยนต์ไฟฟ้า (EV)
จีน ได้แก่ ดิจิทัล เทคโนโลยี, เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech), อีคอมเมิร์ซ
ยุโรป - ยา, เทคโนโลยีสุขภาพ (Health Tech), เทคโนโลยีการเกษตร (Agri Tech)
-T : Technology
นักลงทุนควรเลือกลงทุนในธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นในการขับเคลื่อนองค์กรไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี AI
ซึ่งมีตัวอย่างงานวิจัยมากมายว่า ถ้าธุรกิจนำ AI ไปใช้ มูลค่าทางธุรกิจจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
เทคโนโลยีดิจิทัล, คลาวด์, การสร้างแพลตฟอร์ม และอื่นๆ
เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ, เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน, เพิ่ม Productivity และลดต้นทุน
เพราะในยุคของ ดิจิทัล ดิสรัปชัน หรือ อุตสาหกรรม 4.0
การที่ธุรกิจนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนองค์กร
ไม่ใช่เพียงตัวเลือก แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อให้ธุรกิจดำรงอยู่ต่อไปได้ในอนาคต
เมื่อธุรกิจอยู่รอด และเติบโตไปพร้อมกับอัตราเร่งของเทคโนโลยี
ผลตอบแทนจากการลงทุนในธุรกิจ ก็จะเติบโตแล้วก้าวกระโดดด้วยเช่นกัน
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.