Facebook ขอให้ Apple ช่วยลดค่าธรรมเนียม 30% แก่เจ้าของเพจที่จัดงานอีเวนต์ออนไลน์ แต่ถูกปฏิเสธ

Facebook ขอให้ Apple ช่วยลดค่าธรรมเนียม 30% แก่เจ้าของเพจที่จัดงานอีเวนต์ออนไลน์ แต่ถูกปฏิเสธ

15 ส.ค. 2020
Facebook ได้เปิดตัวฟีเจอร์ที่ให้เจ้าของเพจ หรือเจ้าของธุรกิจ สามารถสร้างรายได้จากการจัดงานอีเวนต์ออนไลน์ เช่น ไลฟ์สด, งานสัมมนา, สอนทำอาหาร, พอดคาสต์, งานแข่งขัน, ชั้นเรียนออนไลน์ เป็นต้น บนแพลตฟอร์ม Facebook ได้
โดยเจ้าของเพจ เจ้าของธุรกิจ จะสามารถสร้างงานอีเวนต์, กำหนดราคาเข้าชม, โปรโมทงานอีเวนต์, และให้ลูกค้ากดจ่ายเงินบนเพจอีเวนต์ ได้ในแพลตฟอร์มเดียว
ซึ่งปัจจุบันฟีเจอร์นี้ เปิดให้บริการแล้วในสหรัฐฯ และอีก 19 ประเทศ (ไม่มีไทย)
ทาง Facebook บอกว่าจะไม่เก็บค่าธรรมเนียมใดๆ จากการจ่ายเงินผ่านฟีเจอร์งานอีเวนต์ออนไลน์ อย่างน้อยจนถึงปีหน้า
เพราะต้องการช่วยเจ้าของเพจ และธุรกิจรายย่อย ได้รับเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19
และ Facebook ได้ไปขอให้ทาง Apple ช่วยลดค่าธรรมเนียมคอมมิชชัน 30% ที่เรียกเก็บบน iOS
หรืออนุญาตให้ใช้ Facebook Pay ในการชำระเงินแทน สำหรับผู้ใช้งาน iOS
เพื่อให้ผู้จัดงานอีเวนต์ออนไลน์ได้รับเงินเต็มจำนวน
อย่างไรก็ดี ทาง Apple ได้ปฏิเสธคำร้องขอของ Facebook
"สำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องดิ้นรน ท่ามกลางการแพร่ระบาด
ทุกๆ ดอลลาร์นั้นมีความสำคัญ
เราจึงขอให้ Apple ลดค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากพวกเขา”
“แต่ทาง Apple กลับปฏิเสธคำร้องขอของเรา” Facebook กล่าวในแถลงการณ์
ดังนั้น สำหรับการใช้งาน Facebook บน iOS
เจ้าของเพจ เจ้าของธุรกิจที่จัดงานอีเวนต์ออนไลน์ จะได้รับเงินเพียง 70% ของทุกๆยอดการชำระเงิน
ในขณะที่บนเว็บไซต์และบน Android ที่รองรับ Facebook Pay
เจ้าของงานอีเวนต์ออนไลน์บน Facebook จะได้รับเงินทั้งหมด 100% จากทุกๆยอดการชำระเงิน
ซึ่งเวลาที่ผู้ใช้งาน Facebook กดจ่ายเงินให้งานอีเวนต์ออนไลน์ต่างๆบน Facebook
หากเป็นระบบ iOS จะมีข้อความเล็กๆเขียนว่า “Apple จะหักค่าธรรมเนียม 30% ของการจ่ายเงินในครั้งนี้” ในขั้นตอนการชำระเงิน
แต่ถ้าเป็นระบบ Android จะเขียนว่า “Facebook ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม สำหรับการจ่ายเงินในครั้งนี้”
ทั้งนี้ เมื่อวันก่อน Apple และ Google ได้ลบเกม “Fortnite“ ออกจาก App Store และ Play Store
เนื่องจาก Epic Games เจ้าของเกม Fortnite ได้ทำระบบชำระเงินโดยตรงขึ้นมาเองในเกม Fortnite บนมือถือ
ซึ่งทำให้ไม่ต้องจ่ายส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมในระบบ In-App ให้กับ Apple และ Google
โดย Apple และ Google ให้เหตุผลว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดกฎ และเอาเปรียบผู้พัฒนารายอื่นที่เสียค่าธรรมเนียมเหมือนกัน
ส่วนทาง Epic Games อ้างว่า การเก็บค่าธรรมเนียมของ Apple และ Google ดังกล่าวไม่เป็นธรรมต่อนักพัฒนา และเป็นการผูกขาดธุรกิจ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดการแข่งขัน และสร้างนวัตกรรม
และ Epic Games ได้ยื่นฟ้อง Apple และ Google ต่อศาลในสหรัฐฯ ในเรื่องที่แอป Fortnite ถูกถอนออกจาก App Store และ Play Store รวมถึงการผูกขาดทางธุรกิจ
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.