จากข้าราชการครู สู่เจ้าของ “วรพร” มะม่วงดอง 100 ล้าน

จากข้าราชการครู สู่เจ้าของ “วรพร” มะม่วงดอง 100 ล้าน

4 ก.ย. 2020
เคยสงสัยไหมว่า ผลไม้ดองธรรมดาๆ ที่ขายตามถนนริมทางเพียงไม่กี่สิบบาท
หากปั้นแบรนด์ จนสามารถนำไปวางจำหน่ายที่ 7-Eleven ทั่วประเทศได้
จะสร้างรายได้มากขนาดไหน ?
งั้นเรามาหาคำตอบกันผ่าน มะม่วงดอง “วรพร”
ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกในการนำผลไม้เข้าวางจำหน่ายใน 7-Eleven เป็นรายแรกๆ ของประเทศ
มะม่วงดอง วรพร ก็มีจุดเริ่มเหมือนกับหลายๆธุรกิจ คือ มาจากชาวจีนอพยพ
ซึ่งในที่นี้คือ คุณไต่ไห้ แซ่โค้ว ที่ได้นั่งเรือสำเภาข้ามน้ำ ข้ามทะเลมาจากซัวเถา
และตั้งรกรากที่ จ.ฉะเชิงเทรา ประเทศไทย
โดยในช่วงฤดูร้อน คุณไต่ไห้ ได้สังเกตเห็นว่า
ที่ จ.ฉะเชิงเทรา จะมีผลผลิตมะม่วงออกเป็นจำนวนมาก และทำให้มะม่วงมีราคาถูก
เขาจึงเกิดความคิดอยากดองมะม่วงใส่โหลแก้วขายหน้าบ้าน เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว
พร้อมกับเอาความรู้เรื่องการแปรรูปผักผลไม้ ที่ติดตัวสมัยอยู่ซัวเถามาใช้
อย่างไรก็ดี จุดเปลี่ยนสำคัญของกิจการมะม่วงดองจริงๆ
จะเกิดขึ้นในรุ่นของคุณชัยรัตน์ โสธรนพบุตร ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 2
แรกเริ่มเดิมที่ คุณชัยรัตน์ ไม่อยากทำกิจการขายมะม่วงต่อจากที่บ้าน
เนื่องจากมองว่าเป็นอาชีพที่ลำบาก จึงเลือกหันสู่เส้นทางอาชีพข้าราชการครู
และจะขายมะม่วงเป็นอาชีพเสริมเท่านั้น โดยใช้เวลาว่างในวันหยุด
ทำมะม่วงดอง และตระเวนส่งขายตามร้านค้าต่างๆ ใน จ.ฉะเชิงเทรา เช่น ร้านของฝาก ร้านตามปั๊มน้ำมัน
ซึ่งทำแบบนี้มาเป็นระยะเวลา 3-4 ปี จนรายได้เสริมจากการขายมะม่วง มากกว่าเงินเดือนครู
ในปี พ.ศ. 2529 คุณชัยรัตน์ เลยตัดสินใจลาออกจากราชการครู แล้วหันมาลุยธุรกิจมะม่วงเต็มตัว
โดยนำเงินเก็บทั้งชีวิตประมาณ 1 ล้านบาท มาลงทุนซื้อมะม่วงดองเตรียมไว้สำหรับขายทั้งปี
แต่ปรากฏว่าขายดีเกินคาด ซึ่งขายหมดภายใน 3 เดือน..
คุณชัยรัตน์ จึงเดินหน้าลงทุนเพิ่มอีกทันที 3 ล้านบาท
ซื้อที่ดินจำนวน 1 ไร่ และสร้างโรงงานขนาดย่อม เพื่อขยายการกำลังผลิต
พร้อมกับพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน
นำมะม่วงมาบรรจุแพ็กเกจจิงแบบปิด
เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมะม่วงดองธรรมดา สู่ผลไม้แปรรูปเกรดพรีเมียม
และตั้งชื่อแบรนด์ของตัวเองว่า “วรพร”
โดยสาเหตุที่คุณชัยรัตน์ ต้องลงทุนทำขนาดนี้ เพราะเขามองว่า หากขายมะม่วงดองแบบเดิมๆ
ก็จะไม่สามารถขยายตลาดให้กว้างขึ้นได้
และหลังจากดำเนินธุรกิจไปสักพัก
ทาง 7-Eleven ก็ได้มีการติดต่อเข้ามา เพื่อให้นำมะม่วงของ วรพร เข้าไปวางจำหน่าย
ซึ่งตอนนั้น 7-Eleven มีเพียงประมาณ 80 สาขา
แต่ปัจจุบัน 7-Eleven มีมากกว่า 12,000 สาขาทั่วประเทศไทย
วรพร จึงเติบโตอย่างรวดเร็วตามการขยายสาขาของร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven
และรูปแบบวิถีชีวิตที่เร่งรีบของคนสังคมเมือง
นอกจากนี้ การเข้า 7-Eleven ยังช่วยทำให้ภาพลักษณ์ของ วรพร น่าเชื่อถือขึ้นในสายตาผู้บริโภค
เนื่องจากในสมัยก่อน คนส่วนใหญ่มักรู้สึกว่ามะม่วงดองเป็นของกินที่ขาดความสะอาด
ดังนั้นการที่สินค้าถูกวางจำหน่ายในร้าน 7-Eleven ซึ่งมีมาตรฐานค่อนข้างสูง
จึงเป็นการช่วยการันตีเรื่องความปลอดภัยของสินค้าได้ในระดับหนึ่ง
แล้วปัจจุบัน วรพร มีรายได้มากขนาดไหน ?
บริษัท ผลไม้แปรรูปวรพร จำกัด
ปี 2560 มีรายได้ 96 ล้านบาท กำไร 4 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 105 ล้านบาท กำไร 5 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 128 ล้านบาท กำไร 9 ล้านบาท
รายได้เติบโตเฉลี่ย 15.5% ต่อปี และกำไรโตเฉลี่ย 50.0% ต่อปี
ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ 50% มาจากช่องทางร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven
40% มาจากการส่งออกไปจีน และอื่นๆ อีก 10%
โดย วรพร แปรรูปมะม่วงสดได้ปีละกว่า 2,000 ตัน
และผลิตสินค้าในรูปแบบทั้ง มะม่วงแปรรูป, มะม่วงกวนอบแห้ง และมะม่วงแช่อิ่ม
ส่วนสาเหตุที่ วรพร ค่อนข้างเป็นที่นิยมในประเทศจีน
เพราะว่าที่ประเทศจีน มะม่วงจะมีราคาสูง
ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการปลูกมะม่วง
ทำให้ผลผลิตน้อย และไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวจีน
วรพร จึงมีราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งในจีน แถมสินค้ายังมีคุณภาพดี
ทำให้จีนนิยมนำเข้ามะม่วงของ วรพร เป็นจำนวนมาก
ปัจจุบัน วรพร ถูกบริหารงานโดยทายาทรุ่นที่ 3 ก็คือ คุณชัยพร โสธรนพบุตร
ซึ่งคุณชัยรัตน์ ที่เป็นทายาทรุ่นที่ 2 เล่าว่า เขาจะปลูกฝังลูกๆ ของเขา หรือคุณชัยพร
ผ่านการทำงานจริง โดยให้เรียนรู้ทุกขั้นตอนตั้งแต่เด็ก
อย่างในช่วงปิดเทอม เขาก็จะไม่ส่งลูกไปเรียนพิเศษ
แต่จะให้ลูกๆ มาเรียนรู้ธุรกิจ และให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำมะม่วงดองทุกขั้นตอนแทน
ส่วนเรื่องการศึกษา ก็จะชี้แนะให้เลือกเรียนสาขาที่สามารถต่อยอดธุรกิจครอบครัวได้
ทั้งนี้ ในยุคของคุณชัยพร ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3
ได้มีการพัฒนาเพื่อออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น มะม่วงกวนอบ, มะม่วงแช่อิ่มแบบตัดเป็นชิ้น
พร้อมกับอัปเกรดแพ็กเกจจิงให้สวยงามขึ้น และมีภาษาอังกฤษกำกับ เพื่อหวังเจาะตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่
กรณีศึกษาของ “วรพร”
ทำให้รู้ว่า โอกาสทางธุรกิจมีอยู่ทุกที่รอบตัวเรา
ถึงจะเป็นสินค้า หรือวัตถุดิบพื้นๆ ราคาไม่สูง
แต่หากมองเห็นคุณค่าของมัน
รู้จักนำมาต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่ม และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้
บวกกับการหาช่องทางจัดจำหน่าย และตลาดที่มีศักยภาพมากพอ
คนธรรมดาๆ กับสินค้าพื้นๆ ที่ถูกอัปเกรดมาอย่างดี
ก็อาจสามารถสร้างรายได้หลัก 100 ล้านบาท ได้เหมือน วรพร..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.