AIS บริหารพนักงานอย่างไร ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง

AIS บริหารพนักงานอย่างไร ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง

15 ก.ย. 2020
ถ้าให้พูดชื่อขององค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทย
Advanced Info Service หรือ “AIS”
ผู้นำด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีในประเทศไทย
คงเป็นคำตอบแรกๆ ของใครหลายคน
แน่นอนว่า พอเป็นองค์กรขนาดใหญ่
จำนวนพนักงานในองค์กรก็ต้องมีจำนวนมากตามไปด้วย
สำหรับ AIS ที่มีพนักงานมากกว่า 9,000 คน
หลายคนคงสงสัยว่า AIS บริหารพนักงานในองค์กรอย่างไร
ให้ปรับตัวเข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ
คุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม
ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรมนุษย์ ของ AIS เปิดเผยว่า
ที่ผ่านมา AIS ไม่ได้มองเรื่องจำนวนพนักงานเป็นเรื่องสำคัญ
แต่มองเรื่องความสามารถของพนักงานเป็นเรื่องหลัก
หมายความว่าจำนวนพนักงานในภาพรวมยังคงไม่ลดลง
แต่ในจำนวนเท่าเดิมนั้น จะมีการปรับเปลี่ยน
คือมีทั้งส่วนที่ต้องการคนมากขึ้น และส่วนที่ต้องการคนน้อยลง
ตำแหน่งที่ต้องการคนน้อยลง คืองานที่ทำซ้ำๆ และไม่ได้ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม
ส่วนตำแหน่งงานที่ต้องการคนเพิ่มมากขึ้น
คืองานที่ตอบโจทย์เทรนด์เทคโนโลยีในอนาคต เช่น Data Analytics, Cyber Security
พอเป็นแบบนี้ ก็หมายความว่า
ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับการทำงาน
คนที่จะเดินต่อไปกับองค์กร ก็ต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ให้เหมาะกับการทำงานในวันข้างหน้า
และยิ่งในช่วงที่ผ่านมาเกิดการระบาดของโควิด-19
ยิ่งเป็นเหมือนการสั่นกระดิ่งเตือน ว่าการนำเทคโนโลยีมาแทนที่บางส่วนงาน ถูกเร่งให้เร็วขึ้นไปอีก
และจากวิกฤติโรคระบาดที่เกิดขึ้น
ก็ทำให้เห็นการแบ่งคนเป็นสองประเภทได้อย่างชัดเจน
ประเภทแรก คือ คนที่ไม่ปรับตัวเรียนรู้ และไม่เปิดใจพัฒนาตัวเอง
คนในส่วนนี้ มีความเสี่ยงที่จะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีในอนาคต
อีกประเภท คือ คนที่ปรับตัวได้ดี มี growth mindset
คือพร้อมเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา
ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ก้าวข้ามสิ่งที่ตัวเองคุ้นเคย
ซึ่งคนประเภทที่สองนี่เอง ที่ถือว่ามีโอกาสเติบโตต่อไปได้ในอนาคต
ส่วนเรื่องของการบริหาร และทำงานของคนในองค์กร
สมัยก่อน AIS จะเน้นบริหารแบบ Top-to-Down
คือผู้อาวุโสกว่าจะเป็นหลักในการบริหาร
ในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
มีการใช้แนวคิด “เปิดใจกว้างและให้การยอมรับ”
ให้คนรุ่นใหม่เข้ามาอยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ มากขึ้น
เปิดโอกาสให้คนตัวเล็กๆ ในองค์กรได้ออกความเห็นมากขึ้น
เพื่อพัฒนาให้ทั้งทีม ไม่ว่าจะคนรุ่นเก่า หรือรุ่นใหม่ ได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน
อีกเรื่องที่น่าสนใจ ที่คุณกานติมา ได้ให้ความเห็นคือ
ลักษณะการจ้างงาน ในอนาคตมีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปจากเดิม
สมัยก่อน การที่จะเลือกเข้าทำงานที่ไหน
คนส่วนใหญ่จะมองเรื่องสวัสดิการและความมั่นคงเป็นเรื่องหลัก
แต่ในปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ต้องการความอิสระ มาเป็นอันดับแรกๆ
ฉะนั้น การจ้างงานจึงมีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปเป็นแบบชั่วคราว แบบโปรเจ็กต์ หรือในรูปแบบฟรีแลนซ์มากขึ้น
ถ้าถามว่า AIS กำลังพัฒนาให้พนักงานในองค์กรเป็นคนแบบไหน
คำตอบคือ พนักงานจะต้องเป็นคนที่มี 3F คือ
1.Fit ฟิตทั้งร่างกาย ความรู้ ความสามารถ
2.Fun เล่นอย่างจริงจัง สนุกกับทุกความท้าทาย
3.Fair มีโอกาสในการเข้าถึงความรู้ ความก้าวหน้าเหมือนๆ กัน
ในเรื่องของโอกาสการเข้าถึงความรู้
AIS กำลังให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมในการเรียนรู้
ตัวอย่างเช่น การเข้าถึงคอร์สเรียนออนไลน์
ให้พนักงานได้เข้าไปศึกษาพัฒนาตัวเอง
โดยที่พนักงาน สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้นี้ได้เหมือนกันทุกคน
ถ้าถามว่า ความท้าทายในการพัฒนาคนของ AIS คืออะไร?
คำตอบก็คือ ต้องทำให้พนักงานตระหนักและเข้าใจ
ว่าพนักงานทุกคน ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
จะทำอย่างไรให้องค์กรพัฒนาไปข้างหน้า
พร้อมกับการพัฒนาคน และสังคมให้เดินไปข้างหน้าด้วยกัน
และจะทำอย่างไรให้พนักงาน และคนทั่วไปในสังคมออกจาก Comfort Zone ของตัวเอง
คุณกานติมา ให้ความเห็นว่า
การลงทุนเพื่อการพัฒนาศักยภาพคนเป็นเรื่องสำคัญมาก
เมื่อก่อนการจะขยายธุรกิจหรือองค์กรให้เติบโต
คือต้องเน้นการลงทุนเพื่อเพิ่มจำนวนคนให้มากขึ้น
แต่ปัจจุบันนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง
สิ่งที่ต้องเน้นในวันนี้คือจะลงทุนอย่างไร ให้ศักยภาพของคนถูกพัฒนาขึ้น
แล้วศักยภาพที่เพิ่มขึ้นตรงนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการทำให้องค์กรและสังคมเติบโตต่อไปในวันข้างหน้า
คุณกานติมา ทิ้งท้ายด้วยการเปรียบเทียบว่า
AIS และพนักงานในองค์กร เปรียบเสมือนช้าง
คือ AIS เป็นองค์กรที่ใหญ่โต และน่าเกรงขาม
โจทย์สำคัญในการพัฒนาพนักงานของ AIS ในตอนนี้คือ
“จะทำอย่างไร ให้ช้าง มัน change”
คือทำอย่างไรให้องค์กรและพนักงานปรับตัวพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ
เพราะการเป็นองค์กรใหญ่ เป็นผู้ที่น่าเกรงขาม
จะตามมาด้วย Comfort Zone ที่กว้างมาก และขยับตัวทำอะไรยาก
สิ่งที่ต้องทำในตอนนี้คือ
ทำให้ทุกคนเชื่อตรงกันว่า การพัฒนาศักยภาพของคนไม่มีจุดสิ้นสุด
ทุกคนต้องแข่งกับตัวเอง และแข่งกับความสำเร็จในอดีตอยู่ตลอดเวลา
นี่คือหัวใจสำคัญ ที่จะทำให้องค์กรและพนักงานพัฒนาอยู่ตลอดเวลา..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.