มูลค่าการส่งออกรวม เดือน ส.ค. หดตัว -7.9% แต่หากหักทองคำ จะหดตัว -14.3% (EIC)

มูลค่าการส่งออกรวม เดือน ส.ค. หดตัว -7.9% แต่หากหักทองคำ จะหดตัว -14.3% (EIC)

24 ก.ย. 2020
มูลค่าการส่งออกรวมเดือนสิงหาคม 2020 หดตัวที่ -7.9%YOY แต่หากหักทองคำ จะหดตัวเพิ่มขึ้นเป็น -14.3%YOY โดยมูลค่าการส่งออกรวมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -11.4%YOY ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวสูงของการส่งออกทองคำ (71.5% YOY) แต่หากหักผลของทองคำ มูลค่าการส่งออกจะหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ -14.3%YOY สำหรับการส่งออกภาพรวมในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2020 มีอัตราหดตัวที่ -7.8%YOY แต่หากหักอาวุธและทองคำ การส่งออกจะหดตัวเพิ่มขึ้นเป็น -11.5%YOY
สินค้าส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ยังคงหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการส่งออกยานยนต์ สินค้าเกษตร และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อย่างไรก็ดี สินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาหาร การอยู่อาศัยและทำงานที่บ้าน และการป้องกันการระบาดยังสามารถขยายตัวได้ (รูปที่ 1)
การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบยังหดตัวสูงที่ -28.7%YOY  หลังจากหดตัว -30.9%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ซึ่งตลาดสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (-62.9%YOY) จีน
(-12.6%YOY) และออสเตรเลีย (-2.8%YOY)
การส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ -19.4%YOY หลังจากหดตัวที่ -15.4%YOY ในเดือนก่อนหน้า สินค้าเกษตรหลักที่หดตัว ได้แก่ ข้าว (-15.0%YOY) ยางพารา (-32.2%YOY) ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง (-37.9%YOY) เป็นต้น
การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันยังมีการหดตัวสูงต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำและภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา โดยสินค้าประเภทเคมีภัณฑ์และพลาสติกหดตัว -11.5%YOY ในขณะที่น้ำมันสำเร็จรูปหดตัวที่ -25.7%YOY
มูลค่าส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญอื่น ๆ ยังคงมีการหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ได้แก่ คอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ (-3.1%YOY) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (-4.5%YOY) เหล็กและผลิตภัณฑ์ (-21.4%YOY) และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (-27.1%YOY)
อย่างไรก็ดี การส่งออกทองคำขยายตัวสูงถึง 71.5%YOY ตลาดสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ สิงคโปร์ (1,281.3%YOY) ฮ่องกง (304.8%YOY) และสวิตเซอร์แลนด์ (53.2%YOY) ทั้งนี้การส่งออกทองคำใน 8 เดือนแรกของปี 2020 ขยายตัว 97.5%YOY 
สินค้าส่งออกที่เกี่ยวข้องกับอาหาร การอยู่อาศัยและทำงานที่บ้าน และการป้องกันบางรายการสามารถขยายตัวได้ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า (3.4%YOY) ตู้เย็นและส่วนประกอบ (16.1%YOY ) อาหารสัตว์เลี้ยง (22.3%YOY) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (9.0%YOY) และผลิตภัณฑ์ยาง (12.8%YOY) โดยถุงมือยางขยายตัวถึง 125.9%YOY
รูปที่ 1 : การส่งออกสินค้าหลายภาคส่วนยังคงหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าอย่างไรก็ดีสินค้าประเภทอาหารการอยู่อาศัยการทำงานที่บ้านและถุงมือยางยังขยายตัวได้
หมายเหตุ : *การส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่รวมการส่งกลับอาวุธในปี 2019 และ 2020
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
รูปที่ 2 : สินค้าสำคัญที่เป็นปัจจัยบวกและลบต่อการส่งออกในเดือน ส.ค.2020
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
ด้านการส่งออกรายประเทศ ตลาดส่งออกสำคัญเกือบทุกตลาดหดตัวต่อเนื่อง ยกเว้นการส่งออกไปสหรัฐฯ และฮ่องกงยังขยายตัวได้
การส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 15.2%YOY หลังจากขยายตัว 17.8%YOYในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป
และรถยนต์ และส่วนประกอบ
การส่งออกไปตลาดฮ่องกงพลิกกลับมาขยายตัวที่ 1.5%YOY หลังจากหดตัว -8.6%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ทองคำ น้ำมันสำเร็จรูป และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ
การส่งออกไปจีนหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ -4.0%YOY หลังจากหดตัว -2.7%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เม็ดพลาสติก และรถยนต์และส่วนประกอบ
การส่งออกไปญี่ปุ่นหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ -16.6%YOY หลังจากหดตัว -17.5%YOY ในเดือนกรกฎาคม โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์พลาสติก
การส่งออกไปตลาดอาเซียน 5 หดตัวชะลอลงอยู่ที่ -16.5%YOY หลังจากหดตัวอยู่ที่ -24.6%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าหลักที่หดตัวคือ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์
การส่งออกไปสหภาพยุโรป 15 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ -16.9%YOY หลังจากหดตัวที่ -16.0%YOYในเดือนก่อนหน้า  สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และรถยนต์และส่วนประกอบ
การส่งออกไปตลาด CLMV หดตัวชะลอลงที่ -9.3%YOY หลังจากหดตัวที่ -13.2%YOYในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป และเครื่องดื่ม
การส่งออกไปตลาดตะวันออกกลาง หดตัวสูงถึง -30.3%YOY หลังจากหดตัว -16.4%YOYในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าหลักที่หดตัวคือ รถยนต์และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และอัญมณีและเครื่องประดับ
ด้านมูลค่าการนำเข้าในเดือนสิงหาคมยังคงหดตัวสูงที่ -19.7%YOY โดยเป็นการหดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า
ที่หดตัวมากถึง -26.4%YOY แต่เป็นการหดตัวในทุกหมวดสำคัญ ได้แก่ สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (-20.5%YOY) หมวดสินค้าเชื้อเพลิง (-34.2%YOY) สินค้าทุน (-10.8%YOY) สินค้าอุปโภคบริโภค (-7.7%YOY) และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (-34.7%YOY) โดยการหดตัวในหมวดดังกล่าวสะท้อนว่าการส่งออก การลงทุน และการใช้จ่ายในประเทศยังคงมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่อง ทั้งนี้มูลค่าการนำเข้าในช่วง 8 เดือนแรกของปีหดตัวที่ -15.3%YOY
>Implication
การหดตัวของมูลค่าส่งออกหลังหักทองคำที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า สะท้อนว่าการฟื้นตัวของการส่งออกเริ่มชะลอลง สอดคล้องกับที่ EIC เคยคาดการณ์ไว้ ซึ่งจากประมาณการครั้งล่าสุดของ EIC เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2020 ได้คาดไว้ว่าในระยะต่อไป การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยหากพิจารณข้อมูล PMI และ Google mobility ของหลายประเทศสำคัญ ก็จะเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวของการฟื้นตัวแล้ว (stalling recovery) (รูปที่ 3) 
ทั้งนี้สาเหตุของการฟื้นตัวที่ชะลอลงของเศรษฐกิจโลกมีที่มาจากการกลับมาระบาดของ COVID-19 ในหลายประเทศ ทำให้ต้องใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงความเสี่ยงเรื่องหน้าผาทางการคลัง (fiscal cliff) ของหลายประเทศที่หลายมาตรการสนับสนุนของภาครัฐได้เริ่มหมดอายุลง หรือการต่ออายุมาตรการที่มีขนาดเล็กลง ขณะที่รายได้และการจ้างงานยังฟื้นตัวช้า นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) ได้แก่ ภาวะตลาดแรงงานที่เปราะบางและการปิดกิจการที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า
รูปที่ 3 : การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอลง (stalling economic recovery) หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับมาสูงขึ้นและมีการกลับไปปิดเมืองแบบเฉพาะพื้นที่ (local lockdown) รวมถึงผลกระทบจาก fiscal cliff และ scarring effects
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ CEIC และ Google
มูลค่าการส่งออกรวมทั้งปี 2020 มีโอกาสปรับดีขึ้นจากที่เคยคาดการณ์ที่ -10.4% เนื่องจากการขยายตัวในระดับสูงของการส่งออกทองคำ โดยในช่วง 8 เดือนแรก การส่งออกทองคำขยายตัวถึง 97.5%YOY และหากพิจารณาแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี พบว่าราคาทองคำยังทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้การส่งออกทองคำยังอยู่ในระดับสูงต่อไป ประกอบกับฐานการส่งออกทองคำในช่วงปลายปี 2019 อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ (รูปที่ 4) จึงทำให้คาดว่าการส่งออกทองคำจะเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกในภาพรวมของไทยในปี 2020 
อย่างไรก็ดี หากพิจารณานัยของการส่งออกต่อภาคเศรษฐกิจจริง การส่งออกทองคำไม่ถือเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม (value added) จึงไม่ถูกนับใน GDP[1] ดังนั้น แม้ว่ามูลค่าการส่งออกรวมอาจมีแนวโน้มปรับดีขึ้นกว่าที่คาด แต่การส่งออกหักทองคำกลับหดตัวใกล้เคียงกับที่คาดไว้ (8 เดือนแรกมูลค่าการส่งออกหักทองคำหดตัวที่ -11.8%YOY) มูลค่าส่งออกที่อาจปรับดีขึ้นจากทองคำจึงจะไม่ส่งผลต่อประมาณการ GDP เท่าใดนัก 
รูปที่ 4 : ในระยะข้างหน้าการส่งออกทองคำซึ่งมีผลจำกัดต่อเศรษฐกิจจริงจะยังเป็นปัจจัยที่ทำให้มูลค่าการส่งออกรวมดูฟื้นตัวเร็ว จากราคาทองคำที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับฐานที่ต่ำลงในช่วงปลายปีก่อน
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ The London Bullion Market Association และ CEIC
ด้านความเสี่ยงเพิ่มเติมที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้าประกอบไปด้วย
ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะมีในเดือนพฤจิกายน 2020 ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีน-สหรัฐฯ ด้วย โดยผู้ท้าชิงทั้งสองได้แก่ Trump และ Biden มีนโยบายที่ค่อนข้างแตกต่างกันในหลายประเด็น โดยในประเด็นการค้าระหว่างประเทศ หาก Trump  ได้เป็นประธานาธิบดีต่อ คาดว่าความขัดแย้งกับจีนก็จะยังมีต่อเนื่องหรืออาจเพิ่มความตึงเครียดมากขึ้นหลังจากในช่วงที่ผ่านมามีความขัดแย้งในหลายด้าน ได้แก่ สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี และการเมืองภายในฮ่องกง แต่หาก Biden ได้ดำรงตำแหน่ง ความขัดแย้งด้านการใช้ภาษีนำเข้า (Tariff) อาจลดลง
โดยถึงแม้ทาง Biden อาจจะไม่กลับไปประนีประนอมกับจีนได้มากเท่ากับในช่วงก่อนที่ Trump เข้ามาเป็นประธานาธิบดี แต่จุดยืนก็น่าจะไม่แข็งกร้าวเท่ากับ Trump อีกทั้ง Biden ยังต้องการจับมือกับประเทศพันธมิตรในยุโรปเพื่อกดดันจีนแทนการใช้ภาษีนำเข้า จึงน่าจะมีท่าทีประนีประนอมมากขึ้นกับประเทศกลุ่มยุโรป นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่ Biden จะนำสหรัฐฯ กลับไปเจรจา CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) หรือ Trans-Pacific Partnership (TPP) อีกครั้ง ดังนั้น การเลือกตั้งของสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีจึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ซึ่งจะกำหนดทิศทางการค้าของโลกในระยะถัดไป
ความเสี่ยงในการถูกขึ้นบัญชีเป็น Currency manipulator โดยจากข้อมูลปี 2019 พบว่าไทยเข้าเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อที่สหรัฐฯ กำหนดไว้ ได้แก่ 1) เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา 2) เกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 3% ของ GDP ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และ 3) มูลค่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 2% ของ GDP โดยหากไทยถูกสหรัฐฯ ประกาศเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน (currency manipulator) หรืออยู่ใน monitoring list อาจทำให้สหรัฐฯ ใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมกับสินค้าส่งออกของไทยได้
ความเสี่ยงต่อการส่งออกในระยะปานกลางถึงยาวจากกระแสการย้ายฐานการผลิต (Reshoring of Supply Chains) และ ภูมิภาคาภิวัฒน์ (Regionalization) เนื่องจากหลายประเทศประสบปัญหา supply chain disruption ในช่วงที่มีการปิดเมือง จึงหันมาเน้นพึ่งพาการผลิตในประเทศมากขึ้นหรือกระจายการผลิตไปยังประเทศใกล้เคียงเพื่อลดความเสี่ยง
ที่มา - EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ 
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.