กรณีศึกษา การเปลี่ยนแปลงของห้าง “มาบุญครอง”

กรณีศึกษา การเปลี่ยนแปลงของห้าง “มาบุญครอง”

15 ต.ค. 2020
ในอดีต หากเราอยากซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ อยากได้ Gadget ล้ำๆ ก่อนใคร
เรามักจะคิดถึงร้านค้าเครื่องหิ้วใน “มาบุญครอง” หรือ MBK Center เป็นที่แรกๆ
หรือในเรื่องการชมคอนเสิร์ตศิลปินยอดขายเทปล้านตลับ ก็ต้องไปที่ชั้น 7 MBK Hall
อยากไปเล่นเครื่องเล่นสุดล้ำ ก็ต้องชั้น 8 โซนสวนสนุก
สิ่งเหล่านี้คือภาพจำในอดีตของ MBK..
MBK เปิดตัวเมื่อ 37 ปีที่แล้ว ด้วยการเช่าที่ดิน 27 ไร่ กับทาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แล้วมาสร้างอาคารศูนย์การค้า ที่นับว่าล้ำที่สุดในสมัยนั้น
ถึงวันนี้ภาพของ MBK เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
เพราะภาพที่เราเห็นล่าสุด ก็คือห้างแห่งนี้ กลายเป็นแหล่งชอปปิงของชาวต่างชาติ
ที่มาที่ไปของเรื่องนี้
เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 40 ที่ทำให้คนไทยมีกำลังซื้ออ่อนแอลง
ทีมการตลาดของ MBK จึงปรับกลยุทธ์หันไปทำตลาดกับบริษัททัวร์ท่องเที่ยว
เพื่อให้ชาวต่างชาติ มาชอปปิงและรู้จักห้างแห่งนี้กันมากขึ้น
อีกทั้งในเวลานั้น ก็เริ่มเกิดสารพัดศูนย์การค้าต่างๆ มากมายในกรุงเทพฯ
ซึ่งนั้นหมายความว่าใน 1 วันชอปปิง มีตัวเลือกใหม่ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น
และไม่ใช่แค่นั้น.. สถานที่จัดคอนเสิร์ต ก็เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
สุดท้าย MBK Hall ก็ต้องปิดกิจการ เปลี่ยนเป็นโรงภาพยนตร์ที่บริหารโดย SF
ในขณะที่คนไทยเริ่มห่างเหินกับ MBK
แต่กับชาวต่างชาติแล้ว ที่นี่คือสถานที่ซึ่งหากมาเที่ยวกรุงเทพฯ
พวกเขาใฝ่ฝันว่าต้องมา ชอปปิง ที่นี้ให้ได้
ก็เลยทำให้ MBK ค่อยๆ ปรับพื้นที่การขายจากเดิม ที่เน้นสินค้า IT
ก็เพิ่มให้พื้นที่ร้านค้าที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะสินค้าไทย เพื่อจับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ
เพียงแต่.. ฝันร้ายที่ไม่เคยมีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น
เมื่อ COVID-19 เกิดขึ้นบนโลกใบนี้
ผลที่ตามมาคือ การล็อกดาวน์ ทำให้ศูนย์การค้าต้องปิดนาน 2 เดือน
จนเมื่อกลางเดือน พฤษภาคม ที่ผ่านมา
เมื่อมาตรการล็อกดาวน์เริ่มผ่อนคลาย ศูนย์การค้า ทั่วประเทศกลับมาเปิดให้บริการ
แต่.. ต้องยอมรับว่า MBK เป็นหนึ่งในห้างที่ได้รับผลประโยชน์เรื่องนี้น้อยมาก
เมื่อประเทศไทย ยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
พอเป็นแบบนี้ ห้างมาบุญครอง ก็เลย “เงียบเหงา” หากเทียบกับศูนย์การค้าอื่นๆ
ก็เลยทำให้ มาบุญครอง เยียวยาผู้เช่าพื้นที่
ด้วยการยืดระยะเวลาปรับอัตราค่าเช่าลดลง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ
เรื่องนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ในส่วนธุรกิจศูนย์การค้า ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ธุรกิจของบริษัท
โดยปัจจุบันนอกจากบริษัทแห่งนี้จะมีห้าง MBK
ก็จะมี พาราไดซ์ พาร์ค, เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ และ อาคาร พาราไดซ์ เพลส
สำหรับ รายได้จากธุรกิจศูนย์การค้าของ MBK
6 เดือนแรกของปี 2562 มีรายได้ 1,979 ล้านบาท
6 เดือนแรกของปี 2563 มีรายได้ 1,391 ล้านบาท
จะเห็นว่ารายได้ในส่วนนี้ลดลงถึง 29.7%
จนแล้วจนรอด การลดค่าเช่าพื้นที่ก็ไม่ได้ช่วยผู้ประกอบการมากนัก
เพราะ ณ วันนี้ หากเราเดินไปชอปปิงศูนย์การค้า MBK
จะเห็นว่าร้านค้าเล็กๆ หลายร้านต้องปิดกิจการ
ก็เลยทำให้เมื่อเร็วๆ นี้ผู้เช่าพื้นที่ศูนย์การค้าได้ยื่นเรื่องขอขายฟรี 3-6 เดือน
ให้กับทางผู้บริหาร MBK ได้พิจารณา
แต่.. แล้วความหวังของ MBK ในการจะหา “จุดเปลี่ยน” ก็เกิดขึ้น
เมื่อรัฐบาลประกาศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเข้ามาในประเทศไทยได้
โดยเลือกประเทศที่มีความเสี่ยงน้อยในการแพร่เชื้อ และมีระบบการควบคุมที่เข้มงวด
ก็คงต้องตามดูกันต่อไปว่า
เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติค่อยๆ ทยอยเข้าสู่เมืองไทย
เจ้าของร้านต่างๆ ใน MBK จะกลับมามียอดขายได้ดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน ?
จนถึงร้านต่างๆ ที่ปิดกิจการไปก่อนหน้านี้
จะหวนกลับคืนสู่ทำเลเดิมอย่าง MBK หรือไม่..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.