“เจ้เล้ง ดอนเมือง” จากเงินทุนเริ่มธุรกิจ 1,200 บาท สู่ยอดขาย 600 ล้าน

“เจ้เล้ง ดอนเมือง” จากเงินทุนเริ่มธุรกิจ 1,200 บาท สู่ยอดขาย 600 ล้าน

19 ต.ค. 2020
หลายๆ คนคงคุ้นหูกับ “ร้านเจ้เล้ง ดอนเมือง” หรือ “เจ้เล้ง พลาซ่า”
ร้านขายปลีกเครื่องสำอาง และสินค้าอุปโภค-บริโภค
ที่ตั้งอยู่ใกล้กับ ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง
ชื่อจริงของ เจ้เล้ง คือ อารยา ลาภชีวะสิทธิฉัตร
หรือที่รู้จักในชื่อ เจ้เล้ง ดอนเมือง ปัจจุบันอายุ 70 ปี
เป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เอ แอนด์ เจ บิวตี้โปรดักส์ จำกัด
โดยปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้ 604 ล้านบาท กำไร 14 ล้านบาท
ย้อนกลับไปก่อนที่จะมาเป็นเจ้เล้ง ดอนเมือง
ครอบครัวของเจ้เล้งอพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่
หลังจากอยู่ประเทศไทยได้สักพัก ก็ออกจากโรงเรียนตั้งแต่ตอนอายุ 14 ปี
และตัดสินใจลงทุนค้าขาย โดยเริ่มจากเงินเพียง 1,200 บาท
เจ้เล้ง เริ่มจากการขายขนมทอฟฟี่ และที่จับฉลาก ตามหน้าโรงหนัง
ขายได้ 20-30 บาท ได้กำไร 3-4 บาท ก็เอาไปเป็นค่าขนม
ทำทุกอย่างที่หาเงินได้ ทั้งปักเสื้อ ขายแผงลอย
บางวันขายได้ บางวันขายไม่ได้ สลับกันไป
หลังจากนั้น เจ้เล้งก็ค่อยๆ ขยับขยายธุรกิจ
จากเงินทุนเริ่มต้น 1,200 บาท จนปัจจุบัน ธุรกิจสร้างรายได้กว่า 600 ล้านบาทต่อปี
ซึ่งแนวคิดและวิธีการทำธุรกิจของเจ้เล้ง ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย
การขยับขยายธุรกิจของเจ้เล้ง จะยึดหลักอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เนื่องจาก เจ้เล้ง มาจากลูกที่พ่อแม่ไม่ได้มีเงินทุนสำรองไว้ให้
จึงต้องคิดทำทุกวิถีทางที่จะทำธุรกิจอย่างไร โดยไม่ต้องกู้
จากวันแรกจนถึงวันนี้ เจ้เล้งได้ดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลา 30 ปี
ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า เจ้เล้ง เป็นหนึ่งในบุคคลตัวอย่างในด้านการทำธุรกิจ
จากการสัมภาษณ์เจ้เล้ง ในรายการ “ทีวีทางเลือก”
เราจะเห็นมุมมอง และนิสัยการทำธุรกิจของเจ้เล้ง ที่เอามาปรับใช้ได้
ซึ่งสรุปได้ดังนี้
1) การเก็บเล็กผสมน้อย
การเก็บเล็กผสมน้อย สามารถตีความได้อีกอย่าง คือ “ความอดทน”
เจ้เล้ง เป็นคนที่มีความอดทนสูง เพราะขยับขยายธุรกิจด้วยกำลัง ความสามารถ และมันสมองของตัวเอง โดยที่ไม่พึ่งพาการกู้แต่อย่างใด
2) การเป็นผู้ให้
การเป็นผู้ให้ของเจ้เล้ง คือการดูแลพนักงาน เสมือนเป็นครอบครัวของตัวเอง
นอกจากนั้นยังช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก
ด้วยการอุดหนุนร้านขายข้าวของชาวบ้าน และเอามาแจกให้กับคนทั่วไปให้ได้อิ่มท้องกัน
ทั้งนี้ ในช่วง COVID-19
ธุรกิจของเจ้เล้ง ก็โดนผลกระทบไม่น้อย
เนื่องจากเป็นร้านขายปลีกเครื่องสำอางและสินค้าอุปโภค-บริโภค
เมื่อเกิดโรคระบาด จึงทำให้คนออกจากบ้านมาซื้อของไม่ได้
แล้วในช่วง COVID-19 ระบาด เจ้เล้งสามารถผ่านวิกฤติมาได้อย่างไร ?
ช่วงนั้น เจ้เล้ง ตัดสินใจไม่ปิดธุรกิจหน้าร้าน
แต่คิดหาทางออก ด้วยการปรับสัดส่วนการขายหน้าร้านให้น้อยลง และขยายมาทำออนไลน์มากขึ้น
โดย เจ้เล้ง ได้เล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่า
“ทีมการตลาด บอกกับเจ้เล้งให้ไปจ้าง YouTuber โปรโมตสินค้าเจ้เล้งสิ สินค้าจะได้เป็นที่รู้จัก
เจ้เล้งเลยตอบไปว่า จะไปจ้างเค้าทำไม คนที่เราจ้างไม่ได้รู้ดีเกี่ยวกับสินค้าเราจริงๆ พูดแค่ตามที่เราสั่ง
แต่ถ้าเราลองใช้ก่อน ใช้แล้วดี เราก็การันตีจากหน้าเจ้เล้งเองนี่แหละ ทุกคนก็จะเชื่อในสิ่งเราพูด”
เจ้เล้ง จึงรับหน้าที่เป็น Influencer รีวิวสินค้าด้วยตัวเอง แทนการจ้างคนอื่นมารีวิว
และได้สร้างคอนเทนต์ โพสลงบนโซเชียล มีเดียอย่างต่อเนื่อง
จนปัจจุบัน Facebook Fanpage “ร้านเจ้เล้ง ranjaeleng”
มีคนกดไลก์มากกว่า 570,900 คน และมีคนติดตามมากกว่า 821,100 คน
จากบทเรียนของเจ้เล้ง
หัวใจในการทำธุรกิจที่สำคัญคือ “ความจริงใจ”
เจ้เล้งตั้งใจเลือกสินค้าทุกชนิดเข้ามาวางขายที่ร้าน
ถ้าตัวเองรู้สึกว่าไม่ดี จะไม่นำเข้ามาขาย
และทดลองใช้สินค้าเองทั้งหมด
สรุปแล้ว ความจริงใจจึงเป็นพื้นฐาน หรือ Core Value สำคัญ
ที่จะทำให้ลูกค้า “ไว้วางใจ” และธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว
ซึ่งความจริงใจ อาจไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า
แต่ลูกค้าจะสัมผัสได้ด้วยตัวของพวกเขาเอง
หรืออาจอนุมานได้ว่า
ในโลกธุรกิจ เมื่อเราให้ใจลูกค้าไป
เราก็ย่อมได้รับสิ่งดีๆ กลับมาแน่นอน..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.