กรณีศึกษา การแบ่ง “หุ้น” ในธุรกิจ จากซีรีส์เรื่อง START-UP

กรณีศึกษา การแบ่ง “หุ้น” ในธุรกิจ จากซีรีส์เรื่อง START-UP

3 พ.ย. 2020
Facebook บริษัทโซเชียลมีเดีย ที่ใหญ่สุดในโลก
Amazon บริษัทอีคอมเมิร์ซและคลาวด์ ที่ใหญ่สุดในโลก
Netflix บริษัทแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิง ที่ใหญ่สุดในโลก
Spotify บริษัทแพลตฟอร์มเพลงสตรีมมิง ที่ใหญ่สุดในโลก
ทุกบริษัทที่กล่าวมา ซึ่งเป็นผู้นำในแต่ละวงการ มีมูลค่าบริษัทนับล้านล้านบาท
ล้วนมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นบริษัท “สตาร์ตอัป” 
ก่อนจะกลายเป็น ยูนิคอร์น หรือ สตาร์ตอัปที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 
และเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น เป็นบริษัทมหาชนในที่สุด
ด้วยชื่อเสียงและความสำเร็จของ สตาร์ตอัป ที่เข้าไปดิสรัปอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างรวดเร็ว
พร้อมกับสร้างบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา เพื่อเปลี่ยนแปลงโลก
ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ ให้ใฝ่ฝันอยากสร้างสตาร์ตอัปของตัวเอง
ทั้งนี้ สตาร์ตอัป คือ บริษัทที่ใช้โมเดลธุรกิจใหม่ๆ หรือ เทคโนโลยีใหม่ๆ 
มาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า แทนที่ธุรกิจรูปแบบเดิมๆ 
และมุ่งขยายกิจการอย่างรวดเร็ว
ซึ่ง สตาร์ตอัป ก็เหมือนกับ “กีฬา” ที่ต้องเล่นเป็นทีม 
จะสังเกตเห็นว่า สตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ จะมีผู้ร่วมก่อตั้ง (Co-Founder) ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เช่น
Facebook มีผู้ร่วมก่อตั้ง 7 คน 
Twitter มีผู้ร่วมก่อตั้ง 4 คน
Airbnb มีผู้ร่วมก่อตั้ง 3 คน
Netflix มีผู้ร่วมก่อตั้ง 2 คน 
Grab มีผู้ร่วมก่อตั้ง 2 คน
โดยการมีผู้ก่อตั้งมากกว่า 1 คน จะมีข้อดีในเรื่อง การช่วยเสริมจุดแข็งและทักษะให้กันและกัน
ช่วยกันสร้างสรรค์วิธีการแก้ปัญหา โมเดลธุรกิจ และประสบการณ์ลูกค้า
รวมถึงโต้แย้งความเห็นของกันและกัน
ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจประสบความสำเร็จมากกว่า การสร้างธุรกิจขึ้นมาด้วยตัวคนเดียว 
แต่การมีผู้ก่อตั้งหลายคน ก็อาจมีข้อเสียเหมือนกัน
เช่น ปัญหาเรื่องการแบ่ง “หุ้น” 
ว่าแต่ละคนจะถือหุ้นในสัดส่วนเท่าไร ใครถือมาก ใครถือน้อย
ซึ่งหากก่อตั้งธุรกิจคนเดียว จะไม่ค่อยเจอปัญหานี้สักเท่าไร
หุ้น คือ ตราสารชนิดหนึ่ง ที่แสดงสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของบริษัท
ดังนั้น นอกจากมูลค่าที่เป็นตัวเงินแล้ว 
หุ้นยังมาพร้อมกับสิทธิ์ในการออกเสียงในที่ประชุม และอำนาจควบคุมบริษัท
หรือก็คือ ผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ตอัป ที่ถือหุ้นในสัดส่วนที่มาก 
ก็ย่อมมีสิทธิ์ มีเสียง และควบคุมอำนาจบริหารในบริษัท
แล้วผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ตอัป ควรแบ่งหุ้นกันอย่างไร ? 
จริงๆ เรื่องนี้ไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะเป็นทั้งศาสตร์ และ ศิลป์ ประกอบกัน 
อย่างไรก็ดี ซีรีส์เรื่องล่าสุดของ Netflix ที่กำลังเป็นกระแสร้อนแรงในขณะนี้
ชื่อว่า “START-UP” เรื่องราวของหนุ่มสาว กลุ่มหนึ่ง ที่อยากสร้างสตาร์ตอัปให้ประสบความสำเร็จ 
ได้ให้ความรู้และข้อคิดเรื่องการแบ่งสรรหุ้น ในกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งไว้ได้อย่างน่าสนใจ
(คำเตือนต่อจากนี้ อาจมีข้อความที่เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์ START-UP ใน EP. 6)
ในเรื่อง กลุ่มตัวเอก ได้ร่างเอกสารจัดสรรหุ้นของบริษัท (ซัมซานเทค) 
โดย พระเอก (นัมโดซาน) ได้ถือหุ้นในสัดส่วน 19%
ส่วนนางเอก (ซอดัลมี) และคนอื่นๆ ถือหุ้นคนละ 16%
ซึ่งกลุ่มตัวเอก พอใจกับการแบ่งหุ้นแบบนี้ เพราะแสดงให้เห็นถึงความยุติธรรม และเท่าเทียมกัน ระหว่างผู้ร่วมก่อตั้ง
แต่ที่ปรึกษาธุรกิจของบริษัท (ฮันจีพยอง) กลับเตือนว่า 
การแบ่งหุ้นในลักษณะนี้ แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนของ CEO หรือผู้นำของธุรกิจ
เพราะอำนาจที่แท้จริง ของ CEO ไม่ได้มาจากชื่อตำแหน่ง 
แต่มาจากสัดส่วนของหุ้นที่ถือครองอยู่
หาก CEO ไม่มีหุ้นมากพอ ก็จะไร้ซึ่งอำนาจการบริหาร และเสถียรภาพ
นอกจากนี้ สถานการณ์อาจยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีก 
หากเกิดเหตุการณ์ผู้ร่วมก่อตั้ง มีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องทิศทางธุรกิจ
หรือเกิดเล่นการเมืองหักหลังกัน โดยร่วมมือกับนักลงทุนภายนอก เพื่อแย่งชิงอำนาจการบริหาร
ดังนั้น หากต้องการปกป้องบริษัทเอาไว้ 
และทำให้ธุรกิจดำเนินการได้อย่างราบรื่น
รวมถึงเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ที่จะเอาเงินทุนมาอัดฉีดให้กับบริษัทในอนาคต
ว่าผู้นำธุรกิจ มีอำนาจบริหารอย่างแท้จริง
สำหรับธุรกิจสตาร์ตอัปช่วงตั้งต้นแล้ว 
การให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับ CEO เป็นสิ่งสำคัญ
โดย CEO ต้องถือหุ้นในสัดส่วนอย่างน้อย 60% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
ซึ่ง CEO ที่เป็นคนได้ครอบครองหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท
ต้องจัดการไม่ให้เกิดปัญหาความไม่ลงรอยกัน หรือไม่พอใจ 
ในเรื่องการแบ่งหุ้น ของกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้ง
และทำให้ทุกคนโฟกัสกับผลประโยชน์ของบริษัทโดยรวม
ไม่ใช่ผลประโยชน์ส่วนตัว
เพราะหากจัดการปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้ 
เส้นทางการปั้นธุรกิจให้ประสบความสำเร็จเป็นระดับพันล้าน หมื่นล้าน ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้..
ซึ่งวิธีป้องกันหรือแก้ปัญหา ก็มีหลายวิธี 
อาทิ CEO อาจทำสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนแก่ผู้ร่วมก่อตั้งในรูปแบบอื่นๆ ในอนาคต เช่น สต็อกออปชัน (Stock Option)
หรือถ้าเป็นโลกแห่งความเป็นจริง 
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้ง และ CEO ของ Facebook
ก็เป็นอีกตัวอย่างที่น่าสนใจ 
ทั้งนี้ Facebook ได้ออกหุ้นเป็น 2 ประเภท คือ Class A และ Class B 
โดย Class A สำหรับบุคคลทั่วไป ซึ่ง 1 หุ้น จะเท่ากับ สิทธิ์ออกเสียง 1 คะแนน
ส่วน Class B สำหรับผู้บริหารเท่านั้น ซึ่ง 1 หุ้น จะเท่ากับ สิทธิ์ออกเสียง 10 คะแนน
ดังนั้นถึงแม้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จะถือหุ้นในบริษัท Facebook เป็นสัดส่วนที่ไม่มาก
แต่หุ้นส่วนใหญ่ของเขาเป็นหุ้น Class B 
มาร์ก จึงมีสิทธิ์ออกเสียง และควบคุมอำนาจบริหาร เกินครึ่งของบริษัท 
หรือก็คือ มีอำนาจเกือบเบ็ดเสร็จในบริษัท แม้จะถือครองหุ้นในจำนวนน้อยก็ตาม
ซึ่งวิธีนี้ ก็อาจเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการลดความขัดแย้งเรื่องการแบ่งหุ้น ระหว่างผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ตอัป 
และเพิ่มความมั่นคงให้กับบริษัท ในการดำเนินธุรกิจ
ตราบเท่าที่ CEO ยังมีความสามารถ และมีการตัดสินใจทางธุรกิจที่ดี
สรุปแล้ว เส้นทางการสร้างธุรกิจสตาร์ตอัป ไม่ใช่เรื่องง่าย
มีปัญหาและอุปสรรคให้จัดการอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ไปจนถึงหลังธุรกิจประสบความสำเร็จ
ดังนั้น บรรดาผู้ร่วมก่อตั้ง ต้องรีบจัดการปัญหาภายในให้ได้ ตั้งแต่เนิ่นๆ
เพราะหากทำไม่สำเร็จ ก็เป็นไปได้ยาก ที่ธุรกิจจะสามารถสู้รบกับคู่แข่ง
หรือจัดการกับปัญหาภายนอก ที่พร้อมถาโถมเข้าใส่บริษัทตลอดเวลา ในโลกของธุรกิจ..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.