กรณีศึกษา CRG แบรนด์ร้านอาหารในเครือเซ็นทรัล กับแนวคิดเพื่อความยั่งยืน

กรณีศึกษา CRG แบรนด์ร้านอาหารในเครือเซ็นทรัล กับแนวคิดเพื่อความยั่งยืน

24 พ.ย. 2020
หากเราเป็นเจ้าของเชนธุรกิจร้านอาหารขนาดใหญ่ที่มีแบรนด์มากมายอยู่ในมือ เคยคิดบ้างไหมว่า เราจะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมด้วยวิธีไหน
คำตอบหลายคนอาจบอกว่าบริจาคเมนูอาหารอร่อยๆ
ให้แก่คนยากจนและผู้ด้อยโอกาส ซึ่งก็นับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดี
แต่..จะดีกว่านี้ไหม หากเราทำให้คนยากจนหรือผู้ด้อยโอกาส
สามารถตั้งตัวมีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม
นี้คือแนวคิดล่าสุดของ CRG ธุรกิจร้านอาหารในเครือเซ็นทรัลที่มี 16 แบรนด์ร้านอาหารในมือ
มิสเตอร์ โดนัท, เคเอฟซี, อานตี้ แอนส์, เปปเปอร์ ลันช์, โอโตยะ เป็นต้น
ที่ได้เปลี่ยนแนวคิดการช่วยเหลือสังคมแบบเดิมๆ มาสู่ในรูปแบบยั่งยืน
แล้วคำถามที่หลายคนอาจสงสัยก็คือ
วิธีคิดจนถึงภารกิจการช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมของ CRG แบบใหม่จะเป็นอย่างไร?
รู้หรือไม่..แนวคิดต้นแบบไอเดียนี้มาจากกลุ่มเซ็นทรัลที่ได้ทำโครงการ “เซ็นทรัล ทำ”
ที่ต้องการสร้างงาน สร้างอาชีพ และคุณภาพชีวิตของคนทั่วไปให้ดีขึ้น
พอเป็นแบบนี้ก็เลยทำให้ CRG บริษัทในเครือที่อยู่ในกลุ่มเซ็นทรัล
เริ่มคิดว่าตัวเองมีวิธีไหนบ้างที่จะใช้ความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจอาหาร
มาเปลี่ยนแปลงการทำ CSR การช่วยเหลือสังคมแบบเดิม ๆ
มาสู่การช่วยเหลือสังคมแบบยั่งยืนหรือ CSV
แล้วการช่วยเหลือแบบยั่งยืนของทาง CRG มีแนวคิดอย่างไร
คุณณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG)
ได้แบ่งภาพใหญ่ๆ ออกเป็น 2 ภาพ 2 P
1. PEOPLE เรื่องนี้ CRG จะเน้นเรื่องการศึกษาและการพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพ
เพราะรู้หรือไม่ว่า CRG มีโครงการทวิภาคี ตั้งแต่ปี 2547 ที่ให้ทุนการศึกษาและให้นักศึกษาฝึกงาน โดยได้ร่วมมือกับสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษา 340 แห่งทั่วประเทศ
โดยปัจจุบันมีการรับนักศึกษาใหม่เข้าโครงการ 1,600 คนต่อปี
และมอบทุนการศึกษา 900 ทุน ต่อปี คิดเป็นเงินประมาณ 3,000,000 บาท
ทำให้ตลอดเวลา 16 ปีที่ผ่านมามีผู้จบการศึกษาไปแล้วกว่า 13,000 คน
โดยในจำนวนนี้มีนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว และได้เข้าร่วมทำงานต่อกับ CRG ในตำแหน่งหัวหน้าร้านและพนักงานประจำกว่า 150 คน
โดยตัวเลขนี้ก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี
แม้ CRG จะสำเร็จในโครงการนี้ แต่ก็ยังคงเดินหน้าพัฒนาหลักสูตรการศึกษา
ถึงระดับปริญญาตรี โดยแผนการเรียนการสอนจะปรับให้สอดคล้อง
กับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา
ไปสู่การเป็นพนักงานของบริษัท ซึ่งเป็นวิธีคิดการขยายตัวทางธุรกิจในแนวทางยั่งยืน
2. PLANET ต้องบอกว่าเรื่องนี้กำลังเป็นสิ่งที่ทุกคนบนโลกให้ความสนใจ
เพราะนับวันสิ่งแวดล้อมที่อยู่บนโลกใบนี้กำลังทรุดโทรมในทุกมิติ ยกตัวอย่างเช่น
อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นทุกๆ ปีเฉลี่ย 0.79 องศาเซลเซียส
ขยะในแต่ละปีมีมากกว่า 2,000 ล้านตัน และก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เรื่องนี้เลยทำให้ CRG ต้องการปลูกจิตสำนักพนักงานบริษัทจนถึงคนในสังคม
เพราะธุรกิจหลักของ CRG คือ ธุรกิจอาหารที่สร้างขยะจำนวนมาก
เช่น เศษอาหาร ขวดน้ำ หรือ กระดาษ
แล้วเรื่องนี้ CRG ก็มีวิธีที่น่าสนใจ เมื่อปี 2561
โดยเริ่มจากในองค์กรของตัวเองก่อนผ่านโครงการ CRG Waste Segregation หรือ การจัดการคัดแยกขยะภายในองค์กรสำนักงานใหญ่
เพื่อให้พนักงานได้เรียนรู้การคัดแยกขยะและปลูกจิตสำนึกที่ดี
จากนั้นในปี 2564 บริษัทมีแผนที่จะให้ร้านอาหารในเครือทำการคัดแยกขยะ
อีกทั้งยังมีนโยบายให้มีการใช้หลอดจากวัสดุธรรมชาติ
แทนการใช้หลอดพลาสติก เมื่อสั่งเครื่องดื่ม
ทำให้สามารถลดการใช้หลอดพลาสติกได้ถึง 10 ล้านหลอดในช่วงที่ผ่านมา
จนถึงภารกิจล่าสุดคือในปีนี้ CRG ได้ร่วมกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ หรือ SOS
ในโครงการ "รักษ์อาหาร" โดยใช้แบรนด์โดนัทที่มียอดขายอันดับหนึ่งอย่าง มิสเตอร์ โดนัท โดยมี 18 สาขาที่เข้าร่วมโครงการ
ซึ่งในแต่ละวัน มิสเตอร์ โดนัท จะมีโดนัทเหลือจำนวนหนึ่งที่มีคุณภาพดี โดยก่อนที่จะส่งไปให้เด็กผู้ด้อยโอกาสจะมีการตรวจสอบคุณภาพอาหารภายในห้องแล็บก่อน
โดย CRG คาดว่าภายในสิ้นปี 2563
จะสามารถส่งต่อโดนัทไปยังผู้ด้อยโอกาสมากกว่า 70,000 ชิ้นเลยทีเดียว
นับเป็นวิธีคิดที่น่าสนใจ
เพราะใครจะคิดว่าบริษัทที่ทำธุรกิจอาหาร
จะต้องช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมมากมายถึงเพียงนี้
แต่หากเรามองในเชิงลึกและมุมมองที่กว้างเหมือนอย่าง CRG
เราก็จะรู้ว่า คน, สังคม, สิ่งแวดล้อม และธุรกิจ
มันต้องเดินไปพร้อมๆ กันหมด
เพื่อให้ภาพแห่งความยั่งยืน.. เป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบในที่สุด
Reference
เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จํากัด
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.