ใครคือเจ้าของร้านสินค้าไอที Studio7 และ BaNANA ?

ใครคือเจ้าของร้านสินค้าไอที Studio7 และ BaNANA ?

25 พ.ย. 2020
ช่วงนี้มีความเคลื่อนไหวที่คึกคัก ในตลาดสมาร์ตโฟนเมืองไทย
หลังจากที่มีการเปิดให้จอง iPhone 12 ไปเมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา และจะจำหน่ายจริง 27 พ.ย. นี้
ผลลัพธ์คือมียอดจองถล่มทลาย จนสินค้า iPhone 12 บางรุ่นขาดตลาดไปชั่วขณะ..
ซึ่งวันวางจำหน่ายจริง iPhone 12 ก็อาจได้ผลตอบรับที่ดีไม่แพ้วันจอง
สำหรับธุรกิจในประเทศไทย นอกจาก Apple แล้ว
ร้านค้าที่ขายสินค้าไอที ก็ได้รับอานิสงส์จาก iPhone 12 ไปด้วยไม่มากก็น้อย
และหนึ่งในนั้นก็คือร้านชื่อดังอย่าง Studio7 และ BaNANA
รู้ไหมว่า ทั้ง 2 แบรนด์นี้มีเจ้าของเดียวกันคือ บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7
โดยบริษัทฯ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
และมีมูลค่าบริษัทกว่า 48,000 ล้านบาท
จุดเริ่มต้นของ COM7 เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2539
คุณสุระ คณิตทวีกุล และผู้ร่วมก่อตั้งคนอื่นๆ ได้เปิดร้านค้าปลีกสินค้าไอทีในห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ภายใต้ชื่อร้าน BIG IT
ซึ่งพอดำเนินธุรกิจไปสักระยะ พวกเขามองเห็นโอกาสการเติบโตในตลาดไอที ของเมืองไทย
เนื่องจากในตอนนั้น คนไทยที่สามารถเข้าถึงและใช้งานคอมพิวเตอร์ ยังมีสัดส่วนน้อยมาก
จึงมีศักยภาพการเติบโตได้อีกมาก
ในปี พ.ศ. 2547
พวกเขาจึงขยายไลน์ธุรกิจ ไปทำธุรกิจค้าส่งสินค้าไอที ให้กับร้านค้าทั่วประเทศ
ควบคู่กับการขายปลีกผ่านหน้าร้านของตัวเอง ในห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า
และต่อมา ด้วยแนวโน้มที่คนไทยนิยมบริโภคสินค้าไอทีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงบริษัทฯ เล็งเห็นว่า ธุรกิจค้าปลีก มีข้อดีกว่าการขายส่งหลายอย่าง
บริษัทฯ จึงตัดสินใจปรับนโยบายการดำเนินธุรกิจ
โดยหันมาโฟกัสกับธุรกิจค้าปลีก และเร่งขยายจำนวนร้านค้าปลีกไปยังศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้าต่างๆ ทั่วประเทศ
ปัจจุบัน อาณาจักรธุรกิจของ COM7 ประกอบธุรกิจหลักๆ 3 กลุ่ม ดังนี้
1) ธุรกิจร้านค้าปลีก สินค้าไอทีและมือถือ ได้แก่
-ร้าน BaNANA
จำหน่ายคอมพิวเตอร์แล็บท็อป, คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ, โทรศัพท์มือถือ, แท็บเล็ต, เครื่องเล่นวิดีโอเกม อุปกรณ์ IOT และอื่นๆ โดยมีสาขารวมกันอยู่ 321 สาขาทั่วประเทศ (รวมสาขาแฟรนไชส์)
-ร้าน BKK และ Kingkong Phone
จำหน่ายโทรศัพท์มือถือ, แท็บเล็ต และอุปกรณ์เสริม โดยมี 55 สาขา และ 115 สาขา ตามลำดับ
-ร้าน Studio7 และ U-Store
จำหน่ายสินค้าแบรนด์ของ Apple โดยมีอยู่ 92 สาขา และ 10 สาขา ตามลำดับ
ซึ่ง Studio7 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า Apple ที่มีจำนวนสาขามากสุดในไทย
-ร้าน Samsung Shop จำหน่ายสินค้าแบรนด์ Samsung มี 11 สาขา
-ร้าน Oppo Shop จำนวน 19 สาขา
-ร้าน Vivo Shop จำนวน 3 สาขา
-ร้าน Huawei Shop จำนวน 2 สาขา
-ร้าน Xiaomi Shop จำนวน 1 สาขา
2) ธุรกิจบริการลูกค้าทั่วไป ได้แก่
-ร้าน iCare
ให้บริการรับซ่อมสินค้าแบรนด์ Apple โดยมี 26 สาขา
-ร้าน TRUE by Com7
ซึ่งได้รับสิทธิ์ในการบริหารร้าน TRUE Shop จำนวน 122 สาขา
3) ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร
ให้บริการจัดหาผลิตภัณฑ์ทั้งด้านอุปกรณ์, ระบบ, โปรแกรมและโซลูชัน ให้กับองค์กรธุรกิจ รวมถึงสถาบันการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย และโรงเรียนต่างๆ
สำหรับในภาพรวม
บริษัทฯ มีจำนวนสาขาทั้งหมดรวม 787 สาขา
(หมายเหตุ เป็นข้อมูลจำนวนสาขา ณ สิ้นปี 2562)
ในส่วนของผลประกอบการของบริษัทฯ
บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน)
ปี 2560 มีรายได้ 22,584 ล้านบาท กำไร 609 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 27,982 ล้านบาท กำไร 891 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 33,429 ล้านบาท กำไร 1,216 ล้านบาท
เห็นได้ว่า รายได้และกำไร มีการเติบโตต่อเนื่องทุกปีอย่างชัดเจน
โดยสัดส่วนรายได้ปี 2562 ของ COM7 มาจาก
โทรศัพท์มือถือ 50%
แท็บเล็ต 17%
Accessories 14%
แล็บท็อป 12%
นาฬิกา 4%
เดสก์ท็อป 2%
การบริการ 1%
แล้ว COM7 ที่ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลีก ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 มากน้อยแค่ไหน ?
คำตอบที่ได้อาจทำให้หลายคนแปลกใจ
เพราะบริษัทฯ แทบไม่ได้รับบาดเจ็บจากโรคระบาดดังกล่าวเลย..
โดย COM7 มีอัตราการเติบโตของรายได้ ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ดังนี้
รายได้ในไตรมาสที่ 2 เพิ่มขึ้น 0.1%
รายได้ในไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้น 18.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
และ 9 เดือนแรกของปี 2563
บริษัทฯ มีรายได้ 24,978 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.4%
กำไร 935 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.4% เมื่อเทียบกับ 9 เดือนแรกของปีก่อนหน้า
การเติบโตของ COM7 ซึ่งสวนทางกับธุรกิจร้านค้าปลีกอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคระบาด
มีสาเหตุมาจาก ความต้องการสินค้าไอทีที่สูงขึ้น โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ กับ แท็บเล็ต
เพราะผู้คนจำเป็นต้อง Work From Home และเรียนผ่านออนไลน์
จึงทำให้ยอดขายในช่องทางออนไลน์ของบริษัทฯ ปรับตัวสูงขึ้น
และมาทดแทน รายได้ในส่วนของหน้าร้านค้าปลีก ที่ต้องปิดให้บริการชั่วคราว ในช่วงล็อกดาวน์
สะท้อนถึงรายได้ในไตรมาส 2 ที่ทรงตัว
ซึ่งในช่วงนั้น COM7 ได้ใช้ร้านค้าสาขาเป็นคลังสินค้าชั่วคราว เพื่อกระจายจัดส่งสินค้าให้ลูกค้า ที่สั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์
ส่วนในไตรมาส 3 มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว
ทำให้ธุรกิจกลับมาดำเนินการ และเปิดร้านค้าปลีกได้ตามปกติ
สะท้อนถึงรายได้ในไตรมาส 3 ของบริษัทฯ​ ที่กลับมาเติบโตได้ถึง 18.0%
สรุปแล้ว ความท้าทายในระยะสั้นอย่าง โควิด 19
COM7 สามารถตอบสนองและรับมือกับวิกฤติได้เป็นอย่างดี
แต่สำหรับความท้าทายในระยะยาว โดยเฉพาะเรื่องของ การแข่งขันในตลาด
ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่ง ร้านค้าปลีกสินค้าไอทีแบรนด์อื่นๆ เช่น Advice, Jaymart, J.I.B และ Power Buy เป็นต้น
ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออย่าง AIS, TRUE และ DTAC ซึ่งวางจำหน่ายสินค้าไอทีพร้อมแพ็กเกจพิเศษ
รวมถึงร้านค้าปลีก Apple Store ที่ในไทยมีอยู่ 2 สาขา คือ สาขาไอคอน สยาม และ เซ็นทรัลเวิลด์
ซึ่งทาง COM7 เปิดเผยว่า การเปิดตัวหน้าร้าน Apple Store สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ จะส่งผลกระทบกับสาขาของบริษัทฯ โดยรอบรัศมี 10 กิโลเมตร ประมาณ 10%-20%
ดังนั้น การแข่งขันที่รุนแรงและคู่แข่งจำนวนมาก ในตลาดค้าปลีกสินค้าไอที นี้
จึงเป็นบททดสอบในระยะยาวที่ COM7 ต้องพิสูจน์ว่า
ต่อไปในอนาคต บริษัทฯ จะสามารถเป็นผู้ชนะที่แท้จริงในอุตสาหกรรม ได้หรือไม่..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.