EIC เผยดัชนี “รถติด” ในกรุงเทพฯ เดือนตุลาคม สูงกว่าปีที่แล้ว 4%

EIC เผยดัชนี “รถติด” ในกรุงเทพฯ เดือนตุลาคม สูงกว่าปีที่แล้ว 4%

5 ธ.ค. 2020
EIC วิเคราะห์ข้อมูลดัชนีรถติด ข้อมูลดาวเทียมจาก Google Earth Engine และข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ พบว่า หลังผ่านพ้นช่วงล็อกดาวน์ กรุงเทพฯ กลับมามีปัญหารถติดและมลพิษสูงใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า แม้ยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา
จากข้อมูลดัชนีรถติด Longdo ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสภาพความติดขัดของการจราจรบนท้องถนน พบว่าแม้การจราจรในกรุงเทพฯ ช่วงล็อกดาวน์ (ปลายเดือนมีนาคม ถึง เมษายน 2563) จะเบาบางลงอย่างมีนัยสำคัญถึง -18.9% YOY
แต่การจราจรก็ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังผ่อนคลายล็อกดาวน์ในเดือนกรกฎาคม
โดยล่าสุดดัชนีรถติดในเดือนตุลาคม กลับมาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าเล็กน้อยที่ 3.8% YOY
แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในไทยในเดือนเดียวกัน จะยังไม่กลับมา (-100% YOY)
เช่นเดียวกันกับจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยที่เข้ามาในกรุงเทพฯ ที่ก็ยังน้อยกว่าเดือนเดียวกันในปีก่อนถึง -48.7% YOY
ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ถือได้ว่าเป็นเมืองรถติดสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
จากข้อมูลของ TomTom บริษัทผู้ให้บริการข้อมูลจราจรและแผนที่ ในปี 2562 กรุงเทพฯ ถูกจัดอันดับว่ารถติดสูงเป็นอันดับที่ 11 จากทั้งหมด 416 เมืองทั่วโลก
แม้อันดับโลกของกรุงเทพฯ จะดีขึ้นจากปี 2561 ซึ่งอยู่อันดับที่ 8 แต่ปริมาณรถติดยังคงเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ผลกระทบจากการจราจรที่ติดขัดก่อให้เกิดต้นทุนที่สูญเสียไปทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะต้นทุนด้านเวลา
โดยในปี 2562 คนที่ใช้ถนนในกรุงเทพฯ ต้องใช้เวลาบนท้องถนนเพิ่มจากเวลาที่ใช้เดินทางปกติสูงถึง 207 ชั่วโมง (หรือ 8 วัน 15 ชั่วโมง) ต่อปี
ซึ่งเวลาดังกล่าวเทียบเท่ากับการดูฟุตบอล 138 คู่ติดต่อกัน หรือการดูภาพยนตร์ Harry Potter ทั้ง 7 ภาคจบ 9 รอบติดต่อกัน..
ข้อมูลระดับมลพิษและข้อมูลดาวเทียมบ่งชี้ว่า มลพิษทางอากาศก็กลับมาเป็นปัญหาสำหรับคนกรุงเทพฯ เช่นกัน ซึ่งมีผลกระทบต่อร่างกายและสุขภาพของคนโดยตรง และก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคภัยต่างๆ ในระยะยาวได้
EIC ได้ใช้ข้อมูลดาวเทียมจาก Google Earth Engine ร่วมกับข้อมูลมลพิษทางอากาศระดับพื้นดินจาก OpenAQ มาวิเคราะห์แนวโน้มและการกระจายตัวของมลพิษทางอากาศ ได้แก่ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ และฝุ่นละออง PM ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีข้อค้นพบ ดังนี้
ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) : ส่วนใหญ่ก๊าซ NO2 จะเกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์จากโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน และการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่สมบูรณ์ของรถยนต์
โดยในช่วงล็อกดาวน์ เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 ความหนาแน่นของ NO2 ได้ลดลงต่ำกว่าปีก่อนหน้าถึง -24.7% YOY แต่หลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ความหนาแน่นของ NO2 ในเดือนสิงหาคมก็เพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับปี 2562
โดยค่าความหนาแน่นของ NO2 เฉลี่ยในพื้นที่กรุงเทพฯ มีปริมาณสูงกว่าเกณฑ์ที่ WHO แนะนำที่เฉลี่ยไม่ควรเกิน 40 μg/m3 ต่อปี และเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ พบว่าปริมาณ NO2 ในกรุงเทพฯ สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 และเป็นจังหวัดเดียวที่สูงเกินเกณฑ์แนะนำของ WHO
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากข้อมูลดาวเทียมพบว่าความหนาแน่นของ NO2 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เกิดขึ้นจากในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในมากกว่าพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอก สอดคล้องกับอันดับถนนที่รถติด 10 อันดับแรกของกรุงเทพฯ ในปี 2563 อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เขตชั้นในถึง 9 แห่ง
ฝุ่นละออง PM : สาเหตุของฝุ่นละอองขนาดเล็ก ทั้ง PM2.5 และ PM10 เกิดขึ้นจากแหล่งกำเนิดหลายแหล่ง เช่น การปล่อยควันไอเสียจากรถยนต์ การก่อสร้าง ควันจากการเผาป่า โรงงานอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้า
โดยช่วงล็อกดาวน์ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ความหนาแน่นของฝุ่นละออง PM2.5 และ PM10 ได้ลดลง -15.9% YOY และ -17.6% YOY
และหลังจากช่วงล็อกดาวน์ ความหนาแน่นของของฝุ่นละออง PM10 เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น แม้ว่ายังต่ำกว่าปีก่อนหน้าอยู่ที่ -12.9% YOY และ -13.2% YOY ตามลำดับ แต่ก็ยังสูงกว่าเกณฑ์ที่ WHO แนะนำที่ไม่ควรเกิน 10 μg/m3 และ 20 μg/m3 ต่อปีตามลำดับ
อย่างไรก็ดี ปริมาณความหนาแน่นของฝุ่นละออง PM ยังขึ้นอยู่กับฤดูกาลด้วยเช่นกัน โดยปริมาณฝุ่นละอองมักจะสูงขึ้นในช่วงที่เปลี่ยนผ่านฤดูกาลช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ของปี ในลักษณะเช่นเดียวกับก๊าซ NO2 ทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองเพิ่มขึ้น และทำให้คุณภาพอากาศโดยรวมแย่ลง
ทั้งนี้ หากพิจารณาความหนาแน่นของฝุ่นละอองที่วัดได้จากดาวเทียมพบว่า พื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในมีความหนาแน่นของฝุ่นละอองที่สูงกว่าพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอก คล้ายกันกับลักษณะการกระจายตัวของก๊าซ NO2
ปัญหารถติด-มลพิษในกรุงเทพฯ เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคนกรุงเทพฯ โดยตรง รวมถึงอาจส่งผลทางอ้อมไปยังปัญหาอื่น
สำหรับผลกระทบทางตรง ปัญหาจราจรอาจทำให้เกิดความเครียดจากสภาพการจราจรติดขัด ขณะที่ปัญหามลพิษทางอากาศ มีผลกระทบต่อสุขภาพของคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด
นอกจากนี้ ปัญหารถติด-มลพิษในกรุงเทพฯ ยังส่งผลต่อผลิตภาพแรงงานของคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะงานกลางแจ้งจากปริมาณมลพิษที่อยู่ในระดับสูง และความน่าดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการพำนักระยะยาว (long stay) ในกรุงเทพฯ ซึ่งมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงควรเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาจราจรและมลพิษทางอากาศ ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหา เช่น การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด
การสนับสนุนพาหนะพลังงานสะอาด การจัดวางผังเมืองที่เอื้อต่อการเดินทางเท้า และการออกแบบระบบขนส่งสาธารณะให้มีความครอบคลุมและเชื่อมต่อถึงที่หมาย เพื่อลดการใช้ยานพาหนะหลายต่อ
บทวิเคราะห์จาก EIC - ธนาคารไทยพาณิชย์
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.