ทำไม “อิซากายะ” วัฒนธรรมการกินดื่มของญี่ปุ่น ถึงได้เริ่มเป็นที่นิยมในไทย ?

ทำไม “อิซากายะ” วัฒนธรรมการกินดื่มของญี่ปุ่น ถึงได้เริ่มเป็นที่นิยมในไทย ?

6 ธ.ค. 2020
เย็นวันศุกร์ หรือวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ ไปกิน ดื่มที่ไหนกันดี ?
คำถามยอดฮิตที่เรามักจะเห็นเพื่อนๆ ถามกันตามประสากลุ่มคนทำงาน เป็นปกติ
แล้วถ้าให้ลองนึกว่า ร้านอาหารไหนบ้างที่สะดวกต่อการนั่งกิน ดื่ม คุยสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานมากที่สุด ?
คำตอบที่ได้อาจจะเป็น การเน้นอาหารที่หลากหลาย
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ราคาไม่แพง สามารถสั่งดื่มได้จำนวนเยอะๆ
หรือสามารถส่งเสียงดังๆ ได้ แบบไม่รบกวนคนอื่น..
ซึ่งคำตอบเหล่านี้ เราสามารถพบทุกอย่างได้ในร้านอาหารนั่งดื่มสไตล์ญี่ปุ่น ในรูปแบบของ “อิซากายะ”
ก่อนอื่น มาดูตัวเลขร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ว่ามีอัตราการเติบโตแค่ไหน
หากอ้างอิงข้อมูลจากสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และ เจโทร
ในปี 2019 ประเทศไทยมีจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่น อยู่ 3,637 สาขา เติบโตขึ้น 21% จากปีก่อน
โดยประเภทร้านอาหารญี่ปุ่นที่ครองส่วนแบ่งอันดับ 1 คือ ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น จำนวน 829 ร้าน ซึ่งมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 19% จากปีก่อน
ในส่วนของร้านอิซากายะ ครองส่วนแบ่งในอันดับที่ 5 โดยมีจำนวน 283 ร้าน เติบโต 15% จากปีก่อน
คงไม่น่าแปลกใจที่ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นนั้นมีอัตราการเติบโตที่ดี
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ทำไมธุรกิจร้านอาหารที่มีความเฉพาะตัวอย่าง “อิซากายะ” ขยายตัวได้ดีในประเทศไทย ?
อิซากายะ กำเนิดขึ้นมาในยุคก่อนสมัยเมจิในช่วงปี ค.ศ. 1868 ซึ่งในช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่ประเทศญี่ปุ่นยกเลิกระบบโชกุน และถ้าเทียบช่วงเวลากับประเทศไทย ก็คือปีที่ รัชกาลที่ 4 สวรรคต และรัชกาลที่ 5 ได้ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ
ต่อมารูปแบบของร้านอิซากายะ ได้ถูกพัฒนาอย่างเต็มที่ก็ในช่วงปี 1980 หรือจะเรียกว่า เริ่มเข้าสู่ยุคสมัยใหม่แล้วก็ว่าได้
ในปัจจุบันนี้ อิซากายะ คือสถานที่รับประทานอาหารที่ให้รสชาติแห่งความเพลิดเพลิน โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักคือพนักงานบริษัท
โดยอาหารแต่ละจานจะไม่เน้นที่ปริมาณ แต่จะเน้นให้ลูกค้ามีการสั่งอาหารที่หลากหลาย และกินคู่กับเบียร์
หนึ่งในวัฒนธรรมที่น่าสนใจมากของร้านอิซากายะในประเทศญี่ปุ่น
คือ จะมีอาหารที่ไม่ได้สั่ง แต่ดันถูกนำมาเสิร์ฟที่โต๊ะของลูกค้า ซึ่งเรียกว่า “โอโตชิ”
พูดง่ายๆ ก็คือ การเสิร์ฟถั่วแระญี่ปุ่น หรือ เต้าหู้เย็น ที่ดูเหมือนจะให้ฟรี แต่กลับกัน ลูกค้าจะต้องชำระเงินค่าโอโตชิ ในตอนท้ายอย่างเลี่ยงไม่ได้..
ซึ่งวัฒนธรรมนี้ เรายังไม่ค่อยพบเห็นกับร้านอิซากายะภายในประเทศไทยเท่าไร
ส่วนวัฒนธรรมการดื่มของชาวญี่ปุ่นนั้นไม่ซับซ้อน โดยที่เบียร์สด จะต้องเป็นสิ่งเริ่มต้นสำหรับการดื่ม เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ทุกๆ ครั้งที่เราเข้าไปในร้านอาหารประเภท อิซากายะ จะพบแบรนด์เบียร์สดจากญี่ปุ่น
รวมถึงการสูบบุหรี่ภายในร้าน ก็ยังเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่เป็นเรื่องปกติมากๆ ของชาวญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ตัวรูปแบบของร้านอิซากายะ ยังสะท้อนถึงหลักและวิธีการผ่อนคลายความเครียด จากปัจจัยสภาพแวดล้อมเบื้องต้น ได้อีกด้วย
อ้างอิงจากโรงพยาบาลมนารมย์
-การผ่อนคลายด้วยรูปร่าง โดยของใช้และการออกแบบจะมีลักษณะโค้งมน
ส่วนเรื่องของโทนสี และแสง ที่มีการใช้โทนสีอ่อน ไม่สว่างมากเกินไป เปรียบเสมือนกับการดีไซน์ที่เป็นโทนอบอุ่น หรือ ลักษณะแสงไฟสีเหลืองขุ่นจากโคมไฟกระดาษ
รูปแบบของการใช้โต๊ะไม้สีเข้ม และเสื่อทาทามิ ที่ให้ความรู้สึกแปลกใหม่ แต่เสมือนว่านั่งดื่มอยู่ที่บ้านกับเพื่อนฝูง
-การผ่อนคลายจากการได้ยินเสียงดนตรีที่ไม่มีเนื้อร้อง
เพราะร้านอิซากายะเหล่านี้ ไม่มีการนำดนตรีสดมาเล่น และจะเปิดเพียงแค่เพลงภาษาญี่ปุ่นเบาๆ เน้นการพูดคุยซะมากกว่า
ต่อมาคือจุดเด่นในเรื่องของ วัฒนธรรมของความไม่รีบร้อน ในเวลาพักผ่อนของคนญี่ปุ่นกับร้านอาหารนั่งดื่มอิซากายะ
การเสิร์ฟอาหารแต่ละจาน จะไม่ได้เป็นการเสิร์ฟอย่างรวดเร็ว มีช่วงเวลาที่ลูกค้าอาจต้องรอในแต่ละจาน
แต่กลับกัน ถ้าเป็นเรื่องของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะเน้นความรวดเร็วในการเสิร์ฟ
ส่วนพนักงานรับออเดอร์เอง ก็จะไม่มีการเร่งรีบกับลูกค้า
ทำให้ลูกค้าสามารถนั่งดื่มได้ยาวๆ ตามมาตรฐานการบริการในสไตล์ญี่ปุ่น
สุดท้ายนี้ ร้านอิซากายะ ยังคงถูกพูดถึงในแง่ของการเป็น “ตัวเลือกสุดท้าย”
ตัวเลือกสุดท้ายในที่นี้ก็มาจาก ความง่าย สะดวกสบาย ราคาเป็นมิตร และคอนเซปต์ของร้านที่ ไม่ว่าเราจะไปนั่งกิน ดื่ม ที่ร้านอิซากายะที่ไหน ก็จะมีสไตล์ที่เหมือนกันแทบจะทั้งหมด
สิ่งเหล่านี้ดึงดูดให้กลุ่มคนที่ต้องการสังสรรค์แต่เลือกสถานที่ไม่ถูก นึกถึงร้านสไตล์อิซากายะ
และตัดสินใจมาใช้บริการกันนั่นเอง
ก็น่าจับตามองกันว่า ต่อไปธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นอิซากายะ ในเมืองไทย
จะมีแนวโน้มเติบโต และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน ในอนาคต..
อ้างอิง :
-https://japanology.org/…/beyond-pub-closer-look-japans-iza…/
-https://matcha-jp.com/th/3541
-สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (https://ismed.or.th/SPR291062.php)
-http://ithesis-ir.su.ac.th/…/…/123456789/1890/1/59156318.pdf
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.