ในปี 2563 คนไทย หย่ากันลดลง เพราะพิษโควิด จึงทนอยู่ด้วยกันไปก่อน

ในปี 2563 คนไทย หย่ากันลดลง เพราะพิษโควิด จึงทนอยู่ด้วยกันไปก่อน

13 ม.ค. 2021
บริษัทจัดหาคู่ Bangkok Matching ได้ติดตามสภาวการณ์การหาคู่ การหย่าร้าง การสมรส ทั้งในไทยและในต่างประเทศ และพบว่าในประเทศไทย ปี 2563 ที่เผชิญกับสถานการณ์โควิด 19
จากตัวเลขสถิติจากกรมการปกครอง ภาพรวมของสถิติการหย่าของทั้งประเทศ
ลดลงราว 6% และ สถิติการสมรส ของทั้งประเทศ ก็ลดลงถึง 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ซึ่งเมื่อมาดูเฉพาะจังหวัดกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่มีประชากรมากสุดถึงประมาณ 5.6 ล้านคน
และเป็นเมืองที่มีคนแต่งงาน และหย่ามากที่สุดในประเทศไทยแล้ว พบว่า
สถิติการหย่าในกรุงเทพฯ ลดลงราว 10%
และสถิติการสมรส ก็ลดลงถึง 22% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ซึ่งจากการวิเคราะห์ของ Bangkok Matching มองว่า ตัวเลขสถิติการหย่าที่ลดลงนั้น จริงๆ แล้ว ส่วนหนึ่งอาจไม่ได้หมายความว่า คู่ชีวิตไม่ได้มีปัญหา
แต่อาจเป็นไปได้ว่า ด้วยสถานการณ์โควิด ซึ่งส่งผลกระทบในด้านต่างๆ รวมถึงการเงิน และการต้องหาที่พักอาศัยใหม่
ทำให้คู่รัก อาจเลือกที่จะอดทนในชีวิตสมรสต่อไปก่อน ยังไม่พร้อมจะแยกบ้าน
และยังไม่พร้อมที่จะเริ่มทำเรื่องหย่า ณ ตอนนี้
รวมถึงบางส่วน อาจจะมาจากวัฒนธรรมการอดทน อดกลั้นในชีวิตคู่
และสำหรับยอดคู่แต่งงานที่ลดลง ก็อาจเป็นไปได้ว่า ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะคู่รักจำนวนมากได้เลื่อนงานแต่งงานออกไป หรือยกเลิกไปก่อนนั่นเอง
อีกทั้งคนโสดบางส่วน อาจจะชะลอการศึกษาดูใจ ทำความรู้จักกันไปบ้าง ในช่วงโควิด
ทำให้จำนวนที่จะพัฒนาไปถึงขั้นแต่งงานในปี 2563 ลดลง ก็เป็นไปได้เช่นกัน
สอดคล้องกับในประเทศอเมริกา ที่ Bloomberg รายงานว่า
ในครึ่งปีแรกของปี 2563 ช่วงโควิดระบาดใหม่ๆ ในประเทศอเมริกา ดูเหมือนยอดการหย่าในประเทศอเมริกามีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น
แต่พอปลายปี กลับพบว่ายอดรวมการหย่ากลับลดลง รวมถึงยอดคู่แต่งงานก็ลดลงด้วยเช่นกัน
ซึ่งสถาบันวิจัยด้านประชากรและครอบครัว Bowling Green State University’s Center สำรวจและพบว่า ยอดการหย่าที่ลดลงในปี 2563 ไม่ได้แปลว่า คู่ชีวิตในอเมริกาไม่ได้มีปัญหา
แต่อาจเป็นไปได้ว่า ด้วยสภาวะโควิด ที่ส่งผลกระทบในด้านต่างๆ รวมถึงการเงิน และการหาที่พักอาศัยใหม่ เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี สถิติการหย่า ไม่ได้มีแนวโน้มลดลงทุกประเทศ ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เช่น วัฒนธรรม และความเข้มงวดของมาตรการล็อกดาวน์ ของแต่ละประเทศ
อย่างในประเทศจีน อังกฤษ และสวีเดน BBC รายงานว่า
การล็อกดาวน์ในช่วงโควิด ทำให้คู่ชีวิตต้องใช้เวลาด้วยกันแทบจะตลอดเวลา จนเกิดความอึดอัดเกินไป ส่งผลให้สถานการณ์การหย่าพุ่งสูงขึ้น
นอกจากนี้ ในประเทศญี่ปุ่น และประเทศที่ชายเป็นใหญ่ในครอบครัวอย่าง ฮ่องกง และเกาหลีใต้
มีรายงานการร้องเรียน เรื่องการใช้กำลังในบ้านของสามีและภรรยา ในช่วงล็อกดาวน์พุ่งสูงมาก
โดยในประเทศญี่ปุ่น ได้รับการร้องเรียนมากเป็นกว่าเท่าตัว แค่ในเดือนเมษายน 2563 เท่านั้น
แต่กลับพบว่า สถิติการหย่าในญี่ปุ่นระหว่าง เดือนมกราคม - มิถุนายน 2563 กลับลดลงราว 9.8%
ในกรณีประเทศญี่ปุ่น Bangkok Matching วิเคราะห์ว่า อัตราการหย่าที่ลดลง ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์โควิด ที่ทำให้การเลิกกัน หย่าขาดจากกัน เป็นไปได้โดยลำบาก
และอีกส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของผู้หญิงในประเทศนั้นเอง ที่อาจจะถือหลักอดทน อดกลั้น ตามวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ปลูกฝังกันมา
ทั้งนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่เราไม่ควรมองข้ามไปคือ โควิดไม่ได้ส่งผลร้ายต่อความสัมพันธ์แง่เดียว
ในทางกลับกัน Bangkok Matching คิดว่า คู่ที่รอดจากความกดดันต่างๆ ในช่วงโควิดมาได้นี้
ก็น่าจะมีแนวโน้มว่า ความสัมพันธ์จะแข็งแรงขึ้นกว่าเดิม รักกันมากกว่าเดิม ผูกพันกันมากกว่าเดิม จากการใช้เวลาด้วยกัน เป็นกำลังใจให้กันและกัน
-----------------------
บทวิเคราะห์โดย Bangkok Matching
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.