ซีลีโกะ แบรนด์ขนมสาหร่าย 800 ล้าน

ซีลีโกะ แบรนด์ขนมสาหร่าย 800 ล้าน

23 ม.ค. 2021
เวลาพูดถึงขนมสาหร่ายแบรนด์ไทย คนส่วนใหญ่มักนึกถึง เถ้าแก่น้อย
แต่รู้ไหมว่า มีอีกแบรนด์ที่แอบซ่อนอยู่ในความทรงจำวัยเด็กของเรา และเกิดก่อน เถ้าแก่น้อย เสียอีก
นั่นคือ “ซีลีโกะ” แบรนด์ขนมสาหร่ายอบ ที่มาพร้อมกับโลโก้รูป นางเงือกน้อย..
โดยเจ้าของ ซีลีโกะ คือบริษัท แคปปิตัล เทรดดิ้ง จำกัด
ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ STC Group
บริษัท แคปปิตัล เทรดดิ้ง จำกัด
ปี 2561 มีรายได้ 890 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 836 ล้านบาท
เห็นได้ว่า บริษัทมีรายได้หลัก 800 ล้านบาทต่อปี
สรุปแล้ว นางเงือกน้อย ก็ทำรายได้ ได้ไม่น้อยหน้าแบรนด์ขนมเจ้าดังอื่นๆ เลย
ทั้งนี้ STC Group เป็นกลุ่มบริษัท ที่ดำเนินอยู่ 8 กลุ่มธุรกิจ
ได้แก่ ธุรกิจข้าว, มันสำปะหลัง, การขนส่งสินค้า, การค้า, บรรจุภัณฑ์, โรงแรมและรีสอร์ท, ไม้สับ, และธุรกิจร่วมทุน
รายได้หลักๆ ของ STC Group จะมาจากธุรกิจส่งออกข้าว
ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทในเครืออย่าง บริษัท นครหลวงค้าข้าว หนึ่งในผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของประเทศไทย
แล้วทำไม บริษัทส่งออกข้าว ถึงได้มาทำแบรนด์ขนมสาหร่าย ?
จุดเริ่มต้นของเรื่อง เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2536
ที่มีการก่อตั้งบริษัท แคปปิตัล เทรดดิ้ง ขึ้นมาเพื่อดำเนินธุรกิจด้านการตลาด (Marketing Arms)
และเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ของ STC Group
ในตอนนั้นกลุ่มบริษัท ได้ไปร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่น เพื่อทำขนมอาราเล่ ซึ่งเป็นขนมญี่ปุ่น ที่ทำมาจากแป้งข้าวเหนียวอบกรอบ แล้วพันด้วยสาหร่าย
โดยในกระบวนการผลิตขนมอาราเล่นั้น จะพบว่ามีเศษสาหร่าย เหลือทิ้งอยู่เป็นจำนวนมาก
คุณวัลลภ พิชญ์พงศา กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตัล เทรดดิ้ง
จึงถามตัวเองว่า จะทำอย่างไรดี จึงจะเพิ่ม Value ให้กับเศษสาหร่ายเหล่านี้ได้
บวกกับ คุณวัลลภ อยากลองทำอะไรใหม่ๆ เลยต้องการฉีกแนวจากธุรกิจเดิมๆ ที่ทำอยู่
และนั่นเอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียในการเอาสาหร่ายมาปรุงรส แล้วแพ็กเป็นขนมขาย
“ซีลีโกะ” ได้เปิดตัวครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537
ซึ่งถือเป็นแบรนด์ขนมสาหร่ายเจ้าแรกๆ ของเมืองไทย
โดยชื่อ ซีลีโกะ มาจากการรวมคำ 2 คำ คือ
“Select” ที่หมายถึง การเลือกสรรสิ่งดีๆ ให้กับผู้บริโภค
และ “โกะ” เพื่อสื่อถึงความเป็นญี่ปุ่น
ซีลีโกะ มีจุดยืนของแบรนด์ที่ชัดเจน คือ ต้องการเป็นขนมทานเล่น ที่มีประโยชน์
ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ จึงเป็นสาหร่ายอบ ที่ไม่มีน้ำมันในกระบวนการผลิต และจะไม่ใส่ผงชูรส
แม้แต่ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ออกมาในภายหลัง เช่น ขนมสาหร่าย ที่โรยหน้าทอปปิง อย่างปลากรอบ
ก็ไม่ใช่เพื่อเพิ่มรสชาติอย่างเดียว แต่ต้องการเพิ่มสารอาหารด้วย
อย่างไรก็ดี เส้นทางธุรกิจของซีลีโกะ ในช่วงแรกๆ ก็เจอความท้าทายเหมือนกับทุกธุรกิจที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาใหม่ ทั้งจากปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก
ปัจจัยภายใน คือ บริษัทไม่มีประสบการณ์ทำธุรกิจ ที่ขายสินค้าให้กับผู้บริโภครายย่อยมาก่อน
ในธุรกิจส่งออกข้าว ที่กลุ่มบริษัทมีความชำนาญ
จะเป็นการส่งออกสินค้าล็อตใหญ่ๆ จึงไม่จำเป็นต้องทำเรื่องของการตลาดในประเทศที่ส่งออก
กลับกัน ธุรกิจที่ต้องขายสินค้าให้กับผู้บริโภครายย่อยโดยตรง อย่างสาหร่ายซีลีโกะ
จะมีรายละเอียดของการทำตลาดที่มากกว่า ทั้งเรื่องการวางแผนการตลาด การสร้างแบรนด์ การจัดโปรโมชัน การผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงการบริหารช่องทางจำหน่าย เป็นต้น
บริษัทจึงต้องเริ่มเรียนรู้ และปรับกลยุทธ์ใหม่ทั้งหมด
ส่วนปัจจัยภายนอก คือ ในสมัยก่อน คนทั่วไปมักจะนำสาหร่ายไปทานคู่กับข้าว ไม่มีใครเอาสาหร่ายไปทำเป็นขนมทานเล่น
ด้วยความที่ ซีลีโกะ เป็นเจ้าแรกๆ ในตลาด
จึงต้องใช้เวลาพอสมควร เพื่อสร้างการรับรู้ของผลิตภัณฑ์ และทำให้ผู้โภคมีพฤติกรรม หันมาทานสาหร่ายเป็นขนมกันมากขึ้น
โดยช่วงแรกๆ บริษัทได้นำซีลีโกะ ไปเสนอขายตามร้านค้าต่างๆ เช่น ยี่ปั๊ว
เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสได้ลิ้มลอง
ซึ่งก็มีคนบางกลุ่มที่ชอบอะไรใหม่ๆ เกิดอยากลองซื้อมาทาน แล้วติดใจในรสชาติ
จึงกลับมาซื้อซ้ำ และบอกปากต่อปากให้กับเพื่อนๆ
นอกจากนี้ บริษัทยังได้นำซีลีโกะ ไปออกสื่อต่างๆ เช่น ลงโฆษณาบนทีวี ในช่วงเช้าที่มีการ์ตูนฉาย
เพื่อสร้างการรับรู้ในแบรนด์ ให้กับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง
ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักๆ ของซีลีโกะ ก็จะมี 2 กลุ่ม คือ
1) กลุ่มเด็ก ที่ชอบทานขนม
อีกทั้ง ซีลีโกะ ยังมีจุดเด่นในเรื่องของการเป็น ขนมเพื่อสุขภาพ ที่มีแคลอรีและไขมันต่ำ ไม่ใส่ผงชูรส
แบรนด์จึงได้อานิสงส์ จากโรงเรียนบางแห่งที่ต้องการนำขนมที่มีประโยชน์ ไปวางจำหน่ายให้กับเด็กๆ ในโรงเรียน
2) กลุ่มวัยทำงาน หรือ ครอบครัว ที่ต้องการซื้อขนมที่มีประโยชน์ ให้กับเด็กในบ้าน
ปัจจุบัน บริษัทมีสินค้าภายใต้แบรนด์ซีลีโกะ กว่า 20 SKU อาทิ
สาหร่ายอบกรอบชนิดแผ่น, สาหร่ายอบกรอบ โรยเกล็ด, สาหร่ายม้วนอบกรอบ, สาหร่ายม้วนข้าวแท่งอบกรอบ
แล้วตลาดสาหร่าย ในประเทศไทย มีมูลค่ามากแค่ไหน ?
ในปี 2562 ตลาดสาหร่ายเมืองไทย มีมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท
แบ่งเป็นสาหร่ายทอด 2,000 ล้านบาท และ สาหร่ายอบ 1,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ตลาดสาหร่ายในไทย เริ่มส่งสัญญาณอิ่มตัวแล้ว
ซีลีโกะ จึงต้องแสวงหาการเติบโตในตลาดต่างประเทศ
ด้วยการส่งออกสินค้าไปประเทศในเอเชีย, อเมริกา และยุโรป
โดยเฉพาะการนำสาหร่ายไปรุกตลาดจีน เพราะจีนเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และมีการบริโภคสาหร่ายสูง
เหมือนอย่าง เถ้าแก่น้อย ที่บุกตลาดในจีน และประสบความสำเร็จอย่างมาก
ถึงแม้วันนี้ นางเงือกน้อย ซีลีโกะ จะยังใหญ่ไม่เท่า เถ้าแก่น้อย ที่มีรายได้ 5,297 ล้านบาท ในปี 2562 ที่ผ่านมา
แต่ถ้าพูดถึงความเป็นสาหร่ายในตำนาน และความอร่อย
เงือกน้อย ซีลีโกะ ก็คงไม่น้อยหน้าใครอย่างแน่นอน..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.