คนไทยสูบบุหรี่น้อยลง แต่ “การยาสูบแห่งประเทศไทย” กลับมีรายได้เพิ่มขึ้น ?

คนไทยสูบบุหรี่น้อยลง แต่ “การยาสูบแห่งประเทศไทย” กลับมีรายได้เพิ่มขึ้น ?

5 มิ.ย. 2019
เชื่อหรือไม่ว่า ? เวลานี้คนไทยสูบบุหรี่น้อยลงกว่าในอดีต
จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในปี พ.ศ. 2534 คนไทยที่สูบบุหรี่มีจำนวน 12.3 ล้านคน
แต่ข้อมูลล่าสุดในปี พ.ศ. 2560 คนไทยที่สูบบุหรี่เหลืออยู่ที่ 10.7 ล้านคน
เหตุผลมาจากการเลิกสูบบุหรี่ ตามเทรนด์รักสุขภาพ รวมไปถึงคนที่หันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น
ปรากฏการณ์นี้ได้ทำให้ยอดขายบุหรี่ในประเทศไทยลดน้อยลงเช่นกันจากในปี พ.ศ. 2558 ยอดขายบุหรี่ของการยาสูบฯ อยู่ที่ 30,836 ล้านมวน
และในปี พ.ศ. 2559 ยอดขายเหลืออยู่ที่ 28,221 ล้านมวน
มีการประเมินว่าในปี 2560 ยอดขายบุหรี่ในประเทศของการยาสูบฯ อยู่ที่ประมาณ 25,000 ล้านม้วน
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ หลายคนคงคิดว่าคนที่ได้ผลกระทบจากการสูบบุหรี่ของคนไทยที่น้อยลงก็คือ รัฐวิสาหกิจ อย่าง การยาสูบแห่งประเทศไทย
เพราะเมื่อลูกค้าน้อยลง รายได้ก็น่าจะลดน้อยลงตามไปด้วย เพียงแต่ในความเป็นจริงธุรกิจนี้รายได้กลับไม่ได้มีเส้นกราฟรายได้ที่ต่ำลง
ตรงกันข้าม เพราะวันนี้รายได้และกำไรของ การยาสูบแห่งประเทศไทย กลับยังเติบโตต่อเนื่อง ในวันที่คนไทยสูบบุหรี่ลดน้อยลง
ปี 2559 รายได้ 65,237 ล้านบาท กำไร 8,861 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 68,175 ล้านบาท กำไร 9,343 ล้านบาท
เหตุผลที่ทำให้รายได้เพิ่มขึ้น มาจากวิธีคิดของ การยาสูบแห่งประเทศไทย เพราะ เมื่อลูกค้าตัวเองลดน้อยลง ก็เลือกเพิ่มราคาขายด้วยการขึ้นภาษีสรรพสามิต ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2559
และทำให้ราคาขายบุหรี่ทุกยี่ห้อปรับขึ้นหมด อาทิเช่น sms จากเดิมราคา 51 บาท เปลี่ยนเป็น 60 บาท หรือ กรองทิพย์ จากเดิมราคา 86 บาท ปรับขึ้นมาเป็น 90 - 95 บาท
แม้ช่วงที่ผ่านมาจะมีบุหรี่ต่างประเทศเลือกจะใช้ ดัมพ์ราคาขายมาแข่งขันในระดับราคา 60 -70 บาท
แต่ก็ไม่ส่งผลให้รายได้ การยาสูบแห่งประเทศไทย มีรายได้ลดน้อยลง
และเมื่อผลลัพธ์คือรายได้ที่ยังเพิ่มขึ้น ทำให้ กรมสรรพสามิต ประกาศเตรียมขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่จากเดิม 20% เป็น 40% ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม ปีหน้า
และทุกครั้งที่มีการขึ้นราคาขายบุหรี่ของ การยาสูบฯ จะระบุเหตุผลไว้ในรายงานประจำปีว่า ต้องการลดจำนวนการสูบบุหรี่ให้น้อยลงพร้อมกับสกัดกั้นสิงห์อมควันหน้าใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจทักท้วงว่าก็ “เลิกผลิต” ไปเลย ไม่จำเป็นต้องขึ้นราคาบุหรี่ให้ยุ่งยาก แต่หากทำเช่นนั้นรายได้ของรัฐบาลก็จะหายไป และจะมีแต่บุหรี่นอกที่วางขายในตลาด
ซึ่งในแต่ละปีการยาสูบฯ นำรายได้ส่งให้รัฐบาลปีละ 60,000 ล้านบาท
จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้การยาสูบฯ เลิกผลิตบุหรี่ เพราะนี้คืออีกหนึ่งแหล่งรายได้หลักของรัฐบาล
สิ่งที่เป็นไปได้คือตัวเราเอง “เลิกสูบบุหรี่” ซึ่งเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าจะห้ามไม่ให้เกิดการผลิต
--------------------------------------------------- 
Reference : สํานักงานสถิติแห่งชาติ, รายการประจำปี 2559 - 2560 การยาสูบแห่งประเทศไทย, เรื่องเล่าเช้านี้
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.