กลยุทธ์การตลาด “เกอิชา” การใช้ศิลปะการเข้าถึงลูกค้า แบบนางโลมญี่ปุ่นชั้นสูง

กลยุทธ์การตลาด “เกอิชา” การใช้ศิลปะการเข้าถึงลูกค้า แบบนางโลมญี่ปุ่นชั้นสูง

29 เม.ย. 2021
“เกอิ (Gei ‘芸’)” ที่แปลว่า ศิลปะ
“ชา (Sha ‘者’)” ที่แปลว่า คน
เมื่อนำมาประสมกัน จึงเกิดเป็นคำว่า “เกอิชา (Geisha ‘芸者’)” ที่แปลว่า บุคคลที่สามารถถ่ายทอดศิลปะ
โดยเกอิชาจะมีการแต่งกายที่ดึงความเป็นกลิ่นอายของประเทศญี่ปุ่นได้อย่างชัดเจน เช่น การสวมชุดกิโมโน, การผูกโอบิในขนาดเล็กที่สวยงาม, การสวมถุงเท้า และรองเท้าเกี๊ยะที่สูงมาก
รวมถึงความประณีตในการแต่งทรงผมและการแต่งหน้า
จุดเริ่มต้นของเส้นทางอาชีพเกอิชาในประเทศญี่ปุ่น
เริ่มมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 โดยมีต้นกำเนิดมาจาก อาชีพหนึ่งที่เรียกว่า “โอโดริโกะ (踊り子)” หรือ “นางรำสาว” พวกเธอจะถูกฝึกฟ้อนรำแบบญี่ปุ่นอย่างเข้มงวด และถูกปฏิบัติด้วยราวกับสิ่งบริสุทธิ์ล้ำค่า
ด้วยจุดประสงค์เพียงเพื่อที่จะถูกจ้างไปปรนเปรอเหล่าซามูไรชั้นสูง ที่เหน็ดเหนื่อยมาจากการสู้รบนั่นเอง
ต่อมาในช่วงปี ค.ศ. 1750 ก็ได้มีหญิงสาวมากความสามารถในการร้องเพลง เล่นดนตรี และร่ายรำ คนหนึ่งในเขตฟุคากาวะ เมืองโตเกียว ที่ชื่อว่า “คิคุยะ”
โดยเธอได้สร้างรายได้ ด้วยการใช้ความสามารถของเธอ เพื่อสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้คนตามร้านอาหาร
และเธอได้เรียกตัวเอง และสิ่งที่เธอทำเป็นอาชีพนี้ว่า “เกอิชา”
ซึ่งต่อมาในศตวรรษที่ 19 อาชีพเกอิชา ก็กลายเป็นอาชีพที่มอบความบันเทิง
ที่รู้จักในวงกว้าง ทั้งชาวญี่ปุ่น และชาวอเมริกัน ที่มาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น
อย่างไรก็ดี หนึ่งในความเข้าใจผิดที่ผู้คนมีต่อเกอิชา คือ การเป็นนางโลมที่ขายบริการทางเพศ
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว นี่คือความเข้าใจผิดอย่างมากเลยทีเดียว
เพราะว่า เกอิชา (Geisha) ในสมัยใหม่ เป็นนางโลมที่มากความสามารถ เปรียบเหมือนกับศิลปินผู้ถ่ายทอดผลงานศิลปะ ผ่านความงดงามทางการแสดงของร่างกาย
กล่าวคือ เกอิชา จะมีความจับต้องได้ยากกว่า และไม่มีการขายบริการทางเพศให้กับลูกค้า
ส่วนถ้าเป็นในเรื่องของนางโลม ที่ขายทั้งศิลปะการแสดง และขายบริการทางเพศด้วย คนญี่ปุ่นจะเรียกว่า
“โออิรัน (Oiran)” แปลว่า โสเภณีขายบริการชั้นสูง หรือ “ยูโจะ (Yujo)” แปลว่า โสเภณีขายบริการทั่วไป
อันที่จริงแล้ว เกอิชา ก็ไม่ได้จำเพาะว่า ต้องเป็นเพศหญิงอย่างเดียว อย่างที่เราเข้าใจกัน
กว่าการที่คนหนึ่งคน จะสามารถประกอบอาชีพเกอิชาที่สมบูรณ์แบบได้ ต้องผ่านการฝึกฝนมาตั้งแต่ยังเด็กเลยด้วยซ้ำ
นั่นก็เป็นเพราะว่า ความสามารถในการแสดงที่หลากหลาย จะต้องถูกฝึกฝน จนฝังเป็นความสามารถประจำตัวของเหล่าเกอิชา
เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการเรียนรู้ ฝึกฝน และปลูกฝังกันตั้งแต่วัยเด็ก
กล่าวคือ เกอิชา จะต้องถ่ายทอดศิลปะ อย่างเช่น การร้องเพลง เต้นรำ เล่นดนตรี เล่นเกม เพื่อสร้างความบันเทิง รวมถึงพิธีการชงชา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของญี่ปุ่นอีกด้วย
หรือก็คือ อาชีพนี้ไม่ใช่ว่าจะเป็นกันได้ง่าย ๆ
ภายใต้ความสวยงาม ที่สร้างรอยยิ้มและความบันเทิง ที่ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจชั้นสูง นักการเมืองชื่อดัง หรือ คนธรรมดา หากได้ลิ้มรสชมการแสดงของนางเกอิชาเหล่านี้ ก็เป็นต้องติดใจ โหยหา อยากกลับมารับชมใหม่ แทบทุกคน
ผลลัพธ์ที่ดีแบบนี้เอง ที่เราสามารถนำมาตกผลึกเป็นกรณีศึกษา
และนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์การตลาดในโลกธุรกิจได้เช่นกัน
โดยกลยุทธ์นี้ เราจะขอนิยามว่า กลยุทธ์การตลาดด้วยการใช้ศิลปะการเข้าถึงลูกค้า และสร้างความประทับใจ แบบนางโลมญี่ปุ่นชั้นสูง “เกอิชา (Geisha)”
กลยุทธ์นี้เป็นอย่างไร ไปดูกัน
1. การสร้างความบันเทิงในการใช้งานให้กับผลิตภัณฑ์
หากเกอิชา เปรียบเสมือน หนึ่งในผลิตภัณฑ์ทางศิลปะ
ความบันเทิงของผลิตภัณฑ์ที่งดงามนี้ ก็เปรียบเหมือน ความสามารถทางการแสดง ร้องเล่น ร่ายรำ ของเหล่าเกอิชา ที่สร้างความประทับใจให้ลูกค้า ที่มาทานอาหาร หรือชมการแสดง ให้มีความรู้สึกสนุกและติดใจ
หากว่าผลิตภัณฑ์ของเรา มีความตรงไปตรงมา และอาจดูไม่น่าสนุก
เราก็ต้องหาวิธีในการเพิ่มความบันเทิง และเสริมคุณค่าให้กับลูกค้า
ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มโคคา-โคล่า ที่เสริมจุดเด่นที่เป็นลูกเล่นด้านความบันเทิง ด้วยการพิมพ์ชื่อเล่นยอดนิยมของบุคคล เพื่อทำให้การส่งมอบกระป๋องโค้กให้กับคนอื่น มีความหมายมากยิ่งขึ้น
หรืออีกตัวอย่างที่ดีในการสร้างความบันเทิง เพื่อดึงดูดความสนใจ
คือ บริการธนาคารผ่านมือถือรูปแบบใหม่ “TMRW” ของธนาคาร UOB ที่มีการเพิ่มลูกเล่นความบันเทิง ด้วยการร่วมมือกับบริษัทสตรีมมิงเพลงอย่าง JOOX ในการสร้างเพลงฮิปฮอปโปรโมต ที่ชื่อว่า “TMRW” จาก 3 ศิลปินแรปเปอร์ชื่อดังอย่าง “LAZYLOXY X OG-ANIC X URBOYTJ”
2. การนำเสนอจะต้องสนุก ตอบโจทย์ เสมือนเข้าไปนั่งในใจและความคิดของลูกค้า
รู้ไหมว่า นอกจากความสามารถในการร้องรำทำเพลงแล้ว เหล่าเกอิชามีวิธีในการมัดใจลูกค้าให้กลับมาชมการแสดงของพวกเธออีกได้อย่างไร ?
คำตอบคือ พวกเธอมีความสามารถใน “การพูดคุยที่สนุก มีเสน่ห์ มีลูกเล่น และไม่น่าเบื่อ”
และระหว่างการพูดคุย พวกเธอยังรู้จักจังหวะการรินชาหรือรินสุรา โดยที่ไม่ขัดตาขัดใจลูกค้าเลย
กล่าวคือ หากเราต้องการที่จะนำเสนอ หรือโฆษณาผลิตภัณฑ์
การนำเสนอจะต้องมีความสนุก ไม่น่าเบื่อ โดยเราอาจจะเพิ่มลูกเล่นในการนำเสนอเข้าไป
แต่เนื้อหาต้องครบ สื่อสารชัดเจน และต้องตอบคำถาม หรือ Pain Point ของลูกค้าให้ได้ โดยที่เขาไม่ต้องกลับมาถามใหม่อีกครั้ง
3. รู้จักความสามารถ และรีดจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ ให้ปรากฏออกมาให้เห็นภายนอก ได้ชัดเจนมากที่สุด
ข้อนี้ อาจจะเรียกได้ว่าสำคัญที่สุด เพราะเราจะไม่มีทางได้ผลลัพธ์ จากการฝึกฝนกลยุทธ์ข้อที่ 1 และ 2 ได้เลย หากการนำเสนอจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ของเราไม่ชัดเจน
นั่นรวมไปถึงเครื่องมือการสื่อสาร เช่น ข้อมูลในป้ายโฆษณา แผ่นพับ หรือแม้กระทั่งในสคริปต์ ที่เหล่านักขายหรือนักแสดงต้องใช้งานสำหรับการสื่อสาร อีกด้วย
แน่นอนว่า ต่อให้เราจ้างศิลปินชื่อดังขนาดไหนมา เพื่อยกระดับความน่าสนใจให้กับผลิตภัณฑ์ของเรา
แต่หากสินค้าไม่มีจุดเด่นที่ชัดเจนเลย ย่อมไม่มีใครอยากดู
เพราะพวกเขาก็ไม่รู้ว่า จะได้อะไรจากการรับชม หรือรับรู้ สิ่งนี้
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เราคงไม่อาจสร้างความบันเทิงที่มีสาระ หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของเราได้เลย หากเราไม่รู้จัก จุดเด่น-จุดด้อย ของผลิตภัณฑ์ให้ดีพอ
และไม่หมั่นฝึกฝนความสามารถในการนำเสนอของเรา
เปรียบเสมือนกับ เหล่าเกอิชาที่รู้ว่าตัวเองมีความถนัดในด้านการร้องรำทำเพลง และฝึกฝนตัวเองอย่างต่อเนื่อง นั่นยังรวมไปถึงเทคนิคของการแต่งหน้า และการแต่งตัว ที่ดึงเอาวัฒนธรรมญี่ปุ่นออกมาได้ชัดเจน
อันที่จริงแล้ว ลักษณะที่สำคัญของผู้ประกอบอาชีพเกอิชา ก็เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จอีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ความตั้งใจจริง ความเพียรพยายามในการฝึกฝน ความรักในวิชาชีพ หมั่นเก็บความรู้ และ เรียนรู้การพัฒนาจากความผิดพลาด เพื่อการเป็นตัวเองที่สมบูรณ์แบบในทุก ๆ วัน
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้ไหมว่า ทุกวันนี้อาชีพ “เกอิชา (Geisha)” ยังคงมีตัวตนอยู่ ถึงแม้ว่าจะเริ่มมีจำนวนที่น้อยลงไปตามกาลเวลา เพราะจุดขายของเหล่าเกอิชา ที่นอกจากความสามารถแล้ว ก็คือ ช่วงเวลาแห่งความเยาว์วัย และเรื่องของจำนวนผู้สืบทอดต่อนั่นเอง
โดยในปัจจุบัน คนญี่ปุ่นจะถือว่า เกอิชา เป็นอาชีพแห่งการแสดงศิลปะอย่างเต็มตัว และยังเป็นการสืบทอด สานต่อศิลปวัฒนธรรมที่ชัดเจนของญี่ปุ่น ที่มีอายุกว่า 270 ปี..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.