กว่าจะเป็น โคคา ร้านสุกี้ระดับตำนาน

กว่าจะเป็น โคคา ร้านสุกี้ระดับตำนาน

19 พ.ค. 2021
กลายเป็นกระแสบนโลกโซเชียลไม่น้อย เมื่อโคคา (COCA) ร้านสุกี้ที่อยู่คู่คนไทยมานานถึง 64 ปี
ออกมาประกาศว่าจะปิดให้บริการ สาขาสยามสแควร์
ซึ่งเป็นสาขาที่เปิดให้บริการมานานถึง 54 ปี จนเป็นสถานที่อันอยู่ในความทรงจำของใครหลาย ๆ คน
อย่างไรก็ตาม แฟนประจำของโคคา ยังสามารถไปใช้บริการสาขาอื่น ๆ ได้ตามปกติ
หรือรอพบกับโคคา สุกี้ โฉมใหม่ เร็ว ๆ นี้ ที่สยาม
ซึ่งจะกลับมาในรูปแบบพ็อปอัป 30 ที่นั่ง จำหน่ายอาหารจานเดี่ยวมากกว่า 30 รายการ รวมถึงสุกี้ ที่เป็นเมนูสร้างชื่อ ​
สำหรับคนรุ่นใหม่ ที่อาจจะเกิดไม่ทัน ยุคที่โคคาฟีเวอร์ ถึงขนาดอยากกินต้องไปเข้าคิว
อาจสงสัยว่า โคคา สุกี้ มีจุดเด่นอะไร ถึงยืนหยัดในสมรภูมิสุกี้ มาได้อย่างยาวนาน
แถมยังเป็นแบรนด์ร้านอาหารในความทรงจำของคนไทย ไม่เสื่อมคลาย
เราจะย้อนวันวาน เพื่อหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2500 หรือ 64 ปีก่อน
แบรนด์โคคา ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยคุณศรีชัย ​และภรรยา คุณปัทมา พันธุ์เพ็ญโสภณ
แต่ก้าวแรกของโคคา ไม่ใช่ร้านสุกี้ แต่เป็นร้านอาหารจีนเล็ก ๆ
ที่ขายบะหมี่เกี๊ยวสูตรจีนกวางตุ้ง และโจ๊ก มีเพียง 20 ที่นั่ง ตั้งอยู่ในซอยเดโช ถนนสุวินทวงศ์
เหตุผลที่ตั้งชื่อว่า​ “โคคา” เพราะอยากได้ชื่อที่ความหมายดีและจำง่าย
ซึ่งคำว่า โคคา มาจากภาษาจีนกลาง ที่ออกเสียงว่า “เคอโคว์” แปลว่า เอร็ดอร่อย
พอสะกดเป็นภาษาอังกฤษว่า COCA ก็ใช้ตัวอักษรเพียงไม่กี่ตัว
ไม่ว่าคนชาติไหนมาเห็นชื่อร้าน ก็อ่านและจำง่าย
หลังจากเปิดให้บริการได้ไม่นาน กิจการไปได้ดี​ จนต้องขยายร้าน
โดยย้ายร้านมาอยู่ที่ซอยทานตะวัน แยกถนนสุรวงศ์ ซึ่งกว้างขวาง สามารถรับลูกค้าได้ถึง 150 ที่นั่ง
แต่แทนที่จะมาในคอนเซปต์แบบเดิม คุณศรีชัยมีไอเดียเปลี่ยนแนวมาขายสุกี้
คำถามคือ ในเมื่อร้านเดิมก็ขายดีอยู่แล้ว จะเปลี่ยนมาขายสุกี้ทำไม ?
เพราะคุณศรีชัยมองว่า โจทย์หินของการขยายร้านอาหารตอนนั้นคือ หาพ่อครัวยาก ราวกับงมเข็มในมหาสมุทร
แถมหาได้แล้ว ก็ไม่ได้มีอะไรการันตีว่า พ่อครัวที่หาได้ จะพร้อมผูกปิ่นโตอยู่กันยาว ๆ
ดังนั้น เพื่อตัดปัญหา คุณศรีชัยเลยมองหาไอเดียร้านอาหาร ที่ไม่จำเป็นต้องง้อพ่อครัว
ส่วนที่เลือกจะมาขายสุกี้แทน เพราะว่าอาหารประเภทสุกี้นั้น ไม่ว่าจะเป็นรสชาติหรือคุณภาพของอาหาร สามารถดูแลเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยพ่อครัว
ที่สำคัญ ยังเป็นอาหารแนวสุขภาพ ที่สามารถกินได้ทุกวัน
โดยคุณศรีชัย ได้สร้างความแปลกใหม่ ด้วยการแทนที่จะเสิร์ฟเหมือนร้านสุกี้เจ้าอื่น ที่มีในตลาด
กลับนำ Pain Point ที่เจอกับตัวมาต่อยอด
สิ่งที่คุณศรีชัยไม่ชอบใจ เวลาไปกินสุกี้คือ ทางร้านมักเสิร์ฟของสดมาเป็นถาด ที่มีทั้งเนื้อสัตว์, เครื่องใน และมีไข่วางอยู่ด้านบน เวลาจะกินต้องตีทุกอย่างเข้าด้วยกัน แล้วเทใส่หม้อ
แทนที่จะให้ลูกค้าได้เลือกว่า อยากกินเนื้อสัตว์ชนิดไหน หรือต้องการกินเครื่องในหรือไม่
ดังนั้น พอมาทำร้านสุกี้ของตัวเอง คุณศรีชัยเลยปรับมาเป็นรูปแบบ À La Carte ที่ลูกค้าสามารถเลือกสั่งวัตถุดิบได้ตามที่ต้องการ ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในจุดเด่นของร้าน
พอเปลี่ยนแนวมาขายสุกี้สไตล์กวางตุ้ง ธุรกิจของโคคาที่ไปได้ดีอยู่แล้ว ก็ยิ่งสดใส
จน 10 ปีต่อมา โคคา ขยายสาขา 2 มายังถนนอังรีดูนังต์ อยู่ใกล้กับสยามสแควร์ ซึ่งตอนนั้นเพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จได้ประมาณ 3 ปี
การขยับขยายครั้งนี้ ไม่เพียงทำให้โคคา สามารถรองรับลูกค้าได้มากขึ้น ถึง 800 ที่นั่ง
​แต่ยังเป็นการขยายฐานลูกค้า จากเดิมที่เน้นกลุ่มผู้ใหญ่ มาสู่กลุ่มวัยรุ่น และวัยทำงานมากขึ้น
หลังจากนั้น จึงเริ่มขยายสาขา ไปตามศูนย์การค้า
นอกจากโคคาจะให้บริการในเรื่องของสุกี้แล้ว ที่โคคายังได้มีการคิดค้นเมนูใหม่ ๆ มาเสริมทัพ
ที่เป็นไฮไลต์ คือ เมนูติ่มซำต้นตำรับสไตล์ฮ่องกง ที่ปรุงโดยเชฟฝีมือดีจากฮ่องกง ซึ่งประจำการอยู่ทุกสาขา
อย่างไรก็ตาม จะสังเกตว่า แม้จะขยายสาขาเข้าไปเสิร์ฟความอร่อย ในศูนย์การค้าก็จริง
แต่โคคา กลับไม่ได้มีปริมาณสาขาที่มากมาย เมื่อเทียบกับเชนสุกี้ยักษ์ใหญ่อย่าง MK
แถมยังมีสาขาในต่างจังหวัดเพียงแห่งเดียว คือ ที่หัวหิน
ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของคุณพิทยา พันธุ์เพ็ญโสภณ ทายาทรุ่นที่ 2 ที่มองว่า ไม่จำเป็นต้องเน้นสาขาเยอะ
แต่ขอเน้นเติบโตไปเรื่อย ๆ แบบมีคุณภาพ
พร้อมกระจายความเสี่ยงให้ธุรกิจ ด้วยการแตกแบรนด์ และขยายธุรกิจไปต่างประเทศ
ปัจจุบันแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอของ โคคาโฮลดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
มี 3 แบรนด์หลัก ๆ ได้แก่
- โคคา ร้านสุกี้สไตล์กวางตุ้ง ปัจจุบันมี 6 สาขาในไทย ได้แก่​ สุรวงศ์, เซ็นทรัลเวิลด์, เมกาบางนา, สุขุมวิท ซอย 39, กรุงเทพกรีฑา, หัวหิน และสาขาในต่างประเทศ ใช้ชื่อว่า COCA Hotpot
- Mango Tree เป็นเชนร้านอาหารไทย ปัจจุบันมี 33 สาขาทั่วโลก
- จิ๊กโก๋ โคคา ร้านขายปาท่องโก๋ ที่มีขายทั้งในร้านโคคา และ​คีออส ตามสถานที่ต่าง ๆ
นอกจากนี้ โคคายังมีการต่อยอดความรู้ด้านอาหาร ไปสู่ธุรกิจอาหารแช่แข็ง
ด้วยการเปิดโรงงาน Coca Foods International สำหรับแปรรูปผลิตภัณฑ์แช่แข็งและบรรจุหีบห่อ
เพื่อจัดส่งไปยังร้านอาหารทุกสาขาในเครือ ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก
มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า ที่ผ่านมาผลประกอบการของ โคคา เป็นอย่างไร
บริษัท โคคาโฮลดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ปี 2560 ทำรายได้ 423 ล้านบาท กำไร 15 ล้านบาท
ปี 2561 ทำรายได้ 442 ล้านบาท กำไร 11 ล้านบาท
ปี 2562 ทำรายได้ 377 ล้านบาท ขาดทุน 5 ล้านบาท
บริษัท โคคา ฟู้ดส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ปี 2560 ทำรายได้ 87 ล้านบาท กำไร 7 แสนบาท
ปี 2561 ทำรายได้ 92 ล้านบาท กำไร 3 ล้านบาท
ปี 2562 ทำรายได้ 98 ล้านบาท กำไร 3 ล้านบาท
จะเห็นว่า ตลอดเส้นทางการสร้างธุรกิจของโคคา ล้วนก้าวไปข้างหน้าอย่างรอบคอบ
จนวันนี้ธุรกิจถูกส่งต่อมาถึงทายาทรุ่นที่ 3 คือ คุณนัฐธารี พันธุ์เพ็ญโสภณ
อีกหนึ่งผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรง ที่พร้อมรับหน้าที่สยายปีกโคคา ให้ไปไกลกว่าเดิม
แต่พอมาเจอวิกฤติโควิด 19 ที่ไม่มีใครคาดคิด ก็ทำให้ต้องปรับกลยุทธ์หลายอย่าง
เพื่อทำทุกวิถีทางให้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ และรักษาตำนานโคคา ให้สืบทอดต่อไปได้
เหมือนอย่างแฮชแท็กที่โคคาประกาศไว้​ ตอนที่ประกาศปิด​สาขาสยามสแควร์ว่า #ตำแหน่งอยู่ไม่นาน ตำนานอยู่ตลอดไป
ปิดท้ายด้วยข้อมูลน่าสนใจ
รู้หรือไม่ว่า คำว่า “สุกี้” ที่คุณศรีชัยนำมาใช้เรียกหม้อไฟสำหรับเมนูสุกี้
มีที่มาจาก​เพลง Sukiyaki ร้องโดย Kyu Sakamoto ซึ่งเป็นเพลงญี่ปุ่นที่ฮิตไปทั่วโลก ในช่วงปี พ.ศ. 2504
โดยเนื้อหาของเพลงไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาหารประเภทสุกี้แต่อย่างใด
แต่เป็นเพลงเศร้า ที่บรรยายถึงชายคนหนึ่งที่ต้องแหงนหน้ามองท้องฟ้า เพื่อกลั้นไม่ให้น้ำตาไหลออกมา
ซึ่งจะว่าไป บทเพลง Sukiyaki ในวันนั้น ก็อาจจะไม่ต่างจากสถานการณ์ร้านอาหารเวลานี้
ที่ทุกคนต้องกัดฟันสู้สุดใจ พร้อมแหงนหน้ามองฟ้า เพื่อกลั้นน้ำตาไม่ให้ไหลออกมา..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.