กรณีศึกษา น้ำปลาพรีเมียม เมกาเชฟ vs หอยเป๋าฮื้อ

กรณีศึกษา น้ำปลาพรีเมียม เมกาเชฟ vs หอยเป๋าฮื้อ

13 ก.ค. 2021
ในขณะที่ตลาดน้ำปลาบ้านเรา ไม่ต่างกับน่านน้ำสีเลือด ที่มีแบรนด์น้ำปลาสารพัดยี่ห้อ ให้เลือกหาซื้อมาคู่ครัว
แต่ถ้าโฟกัสลงมาที่ตลาดน้ำปลาพรีเมียม กลับมีเพียงไม่กี่แบรนด์ ที่สามารถครองใจผู้บริโภค
และแน่นอนว่า สองชื่อในใจ ที่ใครหลายคนนึกถึง คงหนีไม่พ้น “เมกาเชฟ” หรือไม่ก็ “หอยเป๋าฮื้อ”
รู้หรือไม่ว่า น้ำปลาพรีเมียม ที่เอ่ยชื่อมาทั้งสองแบรนด์
ไม่ใช่แบรนด์น้องใหม่ ที่เข้ามาตีตลาดน้ำปลาไทย ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท
แต่ทั้งเมกาเชฟ และหอยเป๋าฮื้อ เป็นแบรนด์ลูก ที่แตกไลน์มาจากแบรนด์น้ำปลาที่คนไทยคุ้นหู
อย่างเมกาเชฟ มีเจ้าของเดียวกับ น้ำปลาตราปลาหมึก
ส่วนหอยเป๋าฮื้อ มีเจ้าของเดียวกับ น้ำปลาตราคนแบกกุ้ง, เสม็ด พลัส, ปลาทิพ และปลาแท้ฉลากทอง
และที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ทั้งสองแบรนด์ เป็นผลผลิตมาจากไอเดียของทายาทรุ่นที่ 3 ของเจ้าของโรงงานน้ำปลา
เริ่มจากน้ำปลาตราเมกาเชฟ ตั้งต้นมาจากไอเดียของคุณภาส นิธิปิติกาญจน์ หลานชายของคุณเทียน นิธิปิติกาญจน์ ผู้ก่อตั้งโรงงานน้ำปลาไทย (ตราปลาหมึก) จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2487 หรือเมื่อ 77 ปีก่อน
โดยหลังจากเรียนจบ ป.ตรี และ ป.โท สาขาการตลาด จากออสเตรเลีย
คุณภาสได้เข้ามาช่วยธุรกิจของครอบครัว ดูแลเรื่องการขาย การตลาด และการส่งออก
หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้ 6 ปี คุณภาสเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมเครื่องปรุงแบรนด์ไทยถึงถูกมองว่าคุณภาพต่ำ และต้องตั้งราคาให้ถูกเข้าไว้ ไม่เหมือนในต่างประเทศ ที่แบรนด์เครื่องปรุง​ อย่างน้ำปลา, ซอสหอยนางรม ยังขายได้ แม้จะตั้งราคาไว้สูง​
จากคำถามในวันนั้น จุดประกายให้คุณภาสคิดการใหญ่ อยากจะปลุกปั้นแบรนด์เครื่องปรุงไทยระดับพรีเมียม
ด้วยการก่อตั้งบริษัท สินวารีพัฒนา จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2546 หรือเมื่อ 18 ปีก่อน
พร้อมปั้นแบรนด์เมกาเชฟ ให้เป็นแบรนด์เครื่องปรุงไทยระดับพรีเมียม ที่ไม่ได้หวังแค่ตีตลาดไทย แต่สามารถวางขายในต่างประเทศ
ขณะที่น้ำปลาตราหอยเป๋าฮื้อ เป็นไอเดียของคุณกวิน ยงสวัสดิกุล หลานชายของคุณบักเอี่ยม แซ่โซว ผู้ก่อตั้งบริษัท อุตสาหกรรมน้ำปลาระยอง จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2497 หรือ 66 ปีมาแล้ว
สร้างชื่อจากโรงงานเล็ก ๆ ใน จ.ระยอง รับจ้างผลิตให้แบรนด์อื่น รวมถึงน้ำปลาตราคนแบกกุ้ง
ซึ่งเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่รับจ้างผลิตจากคนอื่นมา ก่อนจะเข้าซื้อแบรนด์มาบริหารเองในปี พ.ศ. 2550
ด้วยความที่โตมากับธุรกิจน้ำปลา คุณกวิน​มองการณ์ไกลว่า ถ้าหวังจะให้ธุรกิจเติบโตต่อในระยะยาว
การมีแบรนด์ของตัวเองเป็นสิ่งจำเป็น แต่ไหน ๆ จะปั้นแบรนด์ใหม่ทั้งที
แทนที่จะเจาะตลาดน้ำปลาทั่วไป ที่มีหลายแบรนด์เป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภคอยู่แล้ว
แถมยังต้องฟาดฟัน ด้วยกลยุทธ์การหั่นราคา
ไม่สู้ไปหาโอกาสใหม่ ๆ แต่ยังคงแก่นของธุรกิจเดิม อย่างการเจาะตลาดน้ำปลาพรีเมียม
ที่แม้ตลาดนี้จะเล็กกว่าตลาดน้ำปลาทั่ว ๆ ไป แต่การแข่งขันยังไม่สูงมาก​
จึงกลายเป็นที่มาของ​น้ำปลาตรา “หอยเป๋าฮื้อ” ซึ่งวางตำแหน่งสินค้าเป็น น้ำปลาพรีเมียม ตั้งแต่การตั้งชื่อ
ที่สะท้อนถึงความพรีเมียมเหมือนกับภาพลักษณ์ของหอยเป๋าฮื้อ วัตถุดิบเลอค่าที่ใช้ในการประกอบอาหาร
ถามว่า น้ำปลาพรีเมียมต่างกับน้ำปลาทั่วไปอย่างไร
แน่นอนว่า คุณภาพและความพิถีพิถันในกรรมวิธีการหมักต้องเหนือกว่า
อย่างเมกาเชฟ กว่าจะได้รสชาติที่กลมกล่อม ฉีกจากรสชาติน้ำปลาในท้องตลาด
คุณภาสใช้เวลาอยู่ประมาณ 2 ปี ในการทดลองชิมน้ำปลา ทดลองหมัก และปรับสูตรนับพัน ๆ ครั้ง
คัดสรรวัตถุดิบอย่างดี เลือกใช้ปลากะตักชั้นดี ที่ให้โปรตีนสูงถึง 3 กรัมและเกลือทะเล
ไม่ใส่สารปรุงแต่งกลิ่นหรือสารกันบูด และยังมีการควบคุมระดับค่าฮิสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่พบได้ในอาหารทะเลหลายชนิด รวมถึงพืชและสัตว์ที่ผ่านการหมักดอง ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ppm เท่านั้น
ทำให้รสชาติอาหารที่ปรุงออกมาจากน้ำปลาของเมกาเชฟ กลมกล่อมและสามารถวางใจในคุณภาพ
ขณะที่น้ำปลาตรา “หอยเป๋าฮื้อ” แม้จะไม่ได้ใช้วัตถุดิบเลอค่าอย่าง หอยเป๋าฮื้อ สมชื่อ
แต่ก็เลือกใช้วัตถุดิบหลักชั้นดี คัดสรรเฉพาะปลากะตักสด ๆ จากท้องทะเล มาเคล้ากับเกลือ
โดยต้องเคล้าให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ชั่วโมง เพื่อคงความสดของเนื้อปลา
ก่อนนำไปหมักรส บ่มกลิ่น นานถึง 12-18 เดือน แล้วนำมากรองอีก 5 ขั้นตอน เพื่อให้ได้น้ำปลาที่บริสุทธิ์ ไร้สิ่งเจือปน กลายเป็นน้ำปลาคุณภาพที่หลายคนติดใจในความหอม และรสชาติกลมกล่อม
ไม่ว่าจะกินคู่กับข้าวสวยร้อน ๆ, ขนมจีน, เหยาะใส่ไข่เจียว หรือใช้ปรุงอาหารนานาชนิด
ด้วยจุดเด่นที่เรียกว่ากินกันไม่ลง ขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้บริโภค ว่าชอบรสชาติแบบไหนนี้เอง
อาจทำให้หลายคนสงสัยว่า แล้วระหว่าง น้ำปลาตราเมกาเชฟ กับหอยเป๋าฮื้อ ใครขายดีกว่ากัน
คำถามนี้ ถ้าจะวัดกันแบบหมัดต่อหมัดคงยาก
เพราะสำหรับเมกาเชฟ มีการตั้งบริษัทแยกจากบริษัทแม่ ที่เป็นผู้ผลิตน้ำปลาตราปลาหมึก
บริษัท สินวารีพัฒนา จำกัด
ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำปลา, ซอสหอยนางรม และซีอิ๊วขาว ตราเมกาเชฟ
ปี 2562 มีรายได้ 398 ล้านบาท กำไร 7 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้ 452 ล้านบาท กำไร 10 ล้านบาท
แต่หอยเป๋าฮื้อ อยู่ภายใต้บริษัท อุตสาหกรรมน้ำปลาระยอง จำกัด
ซึ่งเป็นเจ้าของเดียวกับน้ำปลาตราคนแบกกุ้ง, เสม็ด พลัส, ปลาทิพ ด้วย
ดังนั้น รายได้ของบริษัทจะเป็นรายได้รวมของทุกแบรนด์
บริษัท อุตสาหกรรมน้ำปลาระยอง จำกัด
ปี 2562 มีรายได้ 613 ล้านบาท กำไร 17 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้ 612 ล้านบาท กำไร 18 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การบุกตลาดน้ำปลาพรีเมียมของเมกาเชฟและหอยเป๋าฮื้อ นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
เพราะในขณะที่หลายคนอาจจะมองว่า น้ำปลา เป็นเครื่องปรุงสามัญประจำบ้าน ที่ต้องมีติดครัว
ดังนั้นความต้องการในตลาด ย่อมมีสูงเป็นธรรมดา
แต่ใครจะคิดว่า ด้วยเทรนด์ผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพ พิถีพิถันกับการใช้ชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ทำให้บางคนหันไปหาเครื่องปรุงทางเลือกใหม่ ๆ
บวกกับคู่แข่งในตลาดมีมาก และยังแข่งขันด้วยการทำราคาสินค้าให้ต่ำ
ทำให้ผู้เล่นในตลาดนี้แข่งขันกันลำบาก และจำเป็นต้องปรับตัว ด้วยการหาน่านน้ำหรือตลาดใหม่
อย่างกรณีของเมกาเชฟและหอยเป๋าฮื้อ เลือกขยายตลาด มาเจาะกลุ่มพรีเมียม ซึ่งยังไม่มีผู้เล่นมากนัก
เน้นกลุ่มผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ซึ่งให้ความสำคัญกับการเลือกของดี มีคุณภาพ มากกว่าดูที่ราคา
ก็ต้องถือว่าทั้งสองแบรนด์มาได้ถูกทาง และน่าจะมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก
จากเดิมที่เทรนด์สุขภาพก็มาแรงอยู่แล้ว ยิ่งเจอกับภาวะโรคระบาด ผู้คนก็ยิ่งรักสุขภาพมากขึ้น
ซึ่งก็น่าจับตาว่า ก้าวต่อไปจากนี้ ของเส้นทางน้ำปลาพรีเมียมไทย จะไปได้ไกลขนาดไหน..
อ้างอิง :
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
-http://www.megachefsauce.com/th/why-megachef
-https://www.sentangsedtee.com/exclusive/article_140958
-https://www.rayongfishsauce.com/products/product_th.php
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.