เทคนิค การเลือกซื้อแฟรนไชส์ สำหรับคนอยากมีธุรกิจ เป็นของตัวเอง

เทคนิค การเลือกซื้อแฟรนไชส์ สำหรับคนอยากมีธุรกิจ เป็นของตัวเอง

31 ก.ค. 2021
หลายคนอยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง แต่การเริ่มต้นจากศูนย์ใหม่หมด ทั้งเรื่องการสร้างแบรนด์ การสร้างโมเดลธุรกิจ หรือแม้แต่ระบบหลังบ้าน
คงเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยเวลา และทรัพยากรอย่างมาก ในการปลุกปั้นขึ้นมา
ดังนั้น การลงทุนเพื่อซื้อแฟรนไชส์ จากแบรนด์ที่มีชื่อเสียง หรือติดตลาด
อาจเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์มากกว่า สำหรับใครบางคน โดยเฉพาะคนที่มีเงินทุนอยู่แล้ว
จากการสำรวจของเว็บไซต์ Thai Franchise Center พบว่า จำนวนธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ในปี พ.ศ. 2564 ที่ยังดำรงอยู่ในตลาดได้ มีอยู่ทั้งหมด 580 กิจการด้วยกัน
โดยสัดส่วนกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ ที่เป็นที่นิยมมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ
ธุรกิจเครื่องดื่มและไอศกรีม 23.8%
ธุรกิจอาหาร 23.1%
และธุรกิจการศึกษา 17.4% ตามลำดับ
จากตัวเลขกิจการแฟรนไชส์ที่มากขนาดนี้ หลาย ๆ คนอาจอยากรู้ว่า
แล้วถ้าเราอยากเริ่มต้นธุรกิจ ด้วยการเลือกลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์สักหนึ่งแฟรนไชส์
มีปัจจัยอะไรบ้าง ที่เราควรพิจารณา
1) เบื้องหลังของแฟรนไชซอร์
เจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์ เราจะเรียกว่า แฟรนไชซอร์ (Franchisor) ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการอนุญาตให้ผู้รับสิทธิ์ หรือที่เรียกว่า แฟรนไชซี (Franchisee) สามารถดำเนินธุรกิจตามรูปแบบและระบบธุรกิจของเจ้าของสิทธิ์ได้ โดยต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่เจ้าของสิทธิ์เป็นการตอบแทน
สิ่งแรกที่เราควรตรวจสอบคือ เอกสารการแสดงความเป็นเจ้าของสิทธิ์ที่ถูกต้อง ตามหลักการจดทะเบียนพาณิชย์ การจดลิขสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้า และความน่าเชื่อถือของบริษัทและเจ้าของบริษัท
นอกจากนั้น เราอาจสอบถามถึงความเป็นมา แรงจูงใจ และความมุ่งมั่นที่มีต่อธุรกิจ เพื่อให้เห็นแนวคิดและมุมมองในระยะยาว
รวมถึงอายุของการทำธุรกิจ จำนวนสาขาที่เป็นของแฟรนไชซี และของแฟรนไชซอร์เอง เพื่อประเมินความสามารถและโอกาสที่ธุรกิจจะเติบโตไปได้ในอนาคต
2) ระบบการบริหารงาน
ระบบการบริหารงาน ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะจะเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้การทำธุรกิจของเราไหลลื่นและไม่ติดขัด
โดยต้องเช็กว่า มีทีมงานรองรับการบริหารงานเพียงพอหรือไม่ และมีความเชี่ยวชาญมากน้อยแค่ไหน
สิ่งสำคัญคือ บริษัทควรมีระบบการอบรม ซึ่งจะช่วยร่นระยะเวลาการเรียนรู้ธุรกิจของเราได้ และควรมีคู่มือการปฏิบัติงาน รวมถึงมีสายด่วนไว้สำหรับขอคำปรึกษา เป็นต้น
3) การเยี่ยมชมบริษัท
การเยี่ยมชมบริษัท ถือเป็นสิทธิ์ที่แฟรนไชซีทุกรายควรจะได้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจ จากการเห็นระบบการทำงานจริงเบื้องหลัง การจัดการภายใน และระบบสนับสนุนต่าง ๆ ที่สามารถรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
4) การสอบถามข้อเท็จจริงของธุรกิจ
ในธุรกิจแฟรนไชส์ จะมีทั้งคนที่ประสบความสำเร็จ และคนที่ทำอยู่ได้ไม่นาน ก็ต้องล้มเลิกและออกจากธุรกิจไป
ดังนั้น เราควรตั้งคำถามกับแฟรนไชซอร์และแฟรนไชซีคนอื่นว่า เหตุผลที่ทำให้แฟรนไชซีในอดีต ตัดสินใจออกจากธุรกิจไปคืออะไร
เพื่อให้มีข้อมูลไว้พิจารณาว่า การออกจากธุรกิจของแฟรนไชซีนั้น เกิดจากเหตุผลส่วนตัว ตัวผลิตภัณฑ์ หรือเกิดจากระบบการบริหารของเจ้าของเอง (แฟรนไชซอร์)
5) ตรวจสอบสถานะทางการเงินย้อนหลัง
สถานะทางการเงินของแฟรนไชซอร์ คือตัวการันตีว่า ธุรกิจและเจ้าของธุรกิจดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
โดยเราควรตรวจสอบงบกำไรขาดทุนและงบดุลย้อนหลัง 3 ปีด้วยกัน
เพื่อให้เห็นภาพรวมของการบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน รวมถึงผลกำไรและการขาดทุนที่เกิดขึ้น
หากงบดุลของบริษัท มียอดหนี้สินมากกว่ายอดสินทรัพย์ แสดงว่าบริษัทอาจประสบปัญหาเรื่องเงินทุนและขาดสภาพคล่องทางการเงิน
หรือบริษัทประสบกับภาวะขาดทุนติดต่อกัน แสดงว่าบริษัทอาจมีปัญหาเรื่องการบริหารต้นทุนสินค้า หรือมีโมเดลธุรกิจ ที่ไม่สามารถทำกำไรได้จริง
ซึ่งถ้าเราขาดความรู้ความเข้าใจ เรื่องการอ่านงบกำไรขาดทุนและงบดุลของบริษัท เราก็ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
6) ส่วนต่างค่าสินค้าและบริการที่ต้องจ่าย
เราควรรู้ข้อมูลที่ชัดเจน เกี่ยวกับค่าส่วนต่างของสินค้าและบริการ ที่จะต้องจ่ายให้กับแฟรนไชซอร์ ในฐานะผู้ป้อนวัตถุดิบให้กับเรา
โดยควรเปรียบเทียบกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ซึ่งการรับรู้ข้อมูลในส่วนนี้ จะมีประโยชน์ทำให้เราเตรียมตัวสำหรับการสำรองกระแสเงินสด ในระหว่างที่ประกอบกิจการ รวมถึงคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุนคร่าว ๆ ในอนาคตได้
7) เงื่อนไขข้อตกลงบางประการ
ควรขอรายละเอียด เกี่ยวกับข้อตกลงในสัญญาแฟรนไชซอร์ และอาจขอให้มีการชี้แจงรายละเอียดสำคัญ ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ, มีการหักเปอร์เซ็นต์จากยอดขายหรือไม่, จำนวนการสั่งซื้อขั้นต่ำ, ระยะเวลาของสัญญา หรือเงินรายงวด
ทั้งนี้ ควรเปรียบเทียบกับกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ ที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น หากเราอยากเปิดแฟรนไชส์ร้านชานมไข่มุก เราก็ควรเทียบหลาย ๆ แบรนด์ เพื่อให้รู้ข้อมูลที่หลากหลาย และสามารถเลือกได้ว่า แฟรนไชซอร์เจ้าไหน เมื่อลงทุนแล้วจะคุ้มค่าที่สุด
ซึ่งนอกจากปัจจัยทั้งหมดแล้ว สิ่งที่เราควรพิจารณาคือ ทำเล กลุ่มลูกค้า ความต้องการ และความหนาแน่นของธุรกิจ ในพื้นที่ทำเลที่เราสนใจ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เราจะสามารถแข่งขันได้
ในประเทศไทย ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้รับความนิยม เช่น ร้านซูชิ, ร้านกาแฟ, ร้านชานมไข่มุก, ร้านหมูปิ้ง ซึ่งขนาดของธุรกิจก็มีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับเงินทุนและระยะเวลาคืนทุน ที่ผู้ประกอบการต้องการ
สรุปแล้ว การทำธุรกิจแฟรนไชส์ ก็เป็นอีกช่องทางในการลงทุนที่น่าสนใจ ที่ช่วยร่นระยะเวลาในการลองผิดลองถูก ของการทำธุรกิจได้
แต่ทุกธุรกิจ ก็มีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันไป
ไม่ว่าจะเป็นการสร้างธุรกิจจากศูนย์ หรือการลงทุนในแฟรนไชส์
ซึ่งเราต้องศึกษาหาข้อมูลจากหลาย ๆ ด้าน
เพื่อพิจารณาว่า สำหรับเราแล้ว การเริ่มต้นสร้างธุรกิจด้วยตัวเอง หรือการซื้อแฟรนไชส์
อะไรคุ้มค่า และตอบโจทย์แนวคิดการทำธุรกิจ ของเรามากกว่ากัน..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.