มหากาพย์ของ California Wow ที่ปั้นธุรกิจให้ดูรุ่งเรือง แล้วค่อยชิ่ง

มหากาพย์ของ California Wow ที่ปั้นธุรกิจให้ดูรุ่งเรือง แล้วค่อยชิ่ง

24 ส.ค. 2021
หนึ่งกลโกงในอดีต ที่ทุกคนยังคงจำฝังใจ น่าจะมีชื่อของ California Wow ติดอยู่ในใจ
ซึ่งหลาย ๆ คนก็อาจเคยมีประสบการณ์ร่วมกับแบรนด์นี้มาก่อน แต่สำหรับใครที่ไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยิน เรื่องราวต่อไปนี้ จะเป็นอุทาหรณ์อย่างดี
ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุกันก่อน
ในปี 2544 “แคลิฟอร์เนีย ว้าว” แบรนด์ธุรกิจออกกำลังกาย สัญชาติอเมริกัน ได้เข้ามาเปิดให้บริการในไทยอย่างเป็นทางการ ภายใต้การบริหารงานของ คุณเอริค มาร์ค เลอวีน ชาวอเมริกัน
ในยุคนั้นต้องยอมรับว่า ธุรกิจฟิตเนสในไทย คือความแปลกใหม่
รวมถึงเทรนด์รักสุขภาพ ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับคนไทย
และถ้าพูดถึงในมุมธุรกิจ ฟิตเนสในช่วงเวลานั้น ก็ต้องเรียกว่ายังเป็น Blue Ocean อยู่ เพราะคู่แข่งมีเพียงไม่กี่เจ้าในตลาด
ดังนั้น การมาของแคลิฟอร์เนีย ว้าว จึง “ว้าว” สมชื่อ ในมุมของกลุ่มลูกค้า ที่มีรายได้ปานกลางไปจนถึงสูง
แคลิฟอร์เนีย ว้าว จัดว่าเป็นฟิตเนสแบรนด์แรก ๆ ในประเทศไทย ที่เน้นการขยายสาขาแบบเชิงรุก โดยใช้วิธีการบุกไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอย่างรวดเร็ว
ภายในระยะเวลาไม่นาน แคลิฟอร์เนีย ว้าว ก็สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 55% จากปีแรกที่เข้ามาทำตลาด มีสมาชิกเพียง 8,500 ราย เมื่อผ่านไป 9 ปี ก็สามารถเพิ่มจำนวนสมาชิกได้เป็น 160,000 ราย
โดยมีสมาชิกเข้าใช้บริการเฉลี่ยทุกสาขา สูงกว่าวันละ 20,000 ราย
การขยายสาขาถูกทำควบคู่ไปกับการสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ที่ทันสมัย เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายคนเมือง ที่มีรายได้ปานกลางไปจนถึงสูง
ภาพลักษณ์ที่ดูดี บวกกับสาขาที่ทั่วถึง จึงเป็นแต้มต่อที่ทำให้แคลิฟอร์เนีย ว้าว สามารถคิดค่าบริการที่ค่อนข้างสูงได้
ถึงแม้ค่าบริการฟิตเนสของแคลิฟอร์เนีย ว้าว ในสมัยนั้น จะไม่ได้ถูกเลย แต่สมาชิกจำนวนมาก ก็ยินดีควักเงินจ่ายค่าสมาชิกแบบรายปี ซึ่งบางรายมีมูลค่าสูงถึงหลักแสนบาท เลยทีเดียว..
จากที่อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนอาจมองว่า แคลิฟอร์เนีย ว้าว ก็ดูเป็นธุรกิจที่มาแรง ไปได้ด้วยดี และไม่น่าจะโกงได้
แต่เรื่องราวมหากาพย์การโกง กำลังเริ่มต้นขึ้นหลังจากนี้..
เมื่อธุรกิจฟิตเนสใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากนั้น แคลิฟอร์เนีย ว้าว ก็ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในช่วงปลายปี 2548
โดยเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปในราคาหุ้นละ 6 บาท ภายใต้ชื่อหุ้นว่า CAWOW หรือ บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน)
จากกระแสที่มาแรง ทำให้แบรนด์ฟิตเนสอย่าง แคลิฟอร์เนีย ว้าว ดูผิวเผินเป็นบริษัทที่น่าจะมีอนาคตที่สวยงาม และไปได้ไกล
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ คุณวิชา พูลวรลักษณ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ตัดสินใจร่วมทุน ในตอนที่หุ้น CAWOW เข้าตลาดใหม่ ๆ
หลังจากที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ บริษัทสามารถแสดงผลประกอบการที่มีกำไรได้เพียงแค่ปีเดียว คือปี 2549 ก่อนที่จะขาดทุนต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี จนกระทั่งถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สั่งพักการซื้อขายหุ้น ในปี 2554
ซึ่งในระหว่างทาง ก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์จะสั่งพักการซื้อขายหุ้น
แคลิฟอร์เนีย ว้าว ได้ฉายแววว่า ธุรกิจอาจจะไปไม่รอด
เพราะในตอนที่ขยายสาขาเพิ่มประมาณ 10 สาขา ก็เกิดปัญหา เช่น สมาชิกไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ
บางสาขามีปัญหาการค้างชำระค่าเช่า, ค่าน้ำ, ค่าไฟ และค่าบริหารจัดการ จนไม่สามารถเปิดให้บริการต่อไปได้
เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น สมาชิกได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด
หลังจากนั้นไม่นาน ราคาหุ้น CAWOW ก็ทรุดลงอย่างต่อเนื่อง และคุณวิชา พูลวรลักษณ์ ก็ได้ทยอยขายหุ้นจนหมด เพราะคงจะประเมินแล้วว่า กิจการกำลังมีปัญหา
รวมถึงพฤติกรรมของคุณเอริค ที่ส่อแววว่าเป็นบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจอีกต่อไป
จนในที่สุด แคลิฟอร์เนีย ว้าว ก็ทยอยปิดตัวลงทุกสาขา
สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ได้เข้าตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าวฯ และพบว่า ในระหว่างปี 2544 ถึง 2555 มีการโอนเงินให้บุคคลทั้งต่างประเทศและในประเทศ เป็นจำนวนเงินทั้งหมด 1,669 ล้านบาท หรือร้อยละ 99 ของธุรกรรมทางการเงินทั้งหมด
พูดง่าย ๆ คือ เงินสดและทรัพย์สินของบริษัทเกือบทั้งหมด ถูกคุณเอริค ถอนออกไปจนหมด ไม่เหลืออะไรไว้ให้สมาชิกฟิตเนสและผู้ถือหุ้นของบริษัท สักบาทเดียว..
และ 1 เดือนต่อมา บริษัทได้ถูกฟ้องล้มละลาย และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
จะว่าไปแล้ว การโกงก็อยู่คู่กับมนุษย์มานานมากแล้ว และมีวิวัฒนาการ ตามยุคสมัย
ตัวอย่างการโกง ที่เกิดขึ้นในไทย เช่น แชร์แม่ชม้อย, แชร์ชาร์เตอร์, แชร์แม่มณี, ซินแสโชกุน
และล่าสุดคือ “ประสิทธิ์ เจียวก๊ก” ที่หลอกลวงผู้บริโภคในรูปแบบของทัวร์
หากวิเคราะห์ดูแล้ว ปัญหาของการโกง สาเหตุหลักก็คงจะมาจาก “ความโลภ” ของผู้กระทำ
แต่ในมุมของผู้ถูกกระทำ โดยเฉพาะนักลงทุน
วิธีป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ก็คือ ต้องศึกษารายละเอียดของบริษัท, ฝึกอ่านงบการเงินเบื้องต้นให้เป็น, ดูความน่าเชื่อถือของผู้บริหาร ว่าเขาสามารถทำได้อย่างที่ตัวเองพูดไว้หรือไม่
จากกรณีศึกษาของ แคลิฟอร์เนีย ว้าว เรียกได้ว่า “ว้าว” สมชื่อจริง ๆ เพราะค่าสมาชิกที่จ่ายไป ได้หายวับไปกับตา
เรื่องนี้อาจทำให้เราฉุกคิดได้ว่า หากจะซื้อแพ็กเกจอะไร ที่ต้องจ่ายเป็นเงินก้อน ควรคิดให้ถี่ถ้วน
และยอมรับให้ได้ว่า หากเราควักเงินจ่ายไป แล้วโดนเท
เราจะต้องรับความเสี่ยง ที่อาจสูญเสียเงินก้อนนั้นไปให้ได้..
อ้างอิง :
-https://bit.ly/2Vs8fvx
-https://mgronline.com/daily/detail/9590000007362
-https://www.finnomena.com/fiftytwohurtz/california-wow-true-fitness/
-https://www.longtunman.com/29837
-https://www.youtube.com/watch?v=MbWAIbnYhoc
-http://www.siamtownus.com/2016/New-1603000094-1.aspx
-https://www.sanook.com/money/62778/
-หนังสือ รวยได้ด้วยหุ้น โดยเซียนหุ้นอัจฉริยะ
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.