กรณีศึกษา ทำไม Shipsmile ถึงต้องเป็นมากกว่า บริษัทตัวแทนขนส่งพัสดุ

กรณีศึกษา ทำไม Shipsmile ถึงต้องเป็นมากกว่า บริษัทตัวแทนขนส่งพัสดุ

9 ก.ย. 2021
ในอดีตหนึ่งในธุรกิจแฟรนไชส์ที่คนนิยมลงทุนนั้นก็คือ “ตัวแทนไปรษณีย์เอกชน”
เพราะในเวลานั้นคนทั่วประเทศหากจะคิดส่งพัสดุ ก็จะนึกถึง ไปรษณีย์ไทย เป็นหลัก
แต่เมื่อโลกของธุรกิจ E-Commerce เติบโตรวดเร็วทุก ๆ ปี
และสิ่งที่ตามมากับการเติบโตนี้ก็คือ บริษัทขนส่งพัสดุ ที่เพิ่มมากขึ้น
ซึ่งนั่นแปลว่าลูกค้าก็มีตัวเลือกมากขึ้น มากกว่าในอดีตเช่นกัน
ปรากฏการณ์นี้ได้ทำให้ Shipsmile ซึ่งในอดีตก็คือหนึ่งในบริษัท
ที่ทำธุรกิจเป็น ตัวแทนไปรษณีย์เอกชน จำเป็นต้องปรับตัว อย่างต่อเนื่อง
โดยการปรับตัวครั้งล่าสุดนี้ Shipsmile ไม่ได้เป็นแค่ร้านบริการขนส่งพัสดุ
เมื่อได้วางแผนให้ทุกสาขาของตัวเองในอนาคตอันใกล้
มีบริการหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทย
ที่น่าสนใจคือการปรับเกมธุรกิจครั้งนี้ Shipsmile ยังได้บริษัท สบาย เทคโนโลยี จํากัด (มหาชน) ผู้นำในตลาดตู้เติมเงินและตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ และ บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาร่วมทุน
เป้าหมายก็เพื่อให้ในอีก 3 ปีข้างหน้า Shipsmile จะมี 10,000 สาขา
พร้อมกับมีบริการที่หลากหลาย เพื่อสร้างรายได้และกำไรให้แก่เจ้าของแฟรนไชส์
คุณสฐีรณัฐ ลาภไกวัล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิปป์สไมล์ เซอร์วิส จำกัด
เล่าให้ฟังว่า หากสังเกตปัจจุบันจำนวนสาขาขนส่งต่าง ๆ กระจายครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศ
แม้ทาง Shipsmile จะมีบริการหลากหลาย ทั้งขนส่งพัสดุ, จ่ายบิลค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ
แต่ธุรกิจที่สร้างรายได้หลักก็คือ ขนส่งพัสดุ ที่คิดเป็น 80% จากรายได้ทั้งหมด
นั่นแปลว่าหาก Shipsmile คิดจะมีรายได้เติบโตต่อเนื่อง
บริการขนส่งก็ยังเป็นธุรกิจที่เป็นหัวใจหลัก
และจำเป็นต้องหาจุดแข็งไว้เพื่อสร้างความแตกต่างของตัวเองให้เจอ
จุดแข็งที่ว่าก็คือ ในทุก ๆ สาขาของ Shipsmile จะต้องมีบริการขนส่งพัสดุหลากหลายแบรนด์
เช่น ไปรษณีย์ไทย, Flash Express, Kerry Express
ขณะเดียวกันก็เจรจากับบริษัทขนส่งทุกรายเพื่อให้ค่าบริการขนส่งพัสดุและข้อจำกัดต่าง ๆ
อยู่ในราคาและกฎเกณฑ์เดียวกันกับแฟรนไชส์ของบริษัทขนส่งเอง
เช่น สมมติเราส่งพัสดุน้ำหนัก 30 กิโลกรัมไปจังหวัดหนึ่งกับทางสาขาแฟรนไชส์ตรง Flash Express
มีค่าบริการอยู่ที่ 300 บาท และหากเราส่งพัสดุที่สเปกเดียวกันกับทาง Shipsmile
ก็จะเสียค่าบริการ 300 บาทเท่ากัน
นอกจากนี้ Shipsmile ก็ยังมีบริการขนส่งเก็บเงินปลายทาง COD เหมือนกับแฟรนไชส์ของบริษัทขนส่ง
สรุปก็คือ นอกจากอัตราค่าขนส่งที่เท่ากันจนถึงบริการขนส่งที่หลากหลาย
ข้อดีของ Shipsmile ก็คือการมีตัวเลือกขนส่งที่เยอะกว่านั่นเอง
คุณสฐีรณัฐ บอกว่าแค่นี้คงไม่พอ เพราะรู้หรือไม่ ทางบริษัทก็ยังมีแคมเปญต่าง ๆ
สนับสนุนกลุ่มแฟรนไชส์ เพื่อทำให้ราคาและบริการมีคุณภาพเพื่อดึงดูดลูกค้า
แม้วิธีนี้อาจทำให้กำไรบริษัทลดลงไปเล็กน้อย แต่คุณสฐีรณัฐ บอกว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ
เพราะหัวใจการจะทำธุรกิจแฟรนไชส์ให้เติบโตอย่างยั่งยืน
เจ้าของแบรนด์กับสาขาแฟรนไชส์ต้องเติบโตไปพร้อม ๆ กัน
และด้วยวิธีคิดทั้งหมดนี้เองทำให้ ณ เวลานี้ Shipsmile
มียอดส่งพัสดุรวมกันทุกบริษัทขนส่งกว่า 4 ล้านชิ้น
อย่างไรก็ตามคุณสฐีรณัฐ มองว่าตลาดขนส่งพัสดุ ณ เวลานี้
ต่างแข่งขันด้านราคากันอย่างดุเดือด และก็ไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร
ซึ่งผลกระทบต่อ Shipsmile ก็คือกำไรในธุรกิจนี้ก็จะน้อยลงตามการแข่งขันด้านราคานั่นเอง
การมองหาธุรกิจอื่น ๆ เข้ามาบริการในสาขาเพื่อเพิ่มรายได้และกำไร
จึงนับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
โดยหนึ่งในนั้นก็คือบริการทางการเงิน ซึ่งแต่เดิมนั้นบริษัท Shipsmile
ก็เคยทำมาก่อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
จนเมื่อล่าสุดการได้บริษัท สบาย เทคโนโลยี จํากัด (มหาชน) หรือ SABUY เข้ามาร่วมทุน
ที่นอกจากมีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้านการเงินแล้วนั้น
กลุ่มบริษัทนี้ยังได้ไลเซนส์ ในการทำธุรกรรมทางการเงินจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย
จึงสรุปได้ว่าเมื่อ Shipsmile จะสามารถให้บริการแบงกิ้ง เอเจนท์ รับฝาก, ถอน, โอนเงิน ในสาขาตัวเองอย่างเต็มรูปแบบ ผ่านการใช้ไลเซนส์ของกลุ่มสบายและได้รับความรู้และเทคโนโลยีด้านการเงินดิจิทัลในการมาบริหารธุรกิจนี้จากบริษัท SABUY นั่นเอง
ที่น่าสนใจธุรกิจแบงกิ้ง เอเจนท์ ณ วันนี้ก็กำลังเติบโตเกินคาด
เรื่องนี้หลายคนอาจคิดว่าปัจจุบัน Mobile Banking ก็ทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้หมด
โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาแบงกิ้ง เอเจนท์
แต่คุณสฐีรณัฐ กลับมองอะไรที่กว้างกว่านั้น
เมื่อเขาบอกว่า พ่อค้าแม่ค้าหรือชาวบ้านทั่วไปในต่างจังหวัด
มีจำนวนมากที่ไม่ใช้ Mobile Banking และไม่ชอบทำธุรกรรมการเงินผ่านตู้ ATM
เพราะฉะนั้นเมื่อธุรกิจแบงกิ้ง เอเจนท์ เข้ามาอยู่ใน 3,200 สาขา และเข้าถึงได้ดีกว่าร้านสะดวกซื้อในปัจจุบันที่บางพื้นที่ยังเข้าไม่ถึง
ผ่านการบริหารด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยและปลอดภัย
ก็น่าจะได้ผลตอบรับจากลูกค้าและประสบความสำเร็จ
ซึ่งในอนาคต Shipsmile ก็มีแผนที่จะต่อยอดทำธุรกิจสินเชื่อ
ทีนี้เมื่อ Shipsmile จะมีบริการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ส่งพัสดุ, ธุรกรรมการเงิน, จ่ายบิลต่าง ๆ
โจทย์ก็คือจะทำอย่างไรให้สารพัดบริการเหล่านี้ เข้าถึงคนไทยทั่วประเทศ
คำตอบก็คือ จำนวนสาขา
ทำให้เป้าหมายสำคัญในตอนนี้ ก็คือการขยายสาขาให้ครบ 10,000 แห่งในเวลา 3 ปี
โดยสาขาทั้งหมดจะอยู่ในรูปแบบแฟรนไชส์
และด้วยกลยุทธ์ที่ต้องการเติบโตไปพร้อม ๆ กับแฟรนไชส์
ก็เลยทำให้ Shipsmile เลือกที่จะคิดค่าแฟรนไชส์ในราคาที่เข้าถึงง่าย
โดยมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1,990 บาท สำหรับคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจประเภทนี้อยู่แล้ว
แต่อยากเปลี่ยนมาเป็นแฟรนไชส์ของ Shipsmile ที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม
เพราะแค่นำระบบบริหารการจัดการของ Shipsmile เข้ามาใช้เท่านั้น
จนถึงรูปแบบ Full Set 89,000 บาท ที่จะมีอุปกรณ์ทุกตัวอย่างครบครัน
ให้ผู้ลงทุนสามารถดำเนินธุรกิจได้ทันที
ถึงตรงนี้ ต้องบอกว่าการปรับตัวของ Shipsmile
นับเป็นอะไรที่น่าสนใจเลยทีเดียว
เพราะการที่ไม่ยึดติดธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง
นอกจากจะทำให้เจ้าของแฟรนไชส์มีรายได้หลากหลายช่องทางแล้วนั้น ก็ยังทำให้ชีวิตลูกค้าสะดวกสบาย
เมื่อการใช้บริการ Shipsmile สามารถตอบโจทย์ในชีวิตได้อย่างครบครัน
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.