สรุปเรื่อง กลุ่มไทยพาณิชย์ ตั้งบริษัทแม่ชื่อ “SCBX” เพื่อให้เป็นมากกว่าธนาคาร

สรุปเรื่อง กลุ่มไทยพาณิชย์ ตั้งบริษัทแม่ชื่อ “SCBX” เพื่อให้เป็นมากกว่าธนาคาร

22 ก.ย. 2021
วันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการของธนาคารไทยพาณิชย์ ได้มีมติเสนอให้จัดประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อพิจารณาอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่
โดยจัดตั้งบริษัทแม่ภายในชื่อ “SCBX” (เอสซีบี เอกซ์) ที่ไม่ใช่ธุรกิจธนาคาร ให้เป็นเสมือนยานแม่ของกลุ่มบริษัท
ซึ่งถ้าผ่านการอนุมัติแผนฯ SCBX จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จากผู้ถือหุ้น โดยการออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับหุ้นของ SCB ในอัตรา 1 ต่อ 1
(สรุป เอาหุ้น SCB ไปแลกเป็นหุ้น SCBX)
แต่การทำคำเสนอซื้อดังกล่าว SCBX จะยกเลิกคำเสนอซื้อ หากจำนวนหุ้นที่มีผู้แสดงเจตนาขาย มีจำนวนน้อยกว่า 90% ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของ SCB
และถ้าคำเสนอซื้อนี้เสร็จสิ้น หุ้นของ SCB ก็จะถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ และนำ SCBX เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทน ในวันเดียวกัน (แต่ยังใช้ชื่อย่อหุ้นเดียวกันอยู่ คือ SCB)
ส่วนในแผนการปรับโครงสร้างนี้ ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีก เช่น
-จะทำการโอนหุ้นที่ SCB ถือในบริษัทย่อย (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) รวมไปถึงการโอนธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลไม่มีหลักประกัน ให้แก่ SCBX หรือ บริษัทย่อยของ SCBX
-เสนอให้ SCB พิจารณาอนุมัติเงินปันผลพิเศษระหว่างกาล ประมาณ 70,000 ล้านบาท ให้แก่ SCBX และผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ
โดยเงินปันผลส่วนใหญ่ประมาณ 70% ที่จ่ายให้กับ SCBX ใช้ทำเรื่องการโอนธุรกิจ (บริษัทย่อย, ธุรกิจบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลฯ) รวมถึงเป็นเงินลงทุนเพื่อขยายธุรกิจในอนาคต
ส่วนอีก 30% ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ และเก็บไว้จ่ายปันผลในปีหน้า
-บริษัทย่อยที่ SCBX ได้รับโอนมา ก็จะมี
บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS)
บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) ที่เน้นลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัปต่าง ๆ
บริษัทโทเคน เอกซ์ (Token X) ที่ให้บริการธุรกิจโทเคนดิจิทัลแบบครบวงจร
บริษัท มันนิกซ์ (MONIX) ผู้ให้บริการแอปสินเชื่อออนไลน์ “ฟินนิกซ์”
บริษัท เอสซีบี เทคเอกซ์ (SCB Tech X) ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ
บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส (Purple Ventures) ผู้ให้บริการแอปสั่งอาหาร “โรบินฮู้ด”
บริษัท เอสซีบี อบาคัส (SCB ABACUS) ผู้ให้บริการแอปสินเชื่อออนไลน์ “เงินทันเด้อ”
บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส (DV)
บริษัท อัลฟ่า เอกซ์ (Alpha X) ที่เป็นบริษัทร่วมทุนกับ Millennium Group เพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับเจ้าของรถหรูและยานพาหนะทางน้ำ
บริษัท เอไอเอสซีบี (AISCB) ที่เป็นบริษัทร่วมทุนกับ AIS เพื่อให้บริการสินเชื่อผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม
ทั้งนี้ มูลค่ารวมของการโอนย้ายบริษัทย่อย จะอยู่ที่ประมาณ 19,504 ล้านบาท
ซึ่งยังไม่รวมถึงการโอนธุรกิจบัตรเครดิต และธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลไม่มีหลักประกัน เกือบทั้งหมดของ SCB (อันได้แก่ ทรัพย์สิน, หนี้สิน และสิทธิเรียกร้องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ) ให้แก่บริษัทย่อยที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่ของ SCBX ที่มีชื่อว่า “Card X”
โดยหลังจากโอนกิจการเสร็จ Card X ก็จะเป็นผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลฯ แทน ต่อจากธนาคาร
สรุปคือ SCBX จะถือหุ้นและเป็นเจ้าของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), บริษัทย่อยและธุรกิจต่าง ๆ ที่ได้รับโอนมา และบริษัทอื่น ๆ ในเครือ
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ปี 2025 การมาถึงของ Decentralized Finance Technology การขยายตัวและการบุกของแพลตฟอร์มระดับโลกเข้าสู่ธุรกิจการเงิน พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิด รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนไปอย่างมาก
จะทำให้รูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model) ในแบบ Intermediaries หรือการเป็นตัวกลางเก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารแบบดั้งเดิมจะลดบทบาทลง เพราะจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังใหม่ของผู้บริโภคได้ ความสำคัญของธนาคารต่อผู้บริโภคจะลดลง และจะส่งผลลบต่อการให้มูลค่าอนาคตของนักลงทุนต่อธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
“แนวโน้มของการถูก Disrupt นั้นเริ่มมาเมื่อหกปีก่อนและชัดเจนมากในอีกสามปีข้างหน้า
SCB ได้ตั้งโจทย์และเพิ่มศักยภาพตัวเองมาโดยตลอด และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่สำคัญที่สุดในการตั้งคำถามแห่งอนาคตว่าในช่วงเวลาสามปีจากนี้ที่เข้มข้นที่สุด SCB จะต้องแปลงสภาพตัวเองอย่างไร จึงจะสามารถสร้างคุณค่าใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นและผู้บริโภค รวมถึงสามารถเติบโตไปกับโลกใหม่ได้
SCB จึงจะต้องไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป หากแต่ต้องใช้ความเข้มแข็งทางการเงินของธุรกิจธนาคารปัจจุบันให้เป็นประโยชน์ เร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินประเภทอื่นที่ตลาดต้องการ และสร้างขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี
รวมถึงการบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีขนาดใหญ่ให้ทัดเทียมกับคู่แข่งระดับโลก เข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อที่จะอยู่รอดปลอดภัยในอีก 3-5 ปีข้างหน้านี้”
นอกจากนั้น SCB จะขยายเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับโลก เพื่อเข้าสู่โลกการเงินแห่งอนาคตผ่าน SCB 10X และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) โดยการร่วมลงทุนและเป็นพันธมิตรกองทุนระดับโลก และการพัฒนาธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลด้านต่าง ๆ ใน Business Model ใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มในระยะยาว
“ในปี 2025 ความคาดหวังของ SCB คือ การสามารถสร้างมูลค่าของบริษัทจากธุรกิจใหม่ให้มีขนาดที่มีนัยยะสำคัญนอกเหนือจากผลกำไรพื้นฐานและความมั่นคงของธุรกิจธนาคารหลัก ซึ่งรวมถึงการสร้างฐานลูกค้าในระบบให้ได้ถึง 200 ล้านคน, การขยายธุรกิจใหม่ออกสู่ต่างประเทศ และการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก
และหลังจากสามปีนี้ SCB จะไม่เท่ากับธนาคารอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นกลุ่มบริษัทที่มีธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีที่หลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ของผู้บริโภคและสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในระดับโลกได้อย่างทัดเทียม
เพื่อสร้างมูลค่าใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นทดแทนธุรกิจธนาคาร ที่อาจจะมีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที”
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.