กรณีศึกษา ทำงานเหมือนไปเที่ยวเหมือน เจ้าสัวธนินท์

กรณีศึกษา ทำงานเหมือนไปเที่ยวเหมือน เจ้าสัวธนินท์

8 ต.ค. 2019
“แจ็กหม่า เขามองเห็นภูเขาเป็นทองคำ”
“แต่ตอนนั้นผมเห็นภูเขามีแต่ต้นไม้”
“เพราะ Alibaba ณ เวลานั้นมันไม่มีตัวตน ผมมองไม่เห็น
ผมทำแต่ร้านค้าปลีกที่มีหน้าร้านและเห็นของจริง”
คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด
เล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่ปฏิเสธการร่วมลงทุนกับ แจ็กหม่า เพื่อก่อตั้ง Alibaba
ผ่านเวทีเปิดตัวหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”
แต่เชื่อหรือไม่ว่า ครั้งหนึ่งเจ้าของแบรนด์ 7-Eleven เองก็เคยมองข้ามความคิดของเจ้าสัวธนินท์ เช่นกัน
ด้วยการปฏิเสธที่จะไม่ขายสิทธิแฟรนไชส์ให้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ณ เวลานั้น
ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2531 ที่ 7-Eleven จะเปิดสาขาแรกในเมืองไทย
เจ้าของแฟรนไชส์ 7-Eleven ประเมินว่าประชากรในประเทศไทยมีกำลังซื้อน้อยนิด
เพราะหากเทียบลูกค้าในอเมริกา 1 คนจะมียอดซื้อ 1 บิลเท่ากับคนไทย 15 คน รวมกัน
“แต่เขาก็ลืมคิดไปว่าต้นทุนเราก็ถูกกว่าเขาเป็น 10 เท่า
ทั้งต้นทุนสร้างสาขา พนักงาน และ ต้นทุนสินค้า”
ซึ่งตอนที่เจ้าสัวธนินท์ คิดจะเปิดร้าน 7-Eleven ก็มีหลายเสียงคัดค้านว่าเป็นการลงทุนที่ไม่ชาญฉลาด
“ก็เพราะคนฉลาด เขาชอบอะไรที่ทำสำเร็จง่ายๆ
แต่ผมรู้ว่าธุรกิจร้าน 7-Eleven มันยากมาก แต่ถ้าทำสำเร็จจะเป็นธุรกิจที่มีอนาคตที่ยั่งยืน”
และก็เป็นอย่างที่เจ้าสัวธนินท์คิดจริงๆ เพราะจากรายได้ 7-Eleven ปีแรกที่มีเพียงน้อยนิด
แต่ผ่านไป 30 ปี 7-Eleven มีรายได้ 335,532 ล้านบาท
และมี 10,988 สาขา มีจำนวนลูกค้า 13 ล้านคนต่อวัน
คุณธนินท์ ยังเล่าต่อว่า CP ไม่ใช่คนผูกขาดธุรกิจ
แต่เป็นผู้เริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ หลายอย่าง และก็ทำอย่างจริงจัง และรวดเร็ว
เหตุผลเพราะหากใครมาทีหลัง แล้วมาทำธุรกิจแบบเดียวกันกับ CP จะทิ้งห่างไปไกลมาก
ซึ่งมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะไล่ตามทัน ไม่ต่างกับการเป็นนักมวยคนเดียวบนเวที
“เพราะหากเราขึ้นเวที แล้วหกล้มลงไปกับพื้น กรรมการนับ 10
ลุกขึ้นมา เราก็ยังเป็นแชมป์อยู่ดี เพราะมีเราคนเดียวที่ขึ้นเวทีมวยทัน”
ขณะเดียวกัน ทุกธุรกิจของ CP จะสามารถเชื่อมต่อกันได้ ยกตัวอย่างเช่น
สารพัดสินค้าอาหารของ CP เองก็ถูกต่อยอดเข้าไปขายอยู่ในร้าน 7-Eleven
ขณะเดียวกันทุกการลงทุนของเจ้าสัวธนินท์ นั้นจะต้องเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทย
จึงไม่แปลกที่หากเรามองธุรกิจในเครือ CP ณ เวลานี้ช่างมีมากมายเสียเหลือเกิน
เช่น เกษตรและอาหาร, ค้าปลีก, สื่อสารโทรคมนาคม, อีคอมเมิร์ซ, อสังหาริมทรัพย์, รถยนต์
ซึ่งในแต่ละธุรกิจนั้น CP จะต้องลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาล แต่ทุกการลงทุนก็ย่อมมีความเสี่ยง
ทีนี้แล้วกฎเกณฑ์การชั่งน้ำหนักการลงทุนในธุรกิจแต่ละครั้งของเจ้าสัวธนินท์ ใช้ตาชั่งแบบไหน ?
“หากเสี่ยง 30 มีโอกาสชนะ 70 จะตัดสินใจลงมือทำ
แต่หากเป็นการลงทุนที่ใหญ่เกินตัวจนอาจทำให้เราล้มละลาย
ถึงโอกาสชนะเปิดกว้างมาก ผมก็จะไม่ทำ”
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จอาณาจักร CP ณ วันนี้ไม่ว่าจะเป็นทั้งในและต่างประเทศ
คุณธนินท์เองก็บอกว่า ตัวเขาคนเดียวไม่มีทางที่สร้างขึ้นมาได้
แต่ต้องอาศัยพนักงานกว่า 3 แสนคน
แล้วเคยสงสัยบางไหม เจ้าสัวธนินท์ ที่มีอายุ 80 ปี มีทรัพย์สิน 15,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 463,000 ล้านบาท ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะวางมือจากธุรกิจ
“ถ้าผมไปเที่ยว 10 ปี ก็ผ่านไปหมดประโยชน์ แต่หากเราคิดว่าการทำงานเหมือนไปเที่ยว
ได้เจอความท้าทายใหม่ๆ ตลอดเวลา ก็ถือว่ามีความสุข”
มาถึงตรงนี้ อาจดูเหมือนเจ้าสัวธนินท์ ที่มีทรัพย์สินมหาศาล
น่าจะไขว่คว้าสิ่งที่ตัวเองอยากได้ และอยากทำมาหมดแล้ว
แต่จริงๆ ยังมีความฝันในวัยเด็กอยู่อย่างหนึ่ง ที่ยังไม่เคยทำได้สักที
ความฝันดังกล่าวคือ เจ้าสัวธนินท์ อยากจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์
ใครจะไปคิดวันหนึ่งเราอาจเห็นนักธุรกิจอายุ 80 ปี
ที่มีทรัพย์สินเกือบ 5 แสนล้านบาท สวมบทบาทเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ก็เป็นได้
Reference : Exclusive Talk "ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” Matichon TV, รายงานประจำปี CP ALL, Forbes Thailand
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.