Hungry Hub สตาร์ตอัปที่เปลี่ยนร้านอาหารจานเดียว ให้กลายเป็น “บุฟเฟต์”

Hungry Hub สตาร์ตอัปที่เปลี่ยนร้านอาหารจานเดียว ให้กลายเป็น “บุฟเฟต์”

5 พ.ย. 2021
เมื่อพูดถึงบุฟเฟต์พรีเมียม หลายคนคงคุ้นชื่อกับ Hungry Hub
แอปพลิเคชันจองอาหาร สัญชาติไทย ที่ก่อตั้งโดยคุณสุรสิทธิ์ สัจจะเดว์ ชายวัย 32 ปี
ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่เปลี่ยนร้านอาหารจานเดียว ให้กลายเป็นบุฟเฟต์หรือเซตอาหารราคาพิเศษ
โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการจองโต๊ะผ่านแอปพลิเคชัน กว่า 1.1 ล้านที่นั่ง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่รู้หรือไม่ว่า กว่าจะเป็น Hungry Hub ที่มียอดจองโต๊ะแตะหลักล้าน
แอปพลิเคชันนี้ เคยประสบปัญหาที่แทบไม่มีใครใช้บริการเลย..
Hungry Hub มีเรื่องราวอย่างไร ?
และอะไรเป็นจุดเปลี่ยน ที่ทำให้ธุรกิจพลิกผัน จนมาถึงได้ขนาดนี้ ?
จุดเริ่มต้นเกิดจากวันหนึ่ง คุณสิทธิ์ ต้องการทำสตาร์ตอัปขึ้นมา
จึงเล็งหาธุรกิจที่ตนสนใจ และได้คำตอบว่า อยากทำระบบจองโรงแรม เพราะครอบครัวทำธุรกิจโรงแรมอยู่แล้ว
แต่หลังจากเขาศึกษาอยู่สักพัก ก็ต้องยอมแพ้ เมื่อพบว่า ระบบจองโรงแรมมีการแข่งขันสูง
แพลตฟอร์มใหญ่ ๆ สามารถทุ่มเงินโฆษณาได้ไม่อั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับตัวเองแล้ว ก็ดูเหมือนว่าจะแข่งขันได้ยาก
อย่างไรก็ตาม คุณสิทธิ์ได้มองหาโอกาสใหม่ จนเจอว่าร้านอาหารในไทย ยังไม่มีแพลตฟอร์มสำหรับจองร้านอาหาร เลยคิดว่าน่าจะนำโมเดลที่มีอยู่แล้วในต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ได้
Hungry Hub จึงถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2557
แต่ต่อมาธุรกิจประสบกับความล้มเหลว เนื่องจากการสร้างระบบจองนี้ อำนวยความสะดวกให้แค่เพียงฝั่งร้านอาหารเท่านั้น โดยผู้คนส่วนใหญ่ในไทย ไม่ได้มีพฤติกรรมจองร้านล่วงหน้า
ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้ Hungry Hub แทบไม่มีคนใช้งานเป็นเวลาถึง 2 ปี..
คุณสิทธิ์และทีมงาน จึงจำเป็นต้องหาโมเดลธุรกิจใหม่
ซึ่งวันหนึ่งระหว่างที่พวกเขาไปรับประทานอาหารด้วยกัน
ได้เกิดปัญหาหนึ่งอย่างขึ้นมา นั่นคือ ค่าใช้จ่ายอาหารจริงมากกว่างบที่ตั้งไว้
จากเรื่องนี้ส่งผลให้คุณสิทธิ์เกิดไอเดียโมเดลธุรกิจใหม่
ด้วยการเปลี่ยนร้านอาหาร A La Carte หรืออาหารจานเดียว ให้สามารถทานแบบบุฟเฟต์ได้
โดยต้องจองผ่าน Hungry Hub เท่านั้น
แล้วอะไรคือสาเหตุ ที่ทำให้ร้านอาหารต่าง ๆ ยอมจัดโปรโมชันให้ทานแบบบุฟเฟต์ และเป็นพาร์ตเนอร์กับ Hungry Hub ?
ก็เพราะว่าร้านอาหารแต่ละแห่ง มักจะมีปัญหาที่บางช่วงเวลาลูกค้าเข้ามาทานน้อย
เช่น ช่วง 10.00-11.00 น. หรือ 14.00-16.00 น.
แม้ว่าลูกค้าจะน้อย แต่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจบางอย่างกลับไม่ได้ลดลง
อย่างเช่น ค่าพนักงาน, ค่าเช่าที่, ค่าไฟฟ้า ฯลฯ ที่ทางร้านยังคงต้องจ่ายอยู่
ดังนั้นการจัดโปรโมชันแบบบุฟเฟต์ ถึงจะส่งผลให้มีอัตรากำไรลดลงบ้าง เมื่อเทียบกับการขายแบบปกติ
แต่ก็สามารถสร้างรายได้เพิ่มเข้ามาได้มากกว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น หลายร้านจึงยอมเลือกวิธีดังกล่าวกัน
พออ่านถึงตรงนี้ หลายคนอาจถามแล้วว่า ทำไมร้านอาหารไม่จัดโปรโมชันโดยตรงเอง
คำตอบคือ แม้จะจัดโปรโมชันเองได้ แต่การประชาสัมพันธ์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะต้องใช้ทักษะในการทำการตลาด ที่มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
รวมถึงต้องสละเวลามาวางแผนกลยุทธ์ ซึ่งลำพังการบริหารวัตถุดิบและการจัดการร้าน ก็ยุ่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
การร่วมกับ Hungry Hub ที่มีฐานลูกค้าปี 2563 กว่า 450,000 ราย ภายในมือ
รวมถึงทำหน้าที่ในการโปรโมตร้านอาหารโดยเฉพาะอยู่แล้ว ก็ดูเหมือนว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า
อีกทั้ง Hungry Hub เก็บค่าคอมมิชชันเพียง 10% ของราคาอาหารโปรโมชันนั้น ๆ
และไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม หรือแม้กระทั่งค่าแรกเข้า
นั่นเลยเป็นที่มาว่าทำไมร้านอาหารหลายราย ยอมเข้าร่วมอยู่บนแพลตฟอร์ม Hungry Hub นั่นเอง
ซึ่งหลังจาก Hungry Hub เปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ ผลตอบรับก็ดีขึ้น
เพราะตอนนี้บริษัทได้เพิ่มผลประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่ายแล้ว
ผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม ได้เลือกทานอาหารในราคาพิเศษ สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายล่วงหน้าได้
และไม่ต้องกังวลว่า อาหารที่เลือกไว้จะหมด
ขณะที่ร้านอาหาร สามารถดึงดูดให้คนเข้ามาทานอาหารในช่วงเวลาที่ลูกค้าน้อย
ส่งผลมาสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงบริหารวัตถุดิบได้ดีกว่าเดิม
ดังนั้น ผลประกอบการและจำนวนผู้ใช้งานของ Hungry Hub จึงค่อย ๆ เติบโตขึ้น
แต่ Hungry Hub ก็พอรู้ว่า การเปลี่ยนร้านอาหารจานเดียวให้กลายเป็นบุฟเฟต์อย่างเดียว คงตอบโจทย์ได้ไม่ครบทุกร้าน จึงได้เพิ่มทางเลือกใหม่ โดยการแตกอีก 1 แพ็กเกจ
คือ Party Pack เซตอาหารราคาพิเศษ ที่จ่ายเพียงเงินจำนวนหนึ่ง และสามารถเลือกว่าทานอะไรได้บ้าง
ซึ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด Hungry Hub ได้จัด Hungry@Home สำหรับเสิร์ฟเซตอาหารส่งตรงถึงบ้านด้วย
ทำให้ผลประกอบการที่ผ่านมา ของบริษัท แอปป์เซอร์เวชั่น จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Hungry Hub เติบโตต่อเนื่อง
ปี 2561 รายได้ 6 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 15 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 27 ล้านบาท
จะเห็นว่า แม้ผลประกอบการของบริษัท จะเติบโตอย่างรวดเร็ว
แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยอยู่ เมื่อเทียบกับมูลค่าของอุตสาหกรรมร้านอาหารโดยรวมที่ 3.8 แสนล้านบาท
จึงยังมีช่องว่างและส่วนแบ่งเค้กให้ Hungry Hub เข้าไปไขว่คว้าได้อีกมาก
แต่ก็ต้องมาดูว่า หนทางข้างหน้าของ Hungry Hub จะราบรื่นหรือไม่
และจะต้องเจอกับโอกาสหรืออุปสรรคอะไรอีกบ้างในอนาคต..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.