กรณีศึกษา ทำไม TrueCoffee ต้องการเป็น Professional ทางด้านกาแฟและเบเกอรี

กรณีศึกษา ทำไม TrueCoffee ต้องการเป็น Professional ทางด้านกาแฟและเบเกอรี

22 ธ.ค. 2021
หากใครเดินผ่าน เซ็นเตอร์พอยท์ สยามสแควร์ ชั้น 1 ในช่วงนี้ สิ่งหนึ่งที่ต้องสะดุดตา
ก็คือร้าน TrueCoffee พร้อมกับพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าร้าน “TrueCoffee เปลี่ยนไป”
ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศร้านหรูหราโทนสีขาวที่ชวนให้นั่งได้ตลอดทั้งวัน
การปรุงอาหารอร่อย ๆ การชงกาแฟ และการทำเบเกอรีแบบครัวเปิด
ที่ทำให้เห็นทุกกระบวนการปรุงอาหารและเบเกอรี ที่ดูเพลินตา ไม่มีเบื่อ
จนถึงสิ่งที่เป็นกระแสในโลกออนไลน์ที่คนถ่ายรูปโชว์อัปลง Facebook, Instagram
ก็คือหุ่นยนต์บาริสตาตัวแรกของไทยที่ชื่อว่า น้องปุยฝ้าย ที่จะมาโชว์การ Drip Coffee
ลีลาและฝีมือเทียบเท่าบาริสตามืออาชีพ เลยทีเดียว
คำถามก็คือ TrueCoffee กำลังคิดและทำอะไรอยู่ ถึงต้องสร้างความโดดเด่นขนาดนี้
ปริศนาเรื่องนี้ถูกเฉลยโดยคุณณฐ เตชะวรรณเวคิน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรู ไลฟ์สไตล์ รีเทล จำกัด
ซึ่งเธอเล่าให้ MarketThink ฟังว่าสาขาเซ็นเตอร์พอยท์ สยามสแควร์
เวลานี้ถูกยกให้เป็น แฟล็กชิปสโตร์ ที่ใช้งบในการรีโนเวตมากกว่า 10 ล้านบาท
เป้าหมายก็เพื่อเป็นสัญลักษณ์สื่อสารกับลูกค้าว่า TrueCoffee กำลัง Rebranding
จากภาพการเป็นร้านกาแฟดิจิทัลของคนรุ่นใหม่ อาจไม่เพียงพอ
แต่ขอเพิ่มเติมภาพการเป็นร้านคาเฟ่ ที่ยกระดับเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟและเบเกอรี
ส่วนเหตุผลที่ TrueCoffee ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง
เรื่องนี้ก็มีที่มาที่ไป น่าสนใจเลยทีเดียว
หากย้อนอดีตกลับไปจุดเริ่มต้นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว
TrueCoffee ถูกวางตำแหน่งทางการตลาดเป็นร้านกาแฟ ที่เสิร์ฟให้แก่ลูกค้าใน True Shop ที่มาจ่ายบิลค่าโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต
พร้อมกับวางคอนเซปต์เป็นร้านกาแฟคนรุ่นใหม่ทันสมัยในยุคดิจิทัล
และด้วยรสชาติกาแฟที่อร่อยและ Concept ที่ใหม่แตกต่างจากร้านกาแฟอื่น ๆ ทำให้ TrueCoffee เติบโตและขยายสาขาออกไปนอก True Shop อย่างรวดเร็วจนปัจจุบันมีถึง 120 สาขา
จนเมื่อการแข่งขันในธุรกิจร้านกาแฟดุเดือดมากขึ้น เพราะเกิดแบรนด์ใหม่ ๆ ในตลาดมากมาย
อีกทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงไป TrueCoffee ก็ต้องปรับตัว เช่นกัน
แล้วพฤติกรรมการดื่มกาแฟ เปลี่ยนแปลงอย่างไร ?
คุณณฐ เล่าว่า หากเทียบเรื่องดีไซน์และภาพลักษณ์ร้านกาแฟทั่วไป
TrueCoffee ถือเป็นร้านที่ดูทันสมัยและมีฐานลูกค้าวัยรุ่นมากที่สุด
ขณะเดียวกันนั่นเอง กลุ่มวัยรุ่นก็เริ่มพัฒนาการดื่มกาแฟ
เมื่อพวกเขาอยากรู้ว่า กาแฟอร่อย ๆ ใน 1 ถ้วยนั้น มีกรรมวิธีการผลิตอย่างไร
ก็เลยทำให้สาขานี้ นอกจากมีเครื่องคั่วกาแฟ ที่ลูกค้าสามารถสั่งระดับความเข้มได้แล้วนั้น
การชงกาแฟต่าง ๆ ของบาริสตา ก็จะเป็นครัวเปิด เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นวิธีการชงกาแฟ
สรุปก็คือ TrueCoffee กำลังโชว์ให้ลูกค้าเห็นว่าตัวเองกำลังเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านกาแฟ
อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจก็คือ เวลานี้ ลูกค้าที่เข้าร้านกาแฟใช้เวลานานขึ้น
และไม่ได้ดื่มกาแฟเพียงอย่างเดียว แต่ยังทานเบเกอรีและอาหารเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
นั่นแปลว่าลูกค้า 1 คนเมื่อเข้าร้าน TrueCoffee จะมีค่าใช้จ่ายต่อบิลที่เพิ่มมากขึ้น
ก็เลยทำให้ TrueCoffee เลือกใช้เป็นอีกหนึ่งจุดขายที่ทำให้แตกต่างจากคู่แข่ง พร้อมกับยกระดับตัวเองให้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเบเกอรี
เพราะนอกจากจะมีครัวเปิดโชว์การทำเบเกอรีอร่อย ๆ แล้วนั้น
TrueCoffee ก็ยังร่วมมือกับเบเกอรีพรีเมียมแบรนด์ดังจากฝรั่งเศส Gontran Cherrier ที่มาพร้อมกับเชฟฝรั่งเศสที่จะมาปรุงแต่งรสชาติต้นตำรับ และอบใหม่พร้อมเสิร์ฟทุกวัน
ขณะเดียวกันในสาขานี้ก็จะมีครัวเปิดปรุงอาหารสดที่มีเชฟมืออาชีพ
โดยคุณณฐ บอกว่า เบเกอรีและอาหารต่าง ๆ
หากไม่อร่อยจริง เราก็ไม่ทำให้เสียความรู้สึกลูกค้า
พอจะมองเห็นภาพแล้วว่า TrueCoffee นอกจากจะเป็นร้านกาแฟไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
ก็ยังต้องการเสิร์ฟภาพการเป็น Professional ทางด้านกาแฟและเบเกอรีให้ลูกค้าจดจำ
โดยคุณณฐ บอกว่าโมเดลร้านที่สาขาเซ็นเตอร์พอยท์ สยามสแควร์
คือแฟล็กชิปสโตร์ ที่จะมีสาขาเดียว ส่วนครัวเบเกอรีที่เสิร์ฟ Gontran Cherrier แบรนด์ดังจากฝรั่งเศส
และอาหารก็จะขยายนำไปใช้ยังสาขาอื่น ๆ
โดยพิจารณาถึงพฤติกรรมลูกค้าในแต่ละทำเลเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจไม่รู้ว่าบริษัทแม่อย่าง True Corporation
กำลังให้ความสำคัญกับเรื่องการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน
ทีนี้เมื่อ TrueCoffee ก็เป็นหนึ่งธุรกิจในเครือของ True ก็ต้องเดินตาม Road map นี้ด้วยเช่นกัน
รู้หรือไม่ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา TrueCoffee ได้เข้าไปอบรม มอบเมล็ดพันธุ์กาแฟให้ชาวไร่ข้าวโพด
จากนั้นเมื่อปลูกได้กาแฟคุณภาพ ทาง TrueCoffee ก็รับซื้อในราคาที่เป็นธรรม
ทำให้ชาวไร่มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม
ซึ่งใครหลายคนอาจไม่รู้ว่า การปลูกข้าวโพดเป็นที่มาของการเผาซากไร่ข้าวโพดและป่า
ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก
สรุปคือภารกิจครั้งนี้ของ TrueCoffee ได้ผลประโยชน์ครบทุกฝ่าย ชาวไร่มีรายได้เพิ่มขึ้น, TrueCoffee ได้เมล็ดกาแฟคุณภาพในราคาเป็นธรรม สุดท้ายคือช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม
อีกหนึ่ง Move on ที่ร้านกาแฟอื่น ๆ ไม่ทำ แต่ TrueCoffee กำลังจริงจัง
ก็คือการมีสินค้าใหม่ ๆ ที่วางจำหน่ายนอกร้านกาแฟ เช่น “TrueCoffee Cup” กาแฟเย็นพร้อมดื่ม
ทรู วิตามิน วอเตอร์ จนถึงมีแผนทำธุรกิจอาหารพร้อมทาน
จะเห็นว่าความเคลื่อนไหวทั้งหมดของ TrueCoffee คือต้องการเป็น “มากกว่าร้านกาแฟ” ด้วยการสร้างแบรนด์สินค้าหลากหลายไม่จำกัดอยู่แค่ในร้านกาแฟ
หรือสรุปให้เห็นภาพก็คือ TrueCoffee
กำลังคิดว่าตัวเองไม่ใช่แค่แบรนด์ร้านกาแฟเหมือนอย่างในอดีต แต่ต้องการเป็นแบรนด์ที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนในยุคนี้ นั่นเอง..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.