จีน ทดลอง “ดวงอาทิตย์เทียม” สำเร็จ ร้อนกว่าของจริง 5 เท่า ปลุกความหวังใหม่ของพลังงานสะอาดในอนาคต

จีน ทดลอง “ดวงอาทิตย์เทียม” สำเร็จ ร้อนกว่าของจริง 5 เท่า ปลุกความหวังใหม่ของพลังงานสะอาดในอนาคต

5 ม.ค. 2022
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ประเทศจีน ประสบความสำเร็จในการทดลองเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ฟิวชัน เพื่อสร้าง “ดวงอาทิตย์เทียม” ด้วยการรักษาอุณหภูมิที่สูงกว่าดวงอาทิตย์จริง 5 เท่า (70,000,000 องศาเซลเซียส) อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1,056 วินาที หรือ 17 นาที
การทดลองที่ว่านี้ คือส่วนหนึ่งของโครงการ Experimental Advanced Superconducting Tokamak (EAST) หรือโครงการดวงอาทิตย์เทียมของจีน (Artificial Sun) ที่ตั้งอยู่ในมณฑลอันฮุย ทางตะวันออกของจีน
โดยเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาดวงอาทิตย์เทียม คือการมีพลังงานสะอาดที่ใช้ได้แบบไร้ขีดจำกัด ด้วยการเลียนแบบปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน (Nuclear Fusion) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์จริง
ซึ่งโครงการ EAST ใช้เงินทุนจากประเทศจีนไปแล้วกว่า 7 แสนล้านปอนด์ หรือราว 31 ล้านล้านบาท
และจะยังดำเนินการทดลองไปจนถึงเดือนมิถุนายน
ทั้งนี้ โครงการดวงอาทิตย์เทียม เป็นการใช้พลังงานจาก “ดิวเทอเรียม (Deuterium)” ในการสร้าง ซึ่งเป็นธาตุไฮโดรเจนหนักที่มีอยู่มากในทะเล สวนทางกับเชื้อเพลิงฟอสซิลที่กำลังจะหมดลงในอนาคต
ที่สำคัญคือ กระบวนการนี้ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และไม่ทิ้งของเสียอันตราย จึงได้พลังงานสะอาดที่มีเสถียรภาพ
แต่เรื่องนี้นับว่ายังห่างไกลจากการรับรู้ภายนอกห้องปฏิบัติการ แม้ว่าจะมีการวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้มานานหลายสิบปีแล้ว
นอกจากโครงการนี้ ทีมเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของจีน ก็ได้ให้การสนับสนุนทางเทคนิคแก่โครงการทดลองขนาดใหญ่อย่าง “International Thermonuclear Experimental Reactor หรือ ITER” อีกโครงการ
ซึ่งกำลังสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันในเมือง Marseille ประเทศฝรั่งเศส และเมื่อสร้างเสร็จจะเป็นเครื่องปฏิกรณ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง
เพราะพลังงานจากดวงอาทิตย์เทียมนี้ น่าจะมาเป็นหนึ่งในทางเลือกของแหล่งพลังงานสะอาดให้กับมวลมนุษยชาติ ในวันที่เราไม่อาจใช้พลังงานจากฟอสซิลได้แล้ว..
อ้างอิง:
-https://www.independent.co.uk/life-style/gadgets-and-tech/china-artificial-sun-nuclear-fusion-renewable-b1985795.html
-https://www.scmp.com/news/china/science/article/3161780/chinas-artificial-sun-hits-new-high-clean-energy-boost
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.