จีน แบนคริปโท แต่จะสร้างอุตสาหกรรม NFT บนบล็อกเชนที่รัฐเข้าสนับสนุนเอง

จีน แบนคริปโท แต่จะสร้างอุตสาหกรรม NFT บนบล็อกเชนที่รัฐเข้าสนับสนุนเอง

13 ม.ค. 2022
จีน ประกาศสร้างอุตสาหกรรม NFT โดยอาศัย Blockchain Services Network หรือ BSN ที่เป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานระบบบล็อกเชน ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาลจีน
โดยจะทำบล็อกเชนขึ้นมา เพื่อใช้สนับสนุนสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง NFT และจะเปิดตัวในปลายเดือนนี้ และบล็อกเชนที่สร้างขึ้นมานี้ จะไม่ได้เชื่อมโยงกับสกุลเงินคริปโท เช่น บิตคอยน์ แต่อย่างใด
ทั้งนี้ NFT หรือ Non-fungible Token คือ โทเคนที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ ทำให้สามารถแสดงความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์นั้น ๆ ได้ โดยแต่ละโทเคนจะแตกต่างกัน ไม่ต่างอะไรจากของสะสมหรือของมีมูลค่า
ซึ่ง NFT สามารถเป็นได้ทั้งงานศิลปะ, เพลง, วิดีโอ, เกม, ของเล่น, ที่ดินเสมือน และอื่น ๆ ที่สามารถซื้อขายกันในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัลได้
ที่ผ่านมา หลาย ๆ คนคงทราบกันดีว่ารัฐบาลจีน ได้แบนคริปโทไปหลายครั้งแล้ว
อย่างไรก็ดี การแบนเหล่านั้น ไม่เกี่ยวกับวงการ NFT
โดยทางคุณ He Yifan ซึ่งเป็น CEO ของ Red Date Technology ที่เป็นผู้สนับสนุนด้านเทคนิคให้กับ BNS บอกว่า
“NFT ไม่มีข้อพิพาททางกฎหมายใด ๆ ในประเทศจีน ตราบใดที่วงการ NFT ไม่ได้มีส่วนเข้าไปข้องเกี่ยวกับคริปโทอย่าง บิตคอยน์”
ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานที่ว่านี้ มีชื่อว่า “BSN-Distributed Digital Certificate หรือ BSN-DDC” และเพื่อแยกความแตกต่างของ NFT ที่ทำธุรกรรมบนบล็อกเชน จะมีการเสนอโปรแกรม API สำหรับหน่วยธุรกิจ และบุคคลทั่วไป เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างพอร์ทัลหรือแอปฯ ได้เอง ในการใช้จัดการ NFT
และจะอนุญาตให้ใช้เพียงแค่เงินหยวนในการซื้อและชำระค่าธรรมเนียมเท่านั้น
ส่วนด้านเหตุผลที่จีน ต้องทำโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมาเอง คุณ He Yifan กล่าวว่า
ปกติแล้ว NFT จะถูกเปิดตัวและเทรดกันในบล็อกเชนที่เปิดเป็นระบบสาธารณะ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแบบกระจายศูนย์ และเปิดโอกาสให้ทุก ๆ คนบนโลก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือเป็นใคร เข้าถึงได้ ขอแค่มีอินเทอร์เน็ต
อย่างไรก็ดี บล็อกเชนสาธารณะนั้น เป็นเรื่อง “ผิดกฎหมาย” ในประเทศจีน
เนื่องจากรัฐบาลจีนกำหนดให้ต้องใช้ระบบอินเทอร์เน็ตแบบ Single Gateway ซึ่งจะต้องยืนยันตัวตนผู้ใช้งาน และอนุญาตให้หน่วยงานกำกับดูแล เข้าไปแทรกแซงทุกกิจกรรมได้ เพื่อป้องกัน "กิจกรรมที่ผิดกฎหมาย"
ด้วยเหตุนี้ Red Date จึงหันไปใช้โซลูชันที่เรียกว่า “Open Permited Chain” ซึ่งเป็นเวอร์ชันดัดแปลงที่ควบคุมโดยกลุ่มคนที่กำหนดและควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้ เพื่อสร้างบล็อกเชนระบบปิดนั่นเอง
โดย BSN ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มพื้นฐานของโครงการ NFT ที่ Red Date เข้ามาช่วยเหลือในด้านเทคโนโลยีโครงสร้างพ้นฐาน ได้รับการสนับสนุนโดย China Mobile, China UnionPay และ State Information Centre
คุณ He Yifan กล่าวว่า BSN-DDC จะทำการบูรณาการบล็อกเชน 10 เชนเข้าด้วยกัน
ประกอบไปด้วย เวอร์ชันปรับปรุงของ Ethereum, Corda บวกกับ Fisco Bcos ของจีน ที่จัดตั้งโดย WeBank บริษัทฟินเทคที่ได้รับการสนับสนุนจาก Tencent
และแม้ว่า NFT จะไม่ได้ผิดกฎหมายในประเทศจีน แต่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายแห่งได้เลือกที่จะเรียกโครงการ NFT ว่า "ของสะสมดิจิทัล (Digital Collectible)" แทน ด้วยเหตุผลด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบ
โดยหากมาดูบริษัทในประเทศจีน ที่ได้เร่งเข้าสู่วงการ NFT หรือที่สะดวกใจเรียกกันว่าของสะสมดิจิทัล ก็จะมี Ant Group ซึ่งเป็นบริษัทด้านฟินเทคของจีน และ Tencent เป็นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนรายแรก ๆ ที่รุกเข้าสู่วงการ NFT โดยเปิดตัวผลิตภัณฑ์หลายสิบรายการ ตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนปีที่แล้ว
และทาง JD.com ที่เป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซ และ Baidu บริษัทเสิร์ชเอนจินของจีน ก็ตามมาติด ๆ ด้วยของสะสมดิจิทัล ที่ออกโดยบริษัท
แม้แต่สำนักข่าว Xinhua News Agency ของรัฐบาล ก็ยังมีการแจกของสะสมดิจิทัล มากกว่า 100,000 ชิ้นในวันคริสต์มาสอีฟที่ผ่านมาด้วย
ถึงแม้ว่า NFT ส่วนใหญ่จะนิยมใช้สำหรับงานศิลปะดิจิทัล แต่คุณ He Yifan บอกว่าตลาดที่ใหญ่ที่สุด น่าจะเป็นการจัดการใบรับรอง เช่น ป้ายทะเบียนรถ และประกาศนียบัตรของโรงเรียน ให้สามารถเก็บเป็น NFT ได้
เนื่องจากเทคโนโลยีนี้ ได้เข้ามาปฏิวัติการเก็บฐานข้อมูล ที่นับว่าสามารถสร้างความแตกต่างในการเข้าถึงข้อมูลได้ในรูปแบบใหม่
ตัวอย่างเช่น การจัดการป้ายทะเบียนรถ โดยใช้ NFT ทำให้เจ้าของรถ, รัฐบาล และบริษัทประกันภัย สามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น ระยะทาง, หมายเลขเครื่องยนต์ และประวัติการซ่อม
นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ประเทศจีน ออกมาลุยตลาด NFT เอง เพื่อให้คนในประเทศได้เข้าถึงเทคโนโลยี ที่ทุกคนทั่วโลกเข้าถึงกัน แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังถูกควบคุมโดยรัฐบาลจีนได้อยู่ดี..
อ้างอิง:
-https://www.scmp.com/tech/policy/article/3163094/china-create-own-nft-industry-based-state-backed-blockchain
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.