การสร้าง Personal Branding ที่แบรนด์เล็ก ๆ ก็ทำได้

การสร้าง Personal Branding ที่แบรนด์เล็ก ๆ ก็ทำได้

17 ม.ค. 2022
การสร้างแบรนด์บุคคล หรือที่เรียกว่า Personal Branding คือกลยุทธ์เนื้อหอมที่หลายแบรนด์มักหยิบมาใช้ ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
กลไกของมันคือการนำเอกลักษณ์เฉพาะของตัวบุคคล ที่คนคนนั้น สั่งสมหรือสร้างขึ้นมา
อาจเป็นความเชี่ยวชาญ, ความโดดเด่นเฉพาะตัว, บุคลิกลักษณะ, ไลฟ์สไตล์, การแต่งตัว, ท่าทางหรือน้ำเสียงการพูด เข้ามาผสมผสานกับแบรนด์ แล้วนำเสนอออกมา จนได้รับการยอมรับในหมู่คนจำนวนมาก
และกลายเป็นสัญลักษณ์ (Iconic) ที่หากใครพบเห็นก็จะต้องร้อง “อ๋อ” และรับรู้ทันทีว่าคือแบรนด์นี้
ตัวอย่างการสร้าง Personal Branding ระดับโลก เช่น
- โอปราห์ วินฟรีย์ ตัวแทนผู้หญิงผิวสีที่มีความเป็น “นักสู้” สู่พิธีกร The Oprah Winfrey Show รายการทอล์กโชว์ที่มีเรตติงการชมสูงที่สุดในประวัติศาสตร์รายการโทรทัศน์
- ไมเคิล แจ็กสัน ราชาเพลงพ็อปในตำนาน ที่มีท่าเต้น “มูนวอล์ก” และ “ลูบเป้า” เป็นท่าประจำตัว
- สตีฟ จอบส์ ผู้คิดค้นนวัตกรรมสมาร์ตโฟนเปลี่ยนโลก ตัวแทนของความเรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยลูกเล่น ทั้งการนำเสนอผลิตภัณฑ์ การแต่งตัว และวิธีคิด
จากตัวอย่างที่ยกมา จะเห็นว่าสิ่งที่ทำให้ Personal Branding เกิดขึ้นมาได้ นอกจากจะเป็นการสร้างตัวตนด้วยความต่อเนื่องแล้ว สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือ “พื้นที่สื่อ” ที่จะทำให้ตัวตนเหล่านั้นเข้าถึงได้ และเกิดภาพจำจนเป็นสัญลักษณ์ (Iconic) ของตัวบุคคล
ดังนั้น เราจึงสรุปได้ว่า องค์ประกอบของการสร้าง Personal Branding คือ
1) เอกลักษณ์ของตัวบุคคล
มนุษย์ทุกคนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน วิธีคิด ทัศนคติ บุคลิกท่าทาง น้ำเสียง หรือแม้แต่ลักษณะการพูด
ดังนั้น การสร้าง Personal Branding ทุกคนสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ใหญ่หรือแบรนด์เล็กเองก็ตาม เพราะ “ต้นทุน” ของการสร้าง Personal Branding คือ ตัวผู้นำเสนอ ความตั้งใจ และการเชื่อว่าสิ่งที่ทำอยู่ คือสิ่งที่จะส่งผลดีต่อแบรนด์ในระยะยาว
ซึ่งในข้อนี้ก็มีข้อควรระวัง เนื่องจากชื่อเสียงของบุคคลเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับแบรนด์ได้ รวมถึงยุคโซเชียลมีเดียที่ข่าวสารแพร่ไปได้ไวมาก ทั้งเรื่องดีและไม่ดี การนำตัวบุคคลมาเชื่อมโยงกับแบรนด์ จึงต้องระมัดระวังในเรื่องภาพลักษณ์ และการกระทำมากเป็นพิเศษ
2) ระยะเวลาและความต่อเนื่อง
Personal Branding ต้องใช้ความต่อเนื่องในการทำให้คนจำนวนมากรับรู้และเกิดการยอมรับ รวมถึงต้องใช้ระยะเวลาที่มากพอในการสร้าง และถ่ายทอดความเป็นตัวตนออกมา ซึ่งเราไม่สามารถการันตีได้ว่า Personal Branding จะเกิดและได้รับการยอมรับเมื่อไร สิ่งเหล่านี้ตัวผู้บริโภคจะเป็นคนตัดสินเอง
3) พื้นที่สื่อให้ความสนใจ
Personal Branding จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดพื้นที่สื่อ ซึ่งเปรียบเหมือนเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ Personal Branding กระจายการรับรู้ไปในวงกว้าง และเข้าถึงผู้คนได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือมีประสิทธิภาพ
หลังจากอ่านมาถึงตรงนี้ หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่า ทำไมต้องสร้างแบรนด์ด้วยบุคคล ?
เหตุผลก็เพราะว่า ทุกวันนี้สินค้าและบริการจำนวนมาก มีความคล้ายคลึงกัน จนไม่สามารถแยกความแตกต่างได้อย่างชัดเจน
ยกตัวอย่างเช่น ร้านอาหาร ทุกร้านพยายามนำเสนอเรื่องรสชาติ การบริการ และราคาที่เข้าถึงได้ แต่สุดท้ายผู้บริโภคก็มองว่าร้านอาหารแต่ละร้านไม่ได้ต่างกัน และตัดสินใจจากอารมณ์อยู่ดี ในการเลือกว่ามื้ออาหารนั้น ๆ อยากทานอะไร
แต่ถ้าเราสร้าง Personal Branding ร้านอาหารของเราจะโดดเด่นขึ้นมาทันที เพราะไม่มีใครลอกเลียนแบบบุคลิกลักษณะตาม Personal Branding ของเราได้ 100%
ซึ่งถ้ายกตัวอย่างแบรนด์ไทยที่สร้าง Personal Branding ได้สำเร็จ โดยเป็นแบรนด์ขนาดเล็ก ก็จะมี
- หมูทอดเจ๊จง
ร้านข้าวแกงที่โด่งดังมาจากเมนูข้าวหมูทอด โดยถ่ายทอดเรื่องราวผ่าน เจ๊จง ตัวแทนของ Personal Branding ที่เป็นคนสู้ชีวิต พลิกจากการเป็นหนี้ สู่ร้านข้าวแกงราคาถูกที่ทำให้ทุกคนได้อิ่มท้อง
- เจ๊ไฝ
หญิงสาวผู้มาพร้อมกับเตาถ่าน และท่าทีทะมัดทะแมงในการปรุงอาหาร ภาพจำของเจ๊ไฝค่อย ๆ ถูกสร้างขึ้นและถูกบอกต่อ จากรสชาติอาหารที่อร่อย เทคนิคการทำเมนูไข่เจียวปูที่ไม่เหมือนใคร และเอกลักษณ์ของเจ๊ไฝ ทุกอย่างถูกหล่อหลอมให้เกิด Personal Branding ที่ใคร ๆ ก็จดจำได้
- เครปป้าเฉื่อย
ป้าหลี อายุ 70 ปี เจ้าของร้าน เครปป้าเฉื่อย หรืออีกฉายาคือเครปชาติหน้า เอกลักษณ์คือการประณีต
ทำเครปอย่างใจเย็น ตัวแป้งที่อร่อยจากสูตรลับของป้าหลีและไส้ที่ให้เยอะ ทำให้คนยอมจองคิวซื้อข้ามวันข้ามคืนเลยทีเดียว
หรือแม้แต่ร้านก๋วยเตี๋ยวที่แม่ค้ามีฝีปากจัดจ้าน ก็เป็นการสร้าง Personal Branding ด้วยเช่นกัน
เอกลักษณ์ของ Personal Branding เหล่านี้เอง ได้สร้างความโดดเด่นจนร้านของตัวเองแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดเดียวกัน อีกทั้งยังทำให้คนจดจำได้แม่นมากกว่าร้านไหน ๆ
ซึ่งสาเหตุที่การสร้าง Personal Branding ทำให้แบรนด์นั้น ๆ จดจำได้ง่ายกว่าแบรนด์อื่น ก็เพราะว่า
“บุคคล” จะจำ “บุคคลด้วยกันเอง” ได้ง่ายกว่า การจดจำแบรนด์ นั่นเอง
สิ่งเหล่านี้อธิบายได้จาก การที่มนุษย์เติบโตมาพร้อม ๆ กับการได้พบเจอกับการสร้าง Personal Branding อยู่ตลอดเวลา นั่นคือคนรอบข้างเรา ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน หรือใครก็ตาม ทุกคนล้วนแล้วแต่มี Personal Branding ด้วยกันทั้งสิ้น
เช่น เพื่อนของเราแต่ละคนก็จะมีเอกลักษณ์แตกต่างกัน บางคนเป็นคนง่าย ๆ สบาย ๆ เพื่อนว่าอย่างไรก็ไม่ขัด บางคนเป็นสีสันของกลุ่ม ก็มักจะสร้างเสียงหัวเราะให้กับเพื่อนได้เสมอ บางคนเป็นเพื่อนนักสู้ ไม่ยอมคน พร้อมบวกกับคนได้ตลอด หรือบางคนที่มีความรู้เฉพาะทางในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาก ๆ ก็จะถูกยกย่องว่าเก่งในเรื่องนั้น และผู้คนก็จะนึกถึงเป็นคนแรกเมื่อต้องการคำปรึกษา
องค์ประกอบที่แตกต่างกันดังกล่าว เปรียบเสมือนแบรนด์ที่สะท้อนตัวตนของคนเหล่านั้น และก็เป็นแบรนด์หนึ่งเดียวในโลก ที่ใครก็ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้
ดังนั้น การนำคนมาเชื่อมโยงกับแบรนด์ จึงสร้างการจดจำ และ Brand Loyalty ได้ง่ายกว่า
แต่การสร้าง Personal Branding สำหรับบางคน อาจดูเป็นเรื่องที่ยาก เพราะคิดว่าเหมาะกับคนที่กล้าแสดงออกหรือชอบออกสื่อมากกว่า ซึ่งไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะความชอบของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน
ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่า เรากล้าเอาตัวเองออกมานำเสนอหรือไม่
ซึ่งก็ไม่แน่ว่าการสร้าง Personal Branding อาจทำให้เกิดฐานแฟนคลับจำนวนมาก ที่พร้อมจะซื้อสินค้าหรือบริการของเรา แม้ว่าเรายังไม่ได้ผลิตมันออกมาเลยก็ตาม..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.