อธิบายวงล้อสี “Color Wheel” เครื่องมือ จับคู่สีที่ใช่ 5 แบบ ใช้สร้าง Branding ให้แข็งแรง

อธิบายวงล้อสี “Color Wheel” เครื่องมือ จับคู่สีที่ใช่ 5 แบบ ใช้สร้าง Branding ให้แข็งแรง

25 พ.ค. 2025
หากเอ่ยถึงเรื่อง “สี” หลายคนน่าจะรู้อยู่แล้วว่าการเลือกใช้สี มีความสำคัญต่อการตลาด และการสร้างแบรนด์เป็นอย่างมาก
เพราะสีแต่ละสีทำหน้าที่ในการกระตุ้นอารมณ์ ความรู้สึก ความทรงจำ และมีความหมายในเชิงจิตวิทยาที่แตกต่างกัน เช่น
สีเหลือง ให้ความรู้สึกสดใส ร่าเริง อบอุ่น
สีแดง ให้ความรู้สึกตื่นเต้น เร้าใจ
สีน้ำเงิน และสีฟ้า ให้ความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย และสื่อถึงความฉลาด
สีเขียว ให้ความรู้สึกถึงธรรมชาติ มีชีวิตชีวา และความอ่อนโยน
ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริง เราคงไม่สามารถเลือกใช้สีใดสีหนึ่ง สำหรับการทำการตลาด หรือการสร้างแบรนด์ได้
ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบโลโก แพ็กเกจจิง หรือภาพกราฟิกต่าง ๆ ที่แบรนด์ใช้ จำเป็นต้องมีการเลือกใช้สีที่หลากหลาย
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า จะเลือกใช้สีหลาย ๆ สีร่วมกันอย่างไร ให้ทั้งสวยงาม โดดเด่น และทำให้คนจดจำแบรนด์ได้ ?
สิ่งที่ต้องอธิบายก่อนเป็นอันดับแรกก็คือ “วงล้อสี (Color Wheel)”
วงล้อสี (Color Wheel) หรือบางครั้งก็ถูกเรียกว่าวงจรสี
เป็นเครื่องมือที่คิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกโดย เซอร์ไอแซก นิวตัน เมื่อปี 1666 ใช้สำหรับจัดวางสีต่าง ๆ ที่เรามองเห็นได้ด้วยตาให้อยู่ในที่เดียวกัน และยังสามารถแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสีต่าง ๆ ได้อีกด้วย
โดยวงล้อสีนั้น เกิดขึ้นจาก 3 แม่สีหลัก คือ สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน
และเมื่อนำแม่สีมาผสมกัน ก็จะได้ออกมาเป็นสีบนวงล้อสี จำนวน 12 สี แบ่งออกเป็นสีในโทนอุ่น และสีในโทนเย็น อย่างละ 6 สี ได้แก่
- สีโทนอุ่น
ได้แก่ สีเหลือง (ครึ่งสีแรก) สีส้มอมเหลือง สีส้ม สีส้มอมแดง สีแดง สีม่วงอมแดง และสีม่วง (ครึ่งสีแรก)
- สีโทนเย็น
ได้แก่ สีเหลือง (อีกครึ่งสีที่เหลือ) สีเขียวอมเหลือง สีเขียว สีเขียวอมน้ำเงิน สีน้ำเงิน สีม่วงอมน้ำเงิน และสีม่วง (อีกครึ่งสีที่เหลือ)
ทีนี้ หลังจากทำความเข้าใจเรื่องวงล้อสีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อไปมาดูกันว่า แล้วเราจะมีวิธีในการจับคู่สี ที่อยู่บนวงล้อสีได้อย่างไรบ้าง ?
โดยปกติแล้ว การจับคู่สีบนวงล้อสีนั้น จะมีวิธีหลัก ๆ อยู่ด้วยกัน 5 วิธี ได้แก่
1. สีคู่ตรงข้าม (Complementary Colors)
เป็นการเลือกคู่สีที่ง่ายที่สุด และทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันดีที่สุด นั่นก็คือการเลือกคู่สีที่อยู่ตรงข้ามกันบนวงล้อสี โดยต้องเลือกสีหลักที่ต้องการก่อน แล้วจึงเลือกสีที่อยู่ตรงข้ามกัน
ตัวอย่างการเลือกคู่สีตรงข้าม เช่น
- สีเขียว มีสีคู่ตรงข้ามคือ สีแดง
- สีน้ำเงิน มีสีคู่ตรงข้ามคือ สีส้ม
- สีส้มอมแดง มีสีคู่ตรงข้ามคือ สีเขียวอมน้ำเงิน
ข้อดีของการจับคู่สี ด้วยวิธีการเลือกสีคู่ตรงข้ามก็คือ ได้สีที่มีความตัดกัน และมีความแตกต่างกันของโทนสีอย่างรุนแรง ช่วยเพิ่มความโดดเด่น และความสว่างให้กับงานออกแบบ
2. สีในโทนเดียวกัน (Monochromatic Colors)
อธิบายแบบง่าย ๆ ก็คือ การนำสีเพียงสีเดียวมาใช้ในงานออกแบบ โดยอาจนำสีเพียงสีเดียวที่เลือกมา ใช้คู่กับสีในโทนขาว-ดำ ก็ได้ เพราะสีในโทนขาว-ดำ เป็นโทนสีกลาง ๆ ที่เข้ากันได้กับแทบทุกสีอยู่แล้ว
แต่การเลือกใช้สีเพียงสีเดียว ไม่ได้หมายความว่า งานออกแบบของเราจะไม่มีลูกเล่นใด ๆ เลย
เพราะเราสามารถเลือกใช้สีเดียวกัน แต่มีความสด หรือความซีด ที่แตกต่างกันได้ เพื่อทำให้สีที่เลือกใช้มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างการเลือกใช้สี เช่น
- เลือกใช้สีแดงสด คู่กับ สีแดงอ่อน
- เลือกใช้สีน้ำเงินเข้ม คู่กับ สีน้ำเงินอ่อน ๆ ก็ได้เช่นเดียวกัน
3. สีข้างเคียง (Analogous Colors)
เป็นการเลือกใช้สีที่อยู่ข้างเคียงทางด้านซ้ายและขวา ของสีหลักที่เราเลือกไว้ในตอนแรก รวมทั้งหมด 3 สี
โดยข้อดีของการเลือกใช้สีแบบนี้คือความง่าย ได้สีที่ไปในทิศทางเดียวกัน ดูกลมกลืน ทำให้งานออกแบบไม่โดดไปมา
ตัวอย่างการเลือกใช้สี เช่น
- สีส้ม ใช้คู่กับ สีส้มอมแดง และสีส้มอมเหลือง
- สีเขียว ใช้คู่กับ สีเขียวอมน้ำเงิน และสีเขียวอมเหลือง
4. สามสีตรงข้าม หรือสีสมดุล (Triadic Colors)
เป็นวิธีการเลือกใช้สี ที่คล้ายกับการเลือกคู่สีตรงข้าม แต่เป็นการเลือกคู่สีที่อยู่ตรงข้ามกับสีหลักอีก 2 สี มาใช้ร่วมกันทั้งหมด 3 สี
โดยตำแหน่งบนวงล้อของทั้ง 3 สี จะมีลักษณะคล้ายกับสามเหลี่ยมด้านเท่าที่มีความสมดุลกัน จึงเป็นที่มาของชื่อ Triadic Colors นั่นเอง
ข้อดีของการเลือกใช้สีในลักษณะนี้ก็คือ มีความหลากหลาย มีทั้งสีในโทนร้อน และโทนเย็นอยู่ร่วมกัน ทำให้มีความสมดุล สีไม่ตัดกันเกินไป
ตัวอย่างการเลือกใช้สี เช่น
- สีเหลือง ใช้คู่กับสีแดง และสีน้ำเงิน
- สีม่วง ใช้คู่กับสีเขียว และสีส้ม
5. สี่สีตรงข้าม (Tetradic Colors)
เป็นการเลือกใช้สีทั้งหมด 4 สี บนวงล้อสี โดยมีตำแหน่งของสีคล้ายกับสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส
โดยข้อดีของการเลือกใช้สีในลักษณะนี้คือ มีทั้งสีที่ใกล้เคียงกัน และสีที่ตรงข้ามกัน ในชุดสีเดียว
แต่การเลือกใช้สีในลักษณะนี้อาจไม่ได้รับความนิยมมากเท่าการเลือกใช้สีในลักษณะอื่น เพราะยิ่งมีการเลือกใช้สีมาก ก็จะยิ่งยากต่อการนำไปใช้ และออกแบบงานต่าง ๆ
ตัวอย่างการเลือกใช้สี เช่น
- สีเขียวอมเหลือง สีเหลืองอมส้ม สีม่วงอมแดง และสีม่วงอมน้ำเงิน
- สีเขียว สีส้ม สีแดง และสีน้ำเงิน
ซึ่งการเลือกใช้สีทั้ง 5 วิธีนี้ สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการใช้เว็บไซต์ที่ทำวงล้อสีแบบสำเร็จรูปให้เราใช้งานโดยเฉพาะ
ตัวอย่างเช่น เครื่องมือวงล้อสีของ Canva ที่ผู้ใช้สามารถเลือกวิธีการเลือกใช้สีได้ทั้งหมด 5 รูปแบบ พร้อมทั้งสามารถใช้เมาส์จิ้มสีได้ตามความต้องการ พร้อมทั้งบอกโคดสี ที่สามารถคัดลอกและนำไปใช้ต่อ ในโปรแกรมออกแบบกราฟิกได้ทันที
หากใครอยากลองใช้ เครื่องมือวงล้อสีของ Canva สามารถเข้าไปใช้ได้ที่เว็บไซต์นี้
https://www.canva.com/colors/color-wheel/
ทั้งหมดนี้คือ ทฤษฎีวงล้อสี (Color Wheel) และการจับคู่สีแบบคร่าว ๆ ที่ใคร ๆ ก็สามารถนำไปใช้ได้ ทั้งกับการตลาด การสร้างแบรนด์ หรือแม้แต่การออกแบบกราฟิก ตั้งแต่ระดับเริ่มต้น รวมถึงระดับมืออาชีพ
ซึ่งต้องเน้นย้ำกันอีกทีว่า สีที่เลือกใช้มีความสำคัญมากกว่าที่คิด
เพราะสีไม่ใช่แค่เรื่องของความสวยงาม แต่เป็นสิ่งที่กระตุ้นอารมณ์ ความรู้สึก และความทรงจำ ซึ่งช่วยทำให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้อีกด้วย
© 2025 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.