จีน สร้าง “ดวงจันทร์เทียม” สำหรับทดสอบอุปกรณ์สำรวจดวงจันทร์ ในสภาพแรงโน้มถ่วงต่ำ

จีน สร้าง “ดวงจันทร์เทียม” สำหรับทดสอบอุปกรณ์สำรวจดวงจันทร์ ในสภาพแรงโน้มถ่วงต่ำ

19 ม.ค. 2022
จากประโยคที่ชาวโซเชียลมักล้อเลียนว่า "พระเจ้าสร้างโลก นอกนั้นจีนสร้างหมด" คงไม่ไกลเกินจริงแล้วในสมัยนี้
เพราะเมื่อไม่นานมานี้ จีนได้ประสบความสำเร็จในการเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ฟิวชัน สำหรับสร้าง “ดวงอาทิตย์เทียม” ที่มีความร้อนกว่าดวงอาทิตย์จริง 5 เท่า เป็นเวลา 17 วินาที
ซึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นความหวังใหม่ของแหล่งพลังงานสะอาดในอนาคต
และล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จีน ก็ได้สร้าง “ดวงจันทร์เทียม (Artificial Moon)” ขึ้นมาบนโลก
เพื่อเอาไว้ทดสอบอุปกรณ์หรือเทคโนโลยี ที่ต้องการจะนำไปใช้จริงบนดวงจันทร์ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่ต่างจากโลกมาก เช่น ในสภาพแรงโน้มถ่วงต่ำ และสภาพอากาศที่สามารถแปรผันได้อย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น
โดยช่วงที่ผ่านมา การแข่งขันเพื่อการสำรวจอวกาศกำลังร้อนเป็นไฟ เนื่องจากหลาย ๆ หน่วยงานของแต่ละประเทศ ต่างมองหาการตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ เพื่อช่วยดำเนินการทางอวกาศ นอกเหนือจากสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS
ในขณะที่สหรัฐฯ กำลังปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เพื่อพามนุษยชาติขึ้นไปอยู่อาศัยบนดวงจันทร์
หากหันมาดูที่ประเทศจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ก็นับว่าตามหลังมาอยู่ไม่ไกลนัก
เพราะนักวิทยาศาสตร์จีน เพิ่งได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า “ดวงจันทร์เทียม”
ซึ่งโครงการดวงจันทร์เทียมนี้ ตั้งอยู่ในมณฑลเจียงซูทางตะวันออก
และคาดว่าโรงงานแห่งนี้ จะทำภารกิจวิจัยเกี่ยวกับการสำรวจดวงจันทร์ของจีน ซึ่งน่าจะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้
โดยดวงจันทร์จริง มีแรงโน้มถ่วงเป็น 1 ใน 6 ของโลก ดังนั้นการสร้างสภาพแวดล้อมบนดวงจันทร์ขึ้นมา จึงนับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะจะสามารถเพิ่มอัตราเร่งการสำรวจดวงจันทร์ได้อีกหลายเท่าตัว
และทาง NASA หน่วยงานด้านอวกาศของสหรัฐฯ เอง ก็กำลังฝึกนักบินอวกาศในการจัดการตัวเองในสภาวะไร้น้ำหนัก ผ่านเที่ยวบินแบบ Parabolic Flight เพื่อฝึกให้นักบินอวกาศ จำลองอยู่ในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ
โดยดวงจันทร์เทียมที่จีนสร้างขึ้น จะจำลองสภาพแวดล้อมที่มีแรงโน้มถ่วงต่ำเป็นระยะเวลานาน ๆ ได้ ทำให้สามารถใช้ทดสอบรถแลนด์โรเวอร์ที่ใช้บนดวงจันทร์, อุปกรณ์สำรวจดวงจันทร์ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะใช้ในการสำรวจดวงจันทร์ได้
คุณ Li นักวิทยาศาสตร์จีน กล่าวว่า
“ในขณะที่เครื่องบิน หรือการจำลองสภาวะตกตึก (Drop Tower) สามารถทำให้เจอกับสภาพแรงโน้มถ่วงต่ำได้ แต่ก็เป็นช่วงเวลาเพียงชั่วครู่
แต่เครื่องจำลองที่พวกเรากำลังสร้าง สามารถให้แรงโน้มถ่วงต่ำได้นานเท่าที่คุณต้องการ”
ทั้งนี้ ภายในเครื่องจำลอง หัวใจของมันคือห้องสุญญากาศที่มี "ดวงจันทร์เทียม" ขนาดเล็ก ที่เต็มไปด้วยหิน และเศษฝุ่น ซึ่งลอยฟุ้งในอากาศคล้ายสภาพบนพื้นผิวดวงจันทร์จริง ๆ
อย่างไรก็ดี ดวงจันทร์เทียมนี้ มีเพียงปัญหาเดียวเท่านั้นคือเรื่องของ “ขนาด” เพราะดวงจันทร์เทียมมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ฟุต หรือประมาณ 61 ซม. เท่านั้น
ดังนั้น จึงมีพื้นที่เพียงพอสำหรับใช้ในการทดสอบอุปกรณ์เท่านั้น ไม่สามารถใช้สำหรับการฝึกนักบินอวกาศได้
เช่น ใช้ในการทดสอบว่า เราจะใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานบนผิวดวงจันทร์ได้หรือไม่
แม้กระทั่งการทดสอบสภาพบนดวงจันทร์ว่า มนุษย์จะสามารถไปตั้งถิ่นฐานอยู่บนนั้นแบบถาวรได้หรือไม่ รวมไปถึงประเด็นอย่าง พื้นผิวดวงจันทร์ดักจับความร้อนได้ดีเพียงใด
นักวิทยาศาสตร์ในโครงการกล่าวว่า แบบจำลองของพวกเขาได้รับแรงบันดาลใจจากการทดลองในปี 1997
โดยคุณ Andre Geim นักฟิสิกส์ที่เกิดในรัสเซีย ที่ใช้แม่เหล็กเพื่อทำให้กบลอยได้
และเมื่อสนามแม่เหล็กแข็งแรงเพียงพอ สนามแม่เหล็กนั้นจะเกิดแรงดึงดูด และลอยตัวสิ่งต่างๆ ตั้งแต่กบที่มีชีวิตไปจนถึงเกาลัด ต้านแรงโน้มถ่วงโลก
นี่ก็นับเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการอันยิ่งใหญ่ของประเทศมหาอำนาจอย่างจีน ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า ถ้าหาก “ดวงจันทร์เทียม” นี้ประสบความสำเร็จ ก็อาจทำให้เร่งความก้าวหน้าในการสำรวจดวงจันทร์ เร็วขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว
นอกจากนี้ ยังมีโอกาสในการพัฒนาไปเป็นสเกลที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต
เราอาจได้เห็นห้องจำลองผิวดวงจันทร์ ที่สามารถทดสอบได้ทั้งนักบินอวกาศ และเทคโนโลยีอื่น ๆ
หรืออาจมีการจำลองสภาพแวดล้อมอวกาศของดาวดวงอื่น ๆ ตามมา
เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า อีลอน มัสก์ ก็มีความฝันที่จะพามนุษย์ ไปตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคาร
เพื่อหาดาวที่ไหนสักดวง ที่มนุษยชาติจะสามารถไปตั้งถิ่นฐานอยู่ได้ รับมือกรณีเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นกับโลกของเรา
ซึ่งก็น่าคิดว่า ต่อไปจีนอาจสร้าง “ดาวอังคารเทียม” สำเร็จก่อนที่ อีลอน มัสก์ จะไปเหยียบดาวอังคารจริง ๆ ก็ได้..
อ้างอิง:
-https://gadgets.ndtv.com/science/news/moon-artifiical-china-test-lunar-exploration-equipment-2714159
-https://www.scmp.com/news/china/science/article/3162972/china-has-built-artificial-moon-simulates-low-gravity-conditions?module=perpetual_scroll_0&pgtype=article&campaign=3162972
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.