จีน เริ่มโครงการนำร่อง ใช้บล็อกเชนกับหน่วยราชการ และธุรกิจในประเทศ เพื่อแชร์ข้อมูล

จีน เริ่มโครงการนำร่อง ใช้บล็อกเชนกับหน่วยราชการ และธุรกิจในประเทศ เพื่อแชร์ข้อมูล

1 ก.พ. 2022
ล่าสุด หน่วยงานกำกับดูแลของจีน เริ่มกำหนดพื้นที่และองค์กรต่าง ๆ รวมกว่า 164 หน่วยงาน เพื่อทดลองโครงการบล็อกเชนของรัฐบาล ในการแบ่งปันข้อมูลแล้ว
โดยโครงการนำร่องเทคโนโลยีบล็อกเชน จะเริ่มจากกรุงปักกิ่ง, เซียงไฮ้ และกว่างโจว
และทดลองใช้กับหน่วยงานราชการท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่, มหาวิทยาลัย, ธนาคาร, โรงพยาบาล, บริษัทรถยนต์ และบริษัทด้านพลังงาน รวม ๆ กว่า 164 หน่วยงาน ซึ่งได้ทำการคัดเลือกโดยรัฐบาลจีน
สืบเนื่องจากที่ในปี 2019 สี จิ้นผิง ได้ออกมาเรียกร้องให้จีนคว้าโอกาสในการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนให้เป็นประโยชน์ ผ่านการเข้าสนับสนุนเทคโนโลยีนี้เป็นการส่วนตัว
ทั้งนี้ เดิมทีแล้วเทคโนโลยีบล็อกเชน ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนระบบการเงินไร้ศูนย์กลาง อย่างบิตคอยน์
ซึ่งเป็นระบบการเก็บข้อมูลที่ไม่มีตัวกลาง (Decentralize) ข้อมูลที่ได้รับจะถูกตรวจสอบ, กระจาย และจัดเก็บเป็นสำเนาไว้ในเครื่องของทุกคนที่ใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน ทำให้การเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่เกิดขึ้นและถูกบันทึกแล้ว เป็นไปได้ยาก
เวลาต่อมา นิยามของเทคโนโลยีบล็อกเชน ก็เริ่มกว้างขึ้นจากการที่หลาย ๆ อุตสาหกรรม เริ่มเห็นโอกาสในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้
ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือหน่วยงานไซเบอร์ของจีน ที่ได้ออกมาประกาศเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า
“ให้หน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละจังหวัด ให้ความสำคัญกับบล็อกเชนอย่างเต็มที่ในการดำเนินการด้านต่าง ๆ เช่น การแชร์ข้อมูล, การเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจ และลดต้นทุนการดำเนินงาน”
อีกทั้งยังบอกว่า หน่วยงานนำร่องทั้งหมดควรนำระบบซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ สำหรับเทคโนโลยีบล็อกเชนมาปรับใช้ด้วย
อย่างไรก็ดี การผลักดันเทคโนโลยีบล็อคเชนของจีน เกิดขึ้นหลังจากการแบนคริปโท และการขุดบิตคอยน์ เพราะรัฐบาลจีนมองว่าบิตคอยน์ และสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางการเงินของประเทศ
แต่ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางของจีน ก็เพิ่งเปิดตัวสกุลหยวนดิจิทัล (e-CNY) ให้สามารถใช้งานได้อย่างเป็นทางการ ในช่วงโอลิมปิกเกม 2022 ไปไม่นาน
แต่ทั้งนี้ ก็ยังถือว่าหยวนดิจิทัลของจีน ยังไม่ใช่ระบบการเงินแบบกระจายศูนย์เหมือนกับบิตคอยน์ เนื่องจากก็ยังถูกควบคุมโดยธนาคารกลางจีนอยู่ดี
หากมองในอีกมุม จีนกำลังพยายามนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาปรับใช้ภายในประเทศ
แม้แต่เทคโนโลยีที่ขึ้นชื่อและมีวัตถุประสงค์ในการสร้างระบบ “ไร้ศูนย์กลาง” เพื่อความเป็นธรรมและโปร่งใส มาใช้เพื่อ “รวมอำนาจ” ในแบบฉบับของรัฐบาลจีน
เพื่อที่จะได้สามารถตรวจสอบ, สอดส่อง และควบคุมทุก ๆ ข้อมูลของประเทศ
ตั้งแต่ระดับข้อมูลบุคคล ไปจนถึงบริษัทเทคโนโลยีที่ครอบครองข้อมูลผู้ใช้ในประเทศทั้งหมด ให้อยู่ภายใต้สายตาและการจัดการของรัฐบาล
รวมถึงส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลจีนอย่าง “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” (Common Prosperity)
อ้างอิง:
-https://www.cnbc.com/2022/01/31/china-names-blockchain-trial-zones-after-crackdown-on-cryptocurrencies.html
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.