สิงห์ เอสเตท เผยกลยุทธ์ปี 2565 ตั้งเป้ารายได้พุ่งเท่าตัว ทำนิวไฮแตะ 13,400 ล้านบาท

สิงห์ เอสเตท เผยกลยุทธ์ปี 2565 ตั้งเป้ารายได้พุ่งเท่าตัว ทำนิวไฮแตะ 13,400 ล้านบาท

21 มี.ค. 2022
นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สิงห์ เอสเตท กล่าวว่า
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สิงห์ เอสเตท ได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยมุ่งเน้นกลยุทธ์กระจายการลงทุนเพื่อสร้างความหลากหลายใน 4 กลุ่มธุรกิจที่เชื่อมโยงกัน ทำให้บริษัทฯ สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้อย่างสม่ำเสมอ
ในปี 2565 นี้ เราจึงมีแผนในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านรายได้และการเงินอย่างต่อเนื่อง
ผ่านโครงการต่าง ๆ รวมถึงโครงการร่วมทุนกับพันธมิตร และการนำทรัพย์เข้ากอง เอส ไพรม์ โกรท หรือ SPRIME
โดยคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น จากผลงานในปี 2564 ซึ่งมีรายได้รวมอยู่ที่ 7,739 ล้านบาท อีกเกือบเท่าตัว โดยตั้งเป้าเป็นนิวไฮอยู่ที่ 13,400 ล้านบาท”
โดยรายได้ 13,400 ล้านบาท จะมาจาก
ธุรกิจโรงแรม 63%
ธุรกิจที่อยู่อาศัย 25%
ธุรกิจอาคารสำนักงาน 8%
ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและอื่น ๆ 4%
-ธุรกิจโรงแรม เติบโตอย่างก้าวกระโดดถึงประมาณ 88%
สร้างรายได้แตะ 8,500 ล้านบาท ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้ประกอบการโรงแรมไทยที่มียอดรายได้สูงขึ้นเป็นอันดับที่ 2 อันเป็นผลมาจากกลยุทธ์การทำธุรกิจแบบกระจายความเสี่ยง (Well-diversified portfolio)
ผ่านการมีโรงแรมในเครือที่ตั้งอยู่ในจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก
โดยเฉพาะพอร์ตในสหราชอาณาจักรและมัลดีฟส์ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวเร็วที่สุดของโลก
ทั้งนี้ ธุรกิจโรงแรมยังมีโอกาสเติบโตได้อีก หากภาคการท่องเที่ยวและโรงแรมในไทย สามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้นในช่วงท้ายของปี 2565
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาโครงการโรงแรมในเครือที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง
เพิ่มรูปแบบการให้บริการเพื่อกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย เช่น การเพิ่มห้องพักแบบพูลวิลล่าในรีสอร์ตที่ประเทศมัลดีฟส์ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าตะวันออกกลาง
ตลอดจนการปรับสมดุลพอร์ตผ่านกลยุทธ์หมุนเวียนและต่อยอดการลงทุน (Asset Rotation) ที่จะยกระดับการให้บริการรวมถึงอัตราราคาห้องพักเฉลี่ยต่อวันสูงขึ้นได้ราว 10-20%
ซึ่งคาดว่าโรงแรมในเครือที่มีการปรับปรุงใหม่แล้วเสร็จ จะสามารถสร้างผลกำไรที่เพิ่มขึ้นได้ถึงกว่า 40%
-ธุรกิจที่อยู่อาศัย ตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้น 50% ในปีนี้
จากการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดพร้อมอยู่ 2 โครงการได้แก่โครงการ ดิ เอส แอท สิงห์ คอมเพล็กซ์ (The ESSE at Singha Complex) และ ดิ เอส อโศก (The ESSE Asoke) รวมไปถึงโครงการบ้านแนวราบ "สันติบุรี เดอะ เรสซิเดนเซส" ซึ่งมีมูลค่า Backlog อยู่ที่ 2,600 ล้านบาท โดยคาดว่าจะรับรู้รายได้ 70% ในปีนี้
นอกจากนี้ ยังมีแผนเปิดโครงการแนวราบเพิ่มอีก 1 โครงการ ในทำเลพัฒนาการในช่วงครึ่งหลังของปีมูลค่า 2,900 ล้านบาท โดยจะสามารถรับรู้รายได้ทันในปี 2565 นี้
-ธุรกิจอาคารสำนักงาน กลางปีนี้จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของโครงการ เอส โอเอซิส (S OASIS) ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานพร้อมพื้นที่รีเทลแห่งใหม่ล่าสุดย่านลาดพร้าว ด้วยพื้นที่รวม 55,700 ตารางเมตร
ซึ่งบริษัทฯ ตั้งเป้าว่าจะมีอัตราการเช่าพื้นที่ (Occupancy rate) ราว 50% ณ ปีที่เปิดให้บริการ
รวมถึงการกลับมาเปิดตัวอีกครั้งของโครงการ เอส เมโทร (S METRO) อาคารสำนักงานหรูย่านพร้อมพงษ์
-ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ในปี 2565 มีความพร้อมในการรับรู้รายได้จากการขายและโอนที่ดินเป็นปีแรก
หลังจากที่ได้มีการเข้าไปลงทุนและปรับพื้นที่ และก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานไปแล้วในปี 2564
ทั้งนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าโอนที่ดินในปีนี้ราว 15% ของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมซึ่งมีพื้นที่ขายรวมราว 992 ไร่
-สร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน ผ่านการร่วมทุนและกองทุน REIT
ที่ผ่านมา สิงห์ เอสเตท ได้มีการประกาศความร่วมมือกับพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ เพื่อขยายศักยภาพในการลงทุนและการพัฒนาโครงการในทุกพอร์ตธุรกิจ อาทิ การร่วมทุนกับฮ่องกง แลนด์ เพื่อขยายฐานลูกค้าต่างชาติ
และพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมระดับอัลติเมทลักชัวรี อย่าง ดิ เอส สุขุมวิท 36 (THE ESSE SUKHUMVIT 36) มูลค่ากว่า 5,900 ล้านบาท
การร่วมทุนกับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ อย่าง วาย อีโค เวิลด์ ดีเวลลอปเปอร์ จำกัด (WEWD) เพื่อพัฒนาโครงการรีสอร์ตแห่งใหม่พร้อมวิลล่าหรู 80 หลัง “โซ/ มัลดีฟส์” (SO/ MALDIVES) ที่จะเติมเต็มรีสอร์ตชั้นนำอีกสองแห่ง
สนับสนุนให้โครงการ “ครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์” (CROSSROADS MALDIVES) ตอบโจทย์ลูกค้าที่หลากหลายได้ในทุกช่วงราคา
นอกจากนี้ สิงห์ เอสเตท ยังวางแผนให้เช่าระยะยาวอาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกระดับพรีเมียมของบริษัท 3 อาคาร ประกอบด้วย สิงห์ คอมเพล็กซ์ เอส เมโทร และพื้นที่ค้าปลีก ซันทาวเวอร์ส แก่กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เอส ไพรม์ โกรท (“SPRIME”)
เพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธ์บริหารจัดการพอร์ตโฟลิโอของบริษัทฯ ที่จะมีการ Recycle capital สร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน
รองรับการขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และจะดันให้ SPRIME ขึ้นแท่นเบอร์ 1 กองทรัสต์ประเภทอาคารสำนักงาน
ช่วงปลายปี 2564 สิงห์ เอสเตท ได้เข้าลงทุนในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน โดยถือหุ้น 30% ในบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (อ่างทอง) 1 จำกัด ซึ่งดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าประเภทพลังความร้อนร่วม ด้วยกำลังผลิต 123 เมกะวัตต์
และปี 2565 นี้ บริษัทฯ จะสามารถรับรู้ผลประกอบการของโรงไฟฟ้าเต็มปีเป็นครั้งแรก
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมลงทุนกับ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (อ่างทอง) 2 จำกัด และ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (อ่างทอง) 3 จำกัด เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมอีก 2 แห่ง ด้วยกำลังการผลิตรวม 280 เมกะวัตต์
ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้งสองโรงจะสามารถดำเนินการจ่ายไฟฟ้าได้ในปี 2566
-ขยายธุรกิจตอบโจทย์ความต้องการของตลาดผ่านอินเทอร์นัลซินเนอร์จี และพันธมิตรทางธุรกิจ
นางฐิติมา ยังได้เผยถึงวิสัยทัศน์และทิศทางการดำเนินธุรกิจของ สิงห์ เอสเตท ใน 5 ปีนี้
โดยพุ่งเป้าไปที่การสร้างซินเนอร์จีใน 4 กลุ่มธุรกิจ เชื่อมโยงสู่โอกาสและการต่อยอดทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อความแข็งแกร่งให้กับพอร์ตโฟลิโอของบริษัทฯ และตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในปัจจุบัน
"เพื่อให้ สิงห์ เอสเตท สามารถก้าวไปเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับแถวหน้าของประเทศไทย ที่ผนึกกำลังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร และธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง
เราจึงได้ทำการศึกษาเทรนด์ด้านธุรกิจและวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป หลังจากที่เราอยู่กับยุคนิวนอร์มอลมากว่าสองปี และมองเห็นโอกาสและการสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะทำให้เราสามารถเสริมศักยภาพให้กับพอร์ตธุรกิจของเราในอนาคต
ขณะเดียวกัน เราจะใช้ประโยชน์จาก 4 กลุ่มธุรกิจในการสร้างให้เกิดธุรกิจร่วมเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับพอร์ตของเรา และการเติบโตในครั้งนี้ เราจะไม่เดินคนเดียว การทำงานกับพันธมิตรในธุรกิจร่วมทุนทำให้เห็นถึงผลสำเร็จแบบวงกว้าง
เราจึงกำลังอยู่ในระหว่างมองหาโอกาสในการร่วมมือกับพันธมิตรแขนงต่าง ๆ เพื่อให้เราสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และเสริมสร้างความแตกต่างที่ดีที่สุดให้กับบริษัทฯ ได้
โดยคาดว่าความพยายามดังกล่าว จะผลักดันให้เราสามารถขยายการเติบโตทางธุรกิจภายใน 5 ปีข้างหน้าเฉลี่ย 25% ต่อปี"
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.