ทำไม เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากเท่าไร การตลาดยิ่งท้าทายขึ้นเท่านั้น

ทำไม เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากเท่าไร การตลาดยิ่งท้าทายขึ้นเท่านั้น

16 เม.ย. 2022
ปัญญาประดิษฐ์, หุ่นยนต์ผู้ช่วย, Metaverse, ไอดอลเสมือน, รถยนต์ไร้คนขับ, อุปกรณ์ IoT และเทคโนโลยีอีกมากมาย
สิ่งเหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะมาเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกเท่านั้น
แต่มันยังเป็นสิ่งที่เข้ามากระตุ้นวงการการตลาด
ให้ยิ่งต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา..
หากพูดถึงเรื่องการตลาดเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว
เราคงจะได้เห็น “การตลาดมหาชน” ที่เน้นออกช่อง TV มวลชน
หรืออิเวนต์การตลาดที่เน้นเปิดตัวในคอนเซปต์ “แปลก ใหม่ ใหญ่ ดัง”
ที่เป็นท่าไม้ตายในการจัดอิเวนต์รูปแบบดั้งเดิม
แต่พอมาสมัยนี้ การเล่นใหญ่ กลับไม่ได้คอนเฟิร์มความสำเร็จอีกต่อไป
เพราะไม่ใช่แค่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยน ที่ไม่ได้ชอบหรืออินกับอะไรเดิม ๆ อีกแล้ว
แต่ยังรวมไปถึงเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญในรอบทศวรรษ ก็คือช่วงที่ “โซเชียลมีเดีย” อย่างเช่น Facebook และสมาร์ตโฟน เริ่มเข้ามาเป็นที่นิยมในประเทศไทย เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว
ทว่าในตอนนั้น จำนวนแทรฟฟิก หรือจำนวนผู้ใช้งานบนโลกโซเชียลมีเดีย ก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้นักการตลาด ไปทุ่มความสำคัญที่ตรงนั้น
ประกอบกับในยุคนั้น การแข่งขันทางธุรกิจยังไม่ได้สูงหรือซับซ้อนเหมือนในทุกวันนี้
ทำให้การตลาดตอนนั้น ยังเป็นแบบ One Campaign Fits All
ที่ออกแคมเปญใหญ่มา 1 ครั้ง ก็ทำการตลาดได้เป็นเดือน ๆ หรืออาจลากยาวได้เป็นปี
โดยเวลานั้น การทำการตลาดออนไลน์ถือเป็นเพียง “ทางเลือก” สำหรับธุรกิจ ที่ต้องการจะเอาแบรนด์เข้าไปใกล้ชิดกับพื้นที่ของคนรุ่นใหม่
แต่ต่อมา เหล่าบริษัทห้างร้าน ก็เริ่มเปลี่ยนจากการค้าขายในตลาดออฟไลน์
โยกย้ายขึ้นไปบนออนไลน์มากขึ้นทุก ๆ วัน
เนื่องจากช่องทางออนไลน์นั้นกว้างมาก จากเมื่อก่อนที่ขายของที่ตลาด อาจขายให้คนที่มาเดินตลาด ได้หลักร้อยหรือพันคน แต่พอเป็นโลกออนไลน์ มีคนเป็นล้าน ๆ อยู่บนแพลตฟอร์ม
คำถามคือ จะทำอย่างไรให้กลุ่มเป้าหมายรู้ถึงการมีอยู่ของเรา ?
ทำอย่างไรให้ร้านเรา สะดุดตากว่าคู่แข่งที่มาจากทั่วประเทศ รวมถึงจากต่างประเทศ ?
นี่คือความท้าทายของนักการตลาด ที่ไม่สามารถทำแค่พรินต์โปสเตอร์แผ่นใหญ่ ๆ ติดกลางสี่แยกอโศก
แล้วหวังว่าคนผ่านไปมา จะมองเห็น และจดจำแบรนด์ของเราได้
หรือพูดง่าย ๆ คือ การตลาดมวลชน (Mass Marketing) อาจไม่เวิร์ก เท่าเมื่อก่อนแล้ว..
อย่างบน Facebook ยุคแรก ๆ ทุกคนมีขนาดเฟรมภาพเท่ากันหมด
ทำให้นักการตลาด ต้องมีหัวศิลป์ในการทำภาพให้ดูโดดเด่น และตรงใจกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด
หรือบ้างก็จ้างกราฟิก เพื่อออกแบบงานบนโซเชียลมีเดีย ร่วมกับนักการตลาดไปเลย
แล้วคอมมิวนิตีรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า “โซเชียลมีเดีย” ก็เพิ่มความนิยมเรื่อยมา
ตามเทคโนโลยี และอินเทอร์เน็ต ที่เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้นทุกวัน
ยิ่งพอมีอีกตัวกระตุ้นชั้นดีอย่างโควิด 19 ที่ทำให้คนออกจากบ้านไม่ได้
ยิ่งทำให้การขายของบนโลกออนไลน์ ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด..
ตามคำพูดที่ว่า “ที่ไหนมีคนอยู่.. ที่นั่นย่อมมีโอกาสทางการค้า”
ซึ่งธุรกิจหลาย ๆ เจ้า ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการทำการตลาดออนไลน์นั้น เป็นทางรอดจริง ๆ
ในขณะที่ก็มีธุรกิจยุคเก่าจำนวนมาก ที่ต้องจบตำนานธุรกิจไว้ในยุคโควิด 19 เพราะปรับตัวตามไม่ทัน
ทำให้สังคมไทยก้าวเข้าสู่ธุรกิจยุคดิจิทัล ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven) อย่างเต็มรูปแบบ
โดยมีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, Instagram, Twitter, YouTube, TikTok, Blockdit
แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee, Lazada, JD Central
แพลตฟอร์มฟูดดิลิเวอรีอย่าง Grab, LINE MAN, Robinhood
แพลตฟอร์มเทรดคริปโทอย่าง Bitkub, Zipmex, Satang Pro
และอื่น ๆ อีกมากมาย คอยเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล
จนมาถึงตอนนี้ ก็มีตัวกระตุ้นด้านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตยุคใหม่ หรือที่เรียกกันว่า Web 3.0
รวมถึงโลกเสมือน ไอดอลเสมือน และ AI ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเราแล้ว
ซึ่งทำให้นักการตลาดต้อง “เรียนรู้” และ “ปรับตัว” อย่างเลี่ยงไม่ได้
และอีกประเด็นฮอตที่น่าสนใจล่าสุดคือ “Metaverse” บ่อน้ำมันแห่งใหม่ในวงการธุรกิจ
หลังจากที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัท Facebook ไปเป็น Meta เพื่อแสดงถึงวิสัยทัศน์ และความมุ่งมั่นในระยะยาวของบริษัทในการทำโลกเสมือน
เรื่องนี้ทำให้ทั่วโลก เริ่มตระหนักถึงโลกอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า
ผ่านเทคโนโลยีแว่น VR, AR, ถุงมือ และเครื่องแต่งกายสะท้อนความรู้สึกจากโลกดิจิทัล และอุปกรณ์เสริมอีกมากมาย
ซึ่งใน Metaverse ก็จะเปิดให้คนทั่วไป สามารถเข้าไปมีสังคมใหม่ได้ในโลกดิจิทัล และยังสามารถเล่นเกม, เรียน, ทำงาน, สังสรรค์, เล่นกีฬา แม้กระทั่งสร้างบ้าน หรือทำธุรกิจที่ทำเงินได้จริง ๆ
สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ในฐานะนักการตลาด ก็จะต้องทำให้แบรนด์เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าใน Metaverse โดยอาจพยายามให้ลูกค้าเข้ามามี Touch Point หรือจุดรับประสบการณ์ร่วมกับแบรนด์
ตัวอย่างแบรนด์ ที่ออกมาประกาศปักหมุดในโลกเสมือน เช่น Nike, Adidas, Microsoft, Tinder และแบรนด์ไทยอย่าง สิงห์, สยามพิวรรธน์
นี่จึงเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสในโลกยุคใหม่ ที่จะมีพื้นที่ให้นักการตลาดได้ทดลองอะไรสนุก ๆ อีกมาก
เพราะทั้ง 3 พื้นที่ ทั้งทางออฟไลน์ ออนไลน์ และโลกเสมือน
คนที่อยู่ในแต่ละพื้นที่ เป็นลูกค้าต่างวัย มีพฤติกรรม ความชอบ ค่านิยม ลักษณะสังคมที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง
ซึ่งหากพูดในภาพรวม
- Baby Boomer (อายุ 58-76 ปี)
มักจะติดการตลาดแบบออฟไลน์ บางคนอาจมีการใช้โซเชียลมีเดียบ้าง แต่จะไม่คล่อง และไวเหมือนลูกหลาน
- Gen X (อายุ 42-57 ปี) และ Gen Y (อายุ 26-41 ปี)
มักจะติดอยู่บนโลกออนไลน์ เพราะเกิดมาในช่วงวัยทำงานที่มีโซเชียลมีเดียเข้ามาพอดี
แต่ก็มีบางส่วน หรือ Gen X ตอนปลายที่ยังชอบหรือเสพการนำเสนอแบบดั้งเดิมอยู่บ้าง
- Gen Z (อายุ 13-25 ปี) และ Gen Alpha (อายุ 12 ปีลงไป)
เป็น Gen ที่เกิดมาพร้อม ๆ กับเทคโนโลยีและสื่อดิจิทัล จึงเป็น Gen ที่เปิดรับเทคโนโลยี รวมถึงเทรนด์คอมมิวนิตีใหม่ ๆ อย่าง Metaverse ด้วย
เมื่อมีทั้งประเด็นด้านความต่างของอายุ และพื้นที่คอมมิวนิตีที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
อาจทำให้สายงานการตลาดในอนาคต ต้องแตกออกไปเป็นหลายส่วน
เช่น Metaverse Marketing, Social Media Marketing และ Offline Marketing
แต่ทั้งหมด กลับต้องทำงานให้สอดประสานกัน ราวกับว่าทุก ๆ Touch Point ของแบรนด์ ถูกร้อยเรียงเป็นเรื่องเดียวกันที่น่าสนใจ ง่ายต่อการเข้าใจ และเข้าถึง
นอกจากประเด็นเรื่อง Metaverse และโซเชียลมีเดียแล้ว
ในอนาคตเราจะได้เห็นหุ่นยนต์ หรือ AI ผู้ช่วย เป็นเพื่อนรู้ใจที่อยู่ข้างกายมนุษย์เป็นเรื่องปกติ
ซึ่งเราจะสังเกตได้ว่าเทคโนโลยีปัจจุบัน ต่างเข้าไปอำนวยความสะดวกให้ชีวิตคนเราในทุกวันนี้อย่างไร
วันข้างหน้า ก็คงเป็นการอำนวยความสะดวกแบบคูณร้อย
ชนิดที่ว่า AI จัดการแทนมนุษย์ได้เกือบทุกอย่าง ทุกการตัดสินใจ และทุกย่างก้าวของชีวิต
ตั้งแต่งานเล็ก ๆ อย่างการสั่งควบคุมอุปกรณ์ทำความสะอาดอิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้าน ไปจนถึงหน้าที่เลขาฯ ที่คอยเตือนว่าวันนี้มีประชุมกี่โมง สั่งข้าวอะไรกิน หรือแม้กระทั่งพยาบาลส่วนตัวที่จะบอกได้ว่าเรากำลังเครียดเกินไปหรือไม่ ผ่านการอ่านข้อมูลที่แชร์จาก Gadget ที่เราใส่
และที่น่าคิดคือ เมื่อยุค Gen Alpha ที่เติบโตมาพร้อมกับ Metaverse ขึ้นครองตลาดแรงงาน
ก็จะเกิด Gen ถัดไป ที่ผู้บริโภคไม่อาจแยกระหว่างโลกจริง กับ Metaverse ออก
รวมถึงเป็น Gen ที่แยกไม่ออกระหว่างร่างกายจริง ๆ กับนาโนเทคโนโลยี-ไซบอร์ก ที่อยู่ในร่างกายเต็มไปหมด
เด็กรุ่นนั้น อาจมีเพื่อนเป็น AI ได้รับอิทธิพลการตัดสินใจจาก AI
และเชื่อ AI หรือเพื่อนเสมือน มากกว่าคนหรือพ่อแม่จริง ๆ
สิ่งที่น่าสนใจคือ เรื่องนี้อาจจะโค่นแนวคิด “ผู้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ”
และแนวคิดการตลาดแบบยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric)
จริงอยู่ ว่าการยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง คือหัวใจหลักของธุรกิจทุกวันนี้
แต่ในอนาคต ถ้าคนเชื่อใจ AI จนไว้ใจให้ตัดสินใจแทนแม้กระทั่งเรื่องเล็ก ๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ ๆ อย่างการเลือกคู่ชีวิต หรือเส้นทางชีวิตในอนาคต
ก็อาจจะมีทฤษฎีอะไรที่มาแทน Customer Centric หรือไม่ ?
บทสรุปของบทความนี้ คือ ยิ่งเมื่อเทคโนโลยีเดินไปไกลเท่าไร
ก็ยิ่งทำให้การตลาด มีความยาก ซับซ้อน และแขวนอยู่บนความไม่แน่นอนมากขึ้นเท่านั้น
ไม่ว่าจะเป็นตลาดใหม่อย่าง Metaverse
พฤติกรรมคน ที่คาดหวังให้แบรนด์ต้องสนใจสิ่งอื่นมากกว่าตัวกำไร
AI หรือ ผู้ช่วยเสมือน ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ
และอีกมากมาย ที่จะเข้ามาเพิ่มความท้าทายอย่างเลี่ยงไม่ได้ บนโลกธุรกิจและการตลาด..
อ้างอิง:
-หนังสือ Marketing 5.0 ผู้เขียน Philip Kotler
-https://www.rainmaker.in.th/post-facebook-era/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Timeline_of_social_media
-https://www.longtunman.com/35129
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.